เมื่อทรัมป์มาเยือนภูมิภาคเรา ก็ร้อนซิ…

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ระหว่างสายโทรศัพท์ทำเนียบขาวแทบไหม้ด้วยเสียงแสดงความยินดีกับชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง

เป็นที่คาดเดาได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ร้อนขึ้นมาด้วยนโยบาย ภาษากายและวาจาที่แข็งกร้าวของโดนัลด์ ทรัมป์

ประเด็นคือ ภูมิภาคนี้จะร้อนเป็นไฟมากแค่ไหน ร้อนในเรื่องอะไร และรัฐบาลไทยจะวางบทบาทอย่างไรไม่ให้ไฟร้อนเผาผลาญผลประโยชน์ของไทย

นี่คือประเด็นหลักของบทความสั้นๆ นี้

ทรัมป์สมัยที่ 2

แม้คาดเดาได้ว่า นโยบายและบทบาทของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 จะก้าวร้าว ดุดันต่อหลายประเทศและหลายภูมิภาค เพราะนโยบายและประเด็นระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรกก็เป็นเช่นนั้น

แต่บริบทของทรัมป์สมัยที่ 2 จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักความก้าวร้าวและดุดันกว่าที่ผ่านมา เพราะอะไร?

อำนาจมากกว่าเดิม

นอกจากทรัมป์จะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่ 2 ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีชาวอเมริกาที่มากล้นด้วยอำนาจ พรรครีพับลิกันของเขายังกวาดที่นั่งในวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่พรรครีพับลิกันยังมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าพรรคเดโมแครตอีกด้วย

ในระบบการเมืองอเมริกัน แม้จะเป็นการปกครองในระบอบประธานาธิบดีที่ย่อมมีอำนาจมากอยู่แล้ว แต่การเมืองอเมริกันหลายยุค ประธานาธิบดีมีอำนาจจำกัดด้วยระบบดุลแห่งอำนาจ ดุลแห่งการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) จากสถาบันการเมืองอื่นๆ

เช่น ประธานาธิบดีถูกขัดขวางการออกกฎหมาย หรือถูกตรวจสอบอย่างหนักและถ่วงดุลจากวุฒิสภา รวมทั้งถูกตรวจสอบจากศาลสูง (Supreme Court)

แต่ทรัมป์สมัยที่สอง มีหลายฝ่ายกังวลว่า อำนาจประธานาธิบดีที่เขามี เขาอาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงที่เป็นฝ่ายเขา ทำให้ประธานาธิบดีอย่างเขามีข้อจำกัดเชิงบริหารน้อยลง

ที่น่าสนใจ นโยบาย America First หรือ ‘อเมริกามาก่อน’ ของทรัมป์คราวนี้จะไร้ซึ่งการตรวจและถ่วงดุลและขัดขวางจากระบบการเมืองอเมริกัน

ดังนั้น นโยบายยุติสงครามยูเครนที่เขาเคยประกาศไว้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แม้ว่าทรัมป์จะทำให้ยูเครนเสียหายอย่างหนัก1 แต่ทรัมป์ทำแน่นอน

ดังที่เขาประกาศออกมาว่า เขาจะยุติสงครามยูเครนภายใน 1 สัปดาห์ แม้ไม่มีใครรู้ว่ายุติสงครามยูเครนอย่างไร แต่ด้วยอำนาจล้นเหลือ ทรัมป์ทำทันที สำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ คงต้องติดตามกัน

เช่นเดียวกัน ทรัมป์จะไม่จัดสรรงบประมาณให้กับองค์การนาโต (NATO) หรือแม้แต่ถอนตัวออกจากนาโตไปเลย ก็อาจเกิดขึ้นโดยไร้การต่อต้านจากระบบตรวจสอบ เพราะวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลสูงก็พวกทรัมป์ทั้งนั้น

หากพูดแบบวิชาการ ทรัมป์จะไม่ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจสูงสุด (Supremacy) อีกต่อไปแล้ว และทำได้ทันที สหรัฐอเมริกาสมัยเขาจะไม่ใช่โดดเดี่ยวตัวเองหรือภาษาวิชาการเรียกว่า Isolationism สหรัฐอเมริกายุคสมัยของเขาจะทอดทิ้งภารกิจในกิจการระหว่างประเทศที่เขาคิดว่าเป็นภาระอันหนักอึ้ง ไร้สาระ เพ้อเจ้อและหลอกตัวเอง ในตะวันออกกลาง ยุโรปและรวมทั้งในอินโด-แปซิฟิกด้วย

การละทิ้งภาระนานาชาติ ย่อมทำให้ ดังที่เขากล่าวปลุกเร้าตอนหาเสียงว่า Make American great again ง่ายนิดเดียว ง่ายกว่าที่คิด ตรรกะชั้นเดียว แต่ชัดเจนแจ๋วแหวว

 

อะไรจะเกิดขึ้น
กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มองได้ว่า ทรัมป์ละทิ้งภาระที่ไร้ค่าต่อสหรัฐอเมริกา แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง นี่เป็นการจัดลำดับความสำคัญ (priority) ของนโยบายและผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ที่แน่ๆ ทรัมป์กลับมุ่งเน้นที่ประเด็นจีน แต่ตามความเข้าใจของเขานะ และตามความพอใจของกลุ่มผลประโยชน์อเมริกันที่หนุนหลังเขา จะถูกผิดแค่ไหนต้องวิเคราะห์กันเอาเอง เสี่ยงกันเอง แต่ทรัมป์ไม่สนใจ ด้วยภาษาการทูตที่ไพเราะ เสียงพูดคุยโดยตรงสองต่อสองระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับทรัมป์ ประเด็นจีน สำคัญแน่นอน แต่แบบไหน แบบที่เอื้อต่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อภิมหาเศรษฐีรถยนต์ไฟฟ้าหรือเปล่า

