ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
จริยธรรมทางการเมือง
: 5) นักการเมืองอาชีพ
วิชาชีพการเมืองกับนักการเมืองอาชีพ
แมกซ์ เวเบอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำบรรยาย “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” (1919) ว่าต่างจากผู้นำจากภูมิหลังอาชีพอื่นๆ ที่แพ้สงคราม บรรดาผู้นำสามประเทศฝ่ายพันธมิตรที่รบชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งล้วนเป็นนักการเมืองอาชีพทั้งสิ้น (ดูภาพประกอบ)
ข้อสำคัญเพราะพวกเขาได้ยืนหยัดผ่านกระบวนการทดสอบของการเมืองแบบแพ้คัดออกที่ฝึกฝนหล่อหลอม ให้รู้จักสรุปบทเรียนเมื่อเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้แล้วลุกขึ้นต่อสู้ใหม่ต่อไปมาโดยตลอด
การเมืองของรัฐสมัยใหม่ที่ไม่นิ่งแต่คาดการณ์ได้โดยธรรมชาติจึงควรเป็นธุระของนักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่มือสมัครเล่นจากพื้นเพนักวิชาการ ทหารหรือประมุขรัฐ
(อนึ่ง เวเบอร์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในบรรดาอาชีพอื่นทั้งหลาย นักกฎหมายกับนักหนังสือพิมพ์น่าจะเข้าสู่วิถีอาชีพนักการเมืองได้ดีกว่า ค่าที่คุ้นเคยกับการเดินไปด้นไปตามสถานการณ์ที่ไม่นิ่งเก่ง)
ข้อสรุปต่อการเมืองของเวเบอร์ข้างต้นนี้ไม่ได้อาศัยเพียงการสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตเท่านั้น หากอิงฐานการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเปรียบเทียบของบรรดารัฐตะวันตกสมัยใหม่ในเชิงปฏิบัติย้อนหลัง รวมเลยไปถึงหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนก่อนหน้าเขา ว่ารัฐสมัยใหม่ทั้งหลายซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดนั้นทำงานอย่างไร โดยเฉพาะรัฐบริเตนซึ่งเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสูงสุด โดยที่เนื้อหาส่วนนี้กินเนื้อที่เกือบสองในสามของคำบรรยาย
สิ่งที่เวเบอร์ค้นพบคือได้เกิดกระบวนการทำให้การเมืองเป็นแบบวิชาชีพ (the professionalization of politics) ในรัฐเหล่านั้นซึ่งเป็นเวทีและเบ้าหลอมฝึกฝนอบรมวิทยายุทธ์ทางการเมืองให้แก่เหล่านักการเมืองอาชีพ เปรียบเสมือนสำนักวิชาหรือมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนฝึกวิชาชีพให้แก่พวกเขา
และท่ามกลางเหล่าสถาบันการเมืองการปกครองที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น อาทิ การเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง สภานิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการด้านต่างๆ รัฐบาล การบริหารหน่วยราชการกระทรวงทบวงกรม ฯลฯ ปรากฏว่า สถาบันการเมืองสมัยใหม่ที่สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียวได้แก่พรรคการเมือง
ในรัฐสมัยใหม่ การเมืองได้กลายเป็นเรื่องพรรคไปแล้ว และพรรคการเมืองทั้งหลายก็คือสิ่งที่เวเบอร์เปรียบเป็นเครื่องจักร (machine) นั่นเอง ดังที่เรียกขานกันว่าเครื่องจักรพรรค (the party machine) ในสหรัฐอเมริกา
ค่าที่เครื่องจักรพรรคนั้นดำเนินงานอย่างเหี้ยมเกรียม ไม่อินังขับขอบกับข้อคำนึงทางศีลธรรมจริยธรรม ถือเป็นเหมือนธุรกิจสายงานหนึ่งและจ้างวานผู้คนจำนวนมากให้มาทำภาระหน้าที่ซึ่งมักมองกันว่าค่อนข้างสกปรกโสโครกหรือเป็นกลไก
โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายกว้างออกไปในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด รับฟังรวบรวมหาทางแก้ไขบรรเทาข้อทุกข์ยากเดือดร้อน ช่วยเหลือจุนเจืออุปถัมภ์ แจกจ่ายผลประโยชน์โครงการงบประมาณสัมปทานจ้างงานให้ และระดมคนออกไปลงคะแนนเสียงเวลาเลือกตั้ง หรือที่เรียกขานกันในบ้านเราว่าพวกหัวคะแนนนั่นเอง
สำหรับเวเบอร์แล้ว อาจสรุปได้ว่าการเมืองสมัยใหม่ก็คือการเมืองแบบเครื่องจักรหรือการเมืองแบบพรรคนี่แล (modern politics = machine politics = party politics)
ไม่ว่าเราอยากจะประเมินค่าการเมืองแบบนี้เชิงศีลธรรมว่าอย่างไร แต่มันก็ทดสอบบ่มเพาะหล่อหลอมนักการเมืองอาชีพอย่างวูดโรว์ วิลสัน, เดวิด ลอยด์ จอร์จ และจอร์จ เคลมองโซ จนขึ้นมานำประเทศชาติรบชนะสงครามได้ในที่สุด
พรรคการเมืองคือหัวใจของการเมืองสมัยใหม่
ในฐานะสถาบันผลิตนักการเมืองอาชีพของรัฐสมัยใหม่ พรรคการเมืองถูกประเมินความสำคัญไว้สูงและหลากแง่มุม ไม่เฉพาะจากแมกซ์ เวเบอร์ ในคำบรรยายดังกล่าว หากจากนักรัฐศาสตร์คนสำคัญรุ่นหลังๆ ด้วย อาทิ
Elmer Eric Schattschneider (1892-1971) นักรัฐศาสตร์และการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้ได้รับยกย่องเป็นบรมครูเรื่องการปกครองในระบบพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ดังที่เขาสรุปในหนังสือของเขาเรื่อง Party Government (1942) ว่า :
“ความรุ่งเรืองของบรรดาพรรคการเมืองเป็นหลักหมายโดดเด่นสำคัญประการหนึ่งของการปกครองสมัยใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย อันที่จริงแล้วพรรคการเมืองนี่แหละที่แสดงบทบาทหลักเป็นผู้สร้างรัฐบาลหรือจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นก็คือเป็นผู้สร้างรัฐบาลประชาธิปไตย
“ขอกล่าวอย่างชัดเจนแต่ต้นเลยทีเดียวว่าหนังสือเล่มนี้มุ่งอุทิศทุ่มเทให้แก่บททดลองเสนอที่ว่าพรรคการเมืองเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นเป็นสิ่งที่มิอาจนึกคิดเป็นอื่นไปได้นอกจากในเชิงของพรรคการเมืองเท่านั้น ความจริงแล้วสภาพของพรรคการเมืองเป็นหลักฐานดีที่สุดที่เป็นไปได้ว่าระบอบการเมืองหนึ่งๆ มีธาตุแท้อย่างไร เกณฑ์จำแนกสำคัญที่สุดในปรัชญาการเมืองสมัยใหม่อันได้แก่เกณฑ์จำแนกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการนั้นอาจตรวจวัดได้ดีที่สุดในเชิงพรรคการเมือง
“ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงมิใช่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบย่อยของการปกครองสมัยใหม่ หากอยู่ตรงใจกลางของมันและแสดงบทบาทเป็นตัวกำหนดและสร้างสรรค์ในนั้นเลยทีเดียว”
Peter Mair (1951-2011) ศาสตราจารย์การเมืองเปรียบเทียบชาวไอริชผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพรรคการเมือง แห่งสถาบันมหาวิทยาลัยยุโรป ณ เมืองฟลอเรนซ์ ได้อภิปรายถึงความสำคัญหลากหลายแง่มุมของพรรคการเมืองไว้ในบทความเรื่อง “Ruling the Void : The Hollowing of Western Democracy” (New Left Review, 2006) ว่า :
ที่มาของพรรค
“ในฐานะพรรคกรรมกรหรือพรรคศาสนา น้อยนักที่พรรคมวลชนในยุโรปจะยืนอยู่ลำพัง หากมักประกอบส่วนเป็นเชื้อมูลแกนกลางในเครือข่ายอันกว้างใหญ่และซับซ้อนกว่าของสหภาพแรงงาน, โบสถ์, สมาคมธุรกิจ, สมาคมช่วยเหลือกัน และสโมสรทางสังคม องค์กรทั้งหลายเหล่านี้ช่วยหยั่งรากพรรคมวลชนแบบเก่าให้ยึดติดอยู่ในสังคมและช่วยทำให้ฐานผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคเหล่านี้มีเสถียรภาพและมีลักษณะจำเพาะแตกต่างออกมา”
หน้าที่ของพรรค
“แต่เดิมมา เป็นที่เข้าใจกันว่าพรรคทำหน้าที่ผนึกพลเมืองให้เป็นปึกแผ่น และถ้าจำเป็นก็ระดมกำลังขับเคลื่อนพวกเขาด้วย พรรคแสดงออกและผนวกประมวลผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งแปลมันออกมาเป็นนโยบายสาธารณะ พรรคเลือกรับและส่งเสริมผู้นำทางการเมือง พรรคจัดตั้งสภา รัฐบาลและสถาบันหลักของรัฐทั้งหลาย กล่าวคือ พรรคมุ่งผสานการปกครองเพื่อประชาชนเข้ากับการปกครองโดยประชาชนฉันใด พรรคก็ย่อมผสานหน้าที่หลักในการเป็นตัวแทนเข้ากับหน้าที่หลักในเชิงกระบวนการปกครองไว้ในตัวองค์กรเดียวกันฉันนั้น”
พรรคเป็นสื่อผสานเสรีนิยมเข้ากับประชาธิปไตย
“โดยผ่านพรรค สถาบันหนึ่งเดียวกันภายในระบอบประชาธิปไตยมวลชนก็เป็นทั้งปากเสียงให้กับพลเมืองและปกครองแทนพวกเขาด้วย ในบริบทดังกล่าว ประชาธิปไตยของประชาชนกับประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (หรือนัยหนึ่งเสรีนิยม – ผู้แปล) ก็ค่อนข้างแยกจากกันไม่ได้”
คุณภาพของพรรคการเมืองจึงสำคัญยิ่งต่อการเมืองสมัยใหม่ สังคมการเมืองใดเพิกเฉยละเลยปล่อยให้มีการใช้อำนาจพลการไร้การตรวจสอบถ่วงดุลเข้าเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพรรคการเมืองอย่างสะดวกง่ายดายตามอำเภอใจย่อมไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงทางการเมืองและความมั่นคงของรัฐไม่มากก็น้อย
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022