ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งการ หรือถูกเรียก จะต้องขึ้นวิทยุตอบรับ “ว.2 เปลี่ยน” ทันที หรือตอบรับว่า “ว.2 ว.0 หาดใหญ่ 1 ว.4 ว.24 นี้”
ความหมายคือ รับทราบคำสั่งของสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่และถือปฏิบัติแต่เวลานี้
และถ้าตำรวจคนใดเรียกผ่านทางวิทยุแล้วไม่ตอบรับ หากเป็นเรื่องราชการสำคัญและเร่งด่วน เกิดความเสียหาย จะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขียนรายงานชี้แจง และถูกลงโทษได้
ดังนั้น วิทยุจะต้องแนบติดตัวเสมอ ห่างไม่ได้เลย แม้เวลานอนยังต้องเอาวิทยุไว้ที่หัวนอนเพื่อฟังด้วย และยังต้องมีถ่านอะไหล่คอยเปลี่ยน เมื่อแบตเตอรี่ก้อนเดิมหมด
คนทั่วไปเมื่ออยู่ใกล้ตำรวจจะรู้สึกรำคาญเสียงพูดวิทยุที่ดังอยู่ตลอดเวลา พูดออกมาเป็นรหัสผสมกับคำพูดทั่วๆ ไป ถ้าไม่รู้รหัส ก็ฟังไม่เข้าใจ
พนักงานวิทยุจะนั่งทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์รวมข่าว หรือศูนย์วิทยุ หรือศูนย์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่สุดสาย 3 หรือถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 คนละแห่งกับที่ตั้งของโรงพักหาดใหญ่
ที่จำชื่อได้มี ด.ต.พล, ด.ต.ชูชีพ, ด.ต.ชิต สลับกันเข้าเวร แต่ละคนมีสไตล์การพูดที่แตกต่างกัน เป็นลักษณะเฉพาะตัว
หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างของภาคใต้ในเวลานั้น ผู้บังคับบัญชาตำรวจสูงสุดของภาคใต้ก็อยู่แค่จมูกที่สงขลา พนักงานวิทยุจึงสำคัญมาก ทุกคนทำหน้าที่ได้ดีมาก รู้จักพื้นที่ทุกตรอกซอกซอย จดจำตัวบุคคลและนามเรียกขานได้แม่นยำ
การสั่งการทำได้อย่างคล่องแคล่ว ฉับพลันทันต่อทุกสถานการณ์ ไม่สะดุด หรือเกิดความเสียหายใดๆ
ทุกคนช่ำชองมีประสบการณ์มากมาย เป็นแบบอย่างและมาตรฐานในการพูดวิทยุ สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดียิ่ง
ทุกคนหากไล่ไปตามลีลาการพูด จะมีตั้งแต่มาตรฐานแบบดุดันเสียงใหญ่ฟังแล้วน่าเกรงขาม อย่าง ด.ต.ชิต
มาตรฐานแบบกลางๆ ต้องเป็น ด.ต.ชูชีพ
แต่ถ้าเป็นคนนี้ ด.ต.พล นุ่มนวลหวานกลมกล่อม ได้ทั้งอรรถรสและลีลา
เมื่อมีขบวนสำคัญเข้ามา พนักงานวิทยุจะสั่งการผ่านสัญญาณเรียกขานตำรวจจราจร ให้ไปประจำจุดตามทางร่วมทางแยก เหมือนสั่งการด้วยคอมพิวเตอร์
คนได้รับคำสั่งเข้าใจและปฏิบัติได้ทันที ไล่ไปตามถนนตั้งแต่ต้นจนถึงท้าย ไม่ข้ามไปข้ามมา ไม่สับสน ไม่ลังเลสั่งผิดสั่งถูก
เมื่อมีเหตุการณ์ต้องสกัดไล่ล่าคนร้ายที่เกิดคดีขึ้นมา หรือมีเหตุรถชนแล้วหลบหนี พนักงานวิทยุจะมองเห็นถนนตรอกซอกซอย อาคารร้านค้า ผุดขึ้นมา หนทางนี้จะทะลุไปได้ที่ไหน จะดักช่องทางหนีทีไล่อย่างไร เห็นภาพหาดใหญ่ทั้งหมด จะให้สายตรวจรถยนต์คันไหน สายตรวจรถจักรยานยนต์ และตำรวจจราจร ไปสกัดจุดไหน ที่จะทำให้จับคนร้ายได้ จนไม่สามารถเล็ดลอดหลบหนีไปได้
หรือเมื่อรับแจ้งเหตุช้า ทำให้คนร้ายหลบหนีออกนอกเมืองไปแล้ว จะสั่งสายตรวจตำบลติดตามไล่ล่าต่ออย่างไร พรรณนารูปร่างลักษณะการแต่งกายและยานพาหนะสั้นๆ แต่เข้าใจ
ผมยอมรับในความสามารถของพนักงานวิทยุของตำรวจหาดใหญ่
เดือนมีนาคม 2530