แต่ประเด็นจีน จะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ (instability) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ในภูมิภาคและโลกแน่นอน

 

ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ :
ไต้หวัน ทะเลจีนใต้

การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนนำเข้า 60% เกิดขึ้นแน่นอน เปอร์เซ็นต์เดียวทรัมป์ก็ไม่ลด ทรัมป์ทุบโต๊ะแล้วเมื่อไรเท่านั้นเอง นี่คือนโยบายต่อต้านจีน ที่เป็นรูปธรรม

ไม่เท่านั้น ทรัมป์จะหนุนไต้หวันหลายด้านพร้อมกัน เช่น อาจกดดันไต้หวันเพิ่มงบประมาณการทหาร รวมทั้งขายอาวุธที่ทันสมัยที่ไม่ใช่แค่ป้องกันตัวและป้องปราม

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์จะผลักดันพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาคือ ฟิลิปปินส์สู่ พันธมิตรทางการทหาร

ทรัมป์จะใช้กองกำลังทหารอเมริกันในฐานทัพ 9 แห่งในฟิลิปปินส์ท้าทายและต่อต้านกองกำลังทหารจีนในการเคลื่อนตัวในทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้จะร้อนเป็นไฟแห่งการเผชิญหน้าทันที ด้วยลำพังการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังทางเรือระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนก็เกิดขึ้นถี่ขึ้นอยู่แล้ว

ไม่เพียงเหตุการณ์ที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ การเผชิญหน้าทางการทหารอาจเกิดขึ้นระหว่างพันธมิตรทางการทหารของสหรัฐอเมริกาคือ เวียดนามต่อต้านจีนเกิดขึ้นได้ง่ายนิดเดียว ที่น่าห่วงคือ อะไรในทะเลจีนใต้มันร้อนขึ้น ในอ่าวไทยก็ร้อนขึ้นด้วย

แล้วรัฐบาลไทยตั้งรับกับภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในภูมิภาคอย่างไร น่าห่วงกว่ามาก

 

รัฐบาลแพทองธาร
บ่ายหน้าไปทางไหน?

อาจมีบางฝ่ายปกป้องรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ว่า เพิ่งบริหารราชการได้แค่ 3 เดือนแค่นี้จะเอาอะไรกันนักหนา

สำหรับผม ผมไม่ได้จินตนาการดั่งที่ผู้ใหญ่ซีกรัฐบาลชอบติ บทบาทนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ด้านต่างประเทศ ท่านน่ารัก แต่งตัวเด่นและงดงามในเวทีการประชุมที่หลวงพระบาง สปป.ลาว ที่ใครๆ ก็ชื่นชม

ผมเห็นด้วย ท่านประสบความสำเร็จเรื่องความร่วมมือต่อต้านการค้ายาเสพติดและต่อต้านการค้ามนุษย์

ต่อมา ที่ประชุมที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน ท่านก็กล่าวถึงความสำเร็จเรื่องการผลักดัน รถไฟเชื่อมภูมิภาคจากคุนหมิงถึงสนามบินที่จังหวัดพังงา เชื่อมต่อทะเลอันดามันในโครงการแหลมฉบังระยะที่ 3 แล้วยังประสบความสำเร็จเรื่องความร่วมมือด้านยาเสพติดด้วย น่าชื่นชม

แต่เมื่อเงี่ยหูฟัง ไม่ได้ยินเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคจากปากท่านเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ผมก็ยังไม่เห็นและไม่ได้ยินเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา นโยบายและแนวทางจากปากรัฐมนตรีกลาโหม ภูมิธรรม เวชชยชัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

แน่นอน ท่านผลักดันการซื้ออาวุธ แต่ดูเหมือนว่า ท่านจะไปเกาะกูด ซึ่งก็เป็นประเด็นการเมืองภายในมากกว่าเรื่องระหว่างประเทศ

ท่านจินตนาการไปเองหรือเปล่า เกาะกูดเป็นประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลแพทองธาร ที่กำลังฝังตัวเองในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่มีรัฐบาลไทยรัฐบาลไหนควรฝังตัวเองให้เสี่ยงต่อข้อพิพาทระหว่างประเทศ

อย่าว่าแต่รัฐบาลไทยเตรียมตัวอย่างไรต่อภูมิรัฐศาสตร์ใหม่หลังทรัมป์สมัยที่ 2 ดังที่ผู้นำทั่วโลกกำลังเตรียมตัวและเคลื่อนไหว ที่นายกฯ แพทองธารไปประชุมที่หลวงพระบาง คุนหมิง ลิมาของเปรู หรือเป็นประธานนักศึกษารุ่นใหม่ของ วปอ. ช่างผิวเผินกับภูมิรัฐศาสตร์ใหม่เหลือเกิน ไปประชุมแต่งตัวสวย ไปเรียน ทำเปเปอร์ที่ วปอ.เช่นกัน มัวแต่เรียนอยู่ได้

การไปเกาะกูดของรัฐมนตรีกลาโหมไทย ก็เหมือนไม่เข้าใจความจริงