ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (41)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ควง อภัยวงศ์ ขอให้อังกฤษ
ส่งตัวนายปรีดี พนมยงค์

การลี้ภัยไปต่างประเทศของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการอำนวยความสะดวกทั้งจากสถานทูตอังกฤษและอเมริกาจนสามารถเล็ดลอดเดินทางไปถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

อังกฤษได้ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ว่าที่อังกฤษและอเมริกาตกลงให้ความสะดวกแก่นายปรีดี พนมยงค์ หลบหนีออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ก็ด้วยความประสงค์ที่จะช่วยให้สถานการณ์ภายในประเทศบรรเทาความรุนแรงลงและป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด

ขณะที่ฝ่ายผู้นำคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะจอมพล ป.พิบูลสงคราม แสดงท่าทีในชั้นต้นต่อสารธาณชนอย่างชัดเจนว่าจะไม่ติดตามไล่ล่านายปรีดี พนมยงค์ แม้จะไม่สามารถสรุปได้ว่ามาจากความจริงใจหรือไม่ แต่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ กลับแสดงท่าทีตรงข้ามอย่างชัดเจน โดยขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่สิงคโปร์นั้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ติดต่อผ่านช่องทางการทูตให้อังกฤษส่งตัวนายปรีดี พนมยงค์ และพวกให้แก่รัฐบาลไทยในข้อหาฉกรรจ์ว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตของ ร.8 แต่อังกฤษมิได้ดำเนินการตามที่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ร้องขอแต่อย่างใด

จนกระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางออกจากสิงคโปร์ไปฮ่องกงและขอลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศจีนในเวลาต่อมา

 

พระองค์เจ้าธานี นิวัต
“ความมืดมิดหายไป”

เมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว คณะรัฐประหารได้ดำเนินการอย่างรีบเร่งให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร

ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ บุตรเขยหลวงกาจสงครามนำหลวงกาจสงคราม และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร พร้อมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2490 ไปเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการที่วังถนนวิทยุเมื่อเวลา 01.00 น.ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พระองค์ทรงลงพระนามเพียงพระองค์เดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่ยอมร่วมลงนาม ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 นั่นเอง

โดยมีคำอธิบายดังนี้

“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ตราไว้และได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 และได้มาเปลี่ยนแปลงแก้ไขประกาศใช้เป็นฉบับใหม่เมื่อ พ.ศ.2489 นั้น นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศชาติในกาลสมัยที่ล่วงแล้วมา

บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตกาล ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบากเดือดร้อนเพราะขาดอาหาร ขาดเครื่องนุ่งห่ม และขาดแคลนสิ่งอื่นๆ นานัปการ เครื่องบริโภคและอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาแต่กาลก่อนขึ้นในประชาชน

บรรดาผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเข้าสู่ภาวะอย่างเดิมได้ การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภาเพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ประสบผลดีเลยแม้แต่น้อย เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่าจะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้

ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้พร้อมด้วยทหารของชาติได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

 

ยังมีสัญญาณที่น่าสนใจจากพระองค์เจ้าธานีนิวัต เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ทรงบันทึกให้ความเห็นถึงรัฐประหารครั้งนี้ว่า “เมืองไทยเปลี่ยนฉาก แสงเงินแสงทอง ความมืดมิดหายไป แสงสว่างกลับมา”

จากนั้นคณะรัฐประหารได้ส่ง ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้แทนเดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงทราบที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้ทรงส่งพระราชหัตถเลขาจากเมืองโลซานน์ถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความว่า

“โลซานน์
25 พฤศจิกายน 2490
ถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ฉันได้รับหนังสือลงวันที่ 14 เดือนนี้ ทราบความตลอดแล้ว เมื่อเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นเช่นนี้ ก็มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนพลเมืองที่รักของฉัน ซึ่งฉันได้เป็นห่วงในความทุกข์สุขของเขาอยู่เสมอมา คงจะได้บรรเทาและปลดเปลื้องความลำบากยากแค้นต่างๆ ลงไปจนหมดสิ้น และมีความสุขสบายตามสมควรของเขา

ฉันรู้สึกพอใจยิ่งนักที่ทราบว่า เหตุการณ์ที่ได้บังเกิดขึ้นนี้มิได้เสียเลือดเนื้อ และชีวิตคนไทยด้วยกันเลย อนึ่ง ที่ได้บอกมาว่าทุกๆ คนที่ได้ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ได้ตกลงแน่วแน่ว่าไม่ต้องการช่วงชิงอำนาจหาความดีใส่ตนเองเลย มีจุดประสงค์เพียงแต่จะให้รัฐบาลใหม่ที่เข้มแข็งได้เข้ามาบริหาราชการ ทำนุบำรุงประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและปลดเปลื้องความทุกข์ยากที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในบัดนี้ให้บรรเทาเบาบางลง ให้ประชาชนได้รับความสงบสุขร่มเย็นตามสมควรแก่สภาพ และให้ประเทศชาติได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญ ฯลฯ นั้น ก็เป็นการแสดงให้เห็นในอุดมคติอันดียิ่ง และเป็นความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติโดยแท้จริง เมื่อได้ยึดถืออุดมคติดังกล่าวนี้นำมาปฏิบัติ นอกจากจะปรากฏเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังมีเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอีกด้วย ขอให้ทุกๆ ฝ่ายจงช่วยกัน ร่วมมือประสานงานด้วยดี เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติที่รักของเรา จะเป็นความพอใจสูงสุดของฉัน

การที่ขอให้ฉันกลับเข้าเมืองไทย ในโอกาสที่ฉันได้บรรลุนิติภาวะ ณ วันที่ 5 ธันวาคมศกนี้นั้น ฉันขอขอบใจมาด้วย นอกจากเวลาจะได้กระชั้นชิดจนเกินไปแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ฉันเข้าไปไม่ได้ ฉันได้สั่งให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ไปแจ้งให้เข้าใจโดยละเอียดแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ฉันมีความประสงค์จะกลับเข้ากรุงเทพฯ ชั่วคราว เพื่อถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศในมีนาคมหน้านี้ ตามที่ได้กะกันไว้ ในขณะที่อยู่กรุงเทพฯ ชั่วคราวนี้ ฉันหวังว่าจะได้ช่วยทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ได้บ้างไม่มากก็น้อย

(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช”

(สถาบันพระปกเกล้า “รัฐประหาร พ.ศ.2490” ผู้เรียบเรียง ณัฐพล ใจจริง)

 

ชัยชนะของอำนาจเก่า

สถาบันพระปกเกล้าระบุไว้ในบทความ “รัฐประหาร พ.ศ.2490” ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ พระยารักตประจิตธรรมจำรัส พ.อ.สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์ ร.อ.ประเสริฐ สุดบรรทัด นายเลื่อน พงษ์โสภณ และนายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ ขณะที่หลวงกาจสงครามได้กล่าวว่าตนเป็นผู้ประสานงานแล้วไปซุกซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำเพื่อความปลอดภัย และได้ยืนยันสาระสำคัญว่าได้เพิ่มอำนาจบริหารให้แก่พระมหากษัตริย์มากขึ้น

สถาบันพระปกเกล้ามีความเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกร่างขึ้นจากฝ่ายคณะรัฐประหารกับฝ่ายอนุรักษนิยมก็ตาม แต่แนวความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมมีอิทธิพลมากกว่า สาระสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงหลักการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ที่ “จำกัด” อำนาจพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก” เช่น ถวายอำนาจให้ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีและมีพระราชอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรีโดยให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งอภิรัฐมนตรีก็แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการเพิกถอนรัฐมนตรีได้ด้วยพระบรมราชโองการ อีกทั้งยังทรงมีพระราชอำนาจในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการตราพระราชบัญญัติในกรณีฉุกเฉินและกรณีการเงิน เป็นต้น

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มากขึ้นจริง และมีการรื้อฟื้นองค์กรทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา เช่น อภิรัฐมนตรี เป็นต้น

สถาบันพระปกเกล้ายังเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและคณะรัฐประหาร” ทำให้อำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรได้เริ่มเสื่อมคลายลง อำนาจพระมหากษัตริย์มีมากขึ้น ส่วนคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารครั้งนี้ยังประกอบขึ้นจากพระราชวงศ์และขุนนางเก่าเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังการปฏิวัติ 2475

พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ทรงเรียกบรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหารว่าเป็น “วันใหม่ของชาติ” แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้ม ได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ว่า “เป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง อำนาจสิทธิ์ขาดไปอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อย่างนี้คุณเรียกได้หรือว่าประชาธิปไตย”

สอดคล้องกับความเห็นของนายเอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งเห็นว่า การรัฐประหารขับไล่รัฐบาลและสาระในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2490 ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการหมุนเวลาถอยหลัง (set back the hands of the clock)

สถาบันพระปกเกล้าสรุปว่า “ระบอบการปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังการรัฐประหารครั้งนี้จึงเริ่มบิดผันไปจากเจตนารมณ์ของคณะราษฎรครั้งก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

ภายหลังการรัฐประหาร กลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ หมดอำนาจลงโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ฝ่ายอำนาจเก่าและทหารกลับมามีอำนาจ รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองความสงบสุข พ.ศ.2490 ให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การจับกุมบุคคลสำคัญในรัฐบาลและรัฐสภาในชุดก่อนการรัฐประหารซึ่งอยู่ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ นอกจากเพื่อ “เอาใจ” คณะรัฐประหารแล้วยังเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลที่เป็นตัวแทนฝ่ายอำนาจเก่าอีกด้วย

รัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มการฟื้นตัวของฝ่ายอำนาจเก่า และการถอยร่นของคณะราษฎร