เพราะห้องพักแฟลตตำรวจของโรงพักหาดใหญ่เต็มและไม่มีห้องว่างตั้งแต่ผมย้ายมาถึง ผมกับ ร.ต.ท.ภูมรินทร์ ประชาญสิทธิ์ รอง สวป.สภ.หาดใหญ่ จึงต้องไปอยู่บ้านเช่า และต่อมาย้ายมาอยู่หลังเดียวกัน และอยู่ด้วยกันหลายปี จนย้ายออกจากหาดใหญ่พร้อมกัน
เมื่อผมมาอยู่กับภูมรินทร์ ทำให้ผมได้สนิทสนมใกล้ชิดกับพี่น้องชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นบังโหด หรือนายดาโหด บิลล่าเต๊ะ เจ้าของแพปลาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บังหมาน บิลล่าเต๊ะ และภรรยา หรือพี่ไหว น้องสาวของบังโหด ซึ่งอยู่หาดใหญ่ กับบังดล
และรู้จักต่อเนื่องไปจนถึงท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล มีบ้านอยู่ที่หัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา และท่านได้เป็นจุฬาราชมนตรีในภายหลัง
ภูมรินทร์รู้จักมาก่อนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และนับเนื่องไปถึงญาติพี่น้องอีกจำนวนมากที่ได้มีความเคารพนับถือต่อกัน
จันทร์ 15 มิถุนายน 2530
ตอนเช้าอยู่จุดตรวจอาวุธหน้าสวนสาธารณะจนเที่ยง
สำหรับการไปทำหน้าที่จุดตรวจอาวุธทั้ง 3 แห่งของตำรวจ สภ.อ.หาดใหญ่ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง เวลามีการประชุมกันก็จะย้ำเตือนให้ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลพื้นที่และให้ประชาชนปลอดภัย
แต่เบื้องหลังการทำหน้าที่นั้น มีอุปสรรคและปัญหาในการปฏิบัติมากมาย
หลายคนบอกไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องยากเลย ถ้าผมพูดถึงปัญหาในเวลานั้นผมจะพูดไม่ได้เด็ดขาดในที่สาธารณะ จนมาถึงวันนี้ ควรที่จะนำมาบอกเล่ากันได้แล้ว เป็นเรื่องเล็กนิดเดียวแต่กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต กระทบการทำงานของพนักงานสอบสวนของจังหวัดสงขลาเกือบทั้งจังหวัดทีเดียว
ร.ต.ท.ภูมรินทร์ ประชาญสิทธิ์ รอง สวป.สภ.อ.หาดใหญ่ ไปเข้าเวรจุดตรวจที่หน้าสวนสาธารณะหาดใหญ่ ถนนกาญจนวนิช ที่ ต.คอหงส์ มีชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยตามปกติเหมือนๆ กับทุกผลัดที่ผ่านๆ มา และรถทุกคันที่ผ่านเข้ามาในหาดใหญ่จะต้องถูกตรวจค้น
ถ้านำอาวุธปืนติดตัวมาจะต้องฝากไว้ที่จุดตรวจ จะมีสมุดบันทึกเป็นบัญชีลงรายการรับฝากไว้ และมีตู้เหล็กพร้อมกุญแจล็อก เก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเอาไว้อย่างดี
จุดตรวจทั้ง 3 แห่งจะทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันทุกเดือน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
รถทุกคันถูกตรวจค้นผ่านมาเนิ่นนาน ยังไม่มีปัญหาอะไร
จนกระทั่งมีรถคันหนึ่งผ่านมา และมีอาวุธปืน จึงถูกตรวจค้นพบ แต่ชายที่เดินทางมากับรถแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถของตนเอง แต่ที่สุดก็ยินยอมให้ชายคนนี้นำอาวุธปืนผ่านเข้าไปได้
เรื่องควรจะจบเพียงเท่านี้ แต่กลับไม่จบเพราะปรากฏว่า ในชั่วระยะเวลาต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.หาดใหญ่ ไปยื่นคำร้องขอผลัดฟ้อง และขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ซึ่งปกติผู้พิพากษาจะอนุญาตให้ผลัดฟ้องในคดีศาลแขวงได้ผลัดละ 3 วัน และอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวนที่ยังสอบสวนไม่เสร็จครั้งละ 12 วันตามกฎหมาย
แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ที่ศาลจังหวัดสงขลาและศาลแขวง ผู้พิพากษาเวร อนุญาตให้แค่ 2 วันทุกคำร้องทุกคดี และไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันเดียว แต่กลับกลายเป็นเรื่องปกติ จนพนักงานสอบสวนไม่เป็นอันต้องทำงานอะไรกันแล้ว พิมพ์แต่คำร้องแล้ววิ่งไปที่ศาลเพื่อขอยื่นคำร้องผลัดฟ้องฝากขังเกือบจะทุกวัน
จึงมีการสอบถามว่าเป็นเพราะอะไร ตำรวจคนไหนไปทำให้ผู้พิพากษาไม่พอใจและโกรธ จนมีผลทำให้พนักงานสอบสวนเดือดร้อนกันทั่วหน้า
เรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้ จึงถูกขยายและผมเองก็ไม่รู้มาก่อน เพราะภูมรินทร์ แม้จะพักอยู่ที่เดียวกันก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง
เมื่อเป็นเรื่องขึ้นมา เรื่องนั้นจึงทราบกันทั่วทั้งจังหวัดสงขลา เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจหน้าสวนสาธารณะหาดใหญ่ ผลัดที่ ร.ต.ท.ภูมรินทร์ไปตรวจค้นเจออาวุธปืน และชายคนนั้นเป็นผู้พิพากษาของศาลจังหวัดสงขลา
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้นแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่รู้จักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ จึงต้องมีบทลงโทษให้หลาบจำ และผู้พิพากษาก็ใช้หน้าที่ของตัวเองลงโทษแบบเบาะๆ ด้วยการลดวันอนุญาตผลัดฟ้อง ฝากขังผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนเสีย
เมื่อพนักงานสอบสวนทุกคนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งถือเป็นความทุกข์ที่ได้รับกันทั่วหน้า แล้วลามไปจนถึงผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และหนทางที่จะเยียวยาแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายย่ำแย่ต่อพนักงานสอบสวนมีเพียงสถานเดียว คือให้ ร.ต.ท.ภูมรินทร์ ประชาญสิทธิ์ รอง สวป.สภ.อ.หาดใหญ่ ไปกราบขอขมาต่อผู้พิพากษาท่านนั้น
และเมื่อแก้ไขตรงจุด ตามความปรารถนา ทุกๆ อย่างก็กลับมาปกติเหมือนเดิม
เรื่องในอดีตเหล่านี้ ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักตำรวจหรือใกล้ชิดกับพนักงานสอบสวน แทบจะไม่มีโอกาสได้รับรู้
สภาพลักษณะพฤติกรรมของข้าราชการแต่ละองค์กร ก็จะเป็นอาณาจักรใครอาณาจักรมัน อย่าล้ำเส้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ศาล อัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ศุลกากร สรรพสามิต สรรพากร แทบจะทุกๆ หน่วยงาน จะมีฤทธิ์ของตัวเอง
เมื่อไปแตะแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่ดูทิศทางลม จะถูกฤทธิ์ของพิษที่แต่ละหน่วยมีเล่นงาน ถ้าภูมิต้านทานมีน้อย หมดอนาคตเอาง่ายๆ
เป็นตำรวจจงจำไว้ ไม่มีใครใหญ่คับฟ้า ถึงแม้จะทำตัวเล็กลีบแล้ว ก็ยังจะมีคนมาบี้ให้แบนอีกจนได้
และจงอย่าสักแต่ว่าทำตามหน้าที่ เพราะคำที่ใช้บ่อยที่สุด คือคำว่า “ยกเว้น” หรือ “เว้นแต่”
คือ ทำตามกฎหมายได้ ยกเว้น…infinity ไม่มีที่สิ้นสุด
มาตรฐานแบบประเทศไทย แต่ไม่ใช่มาตรฐานแบบสากล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022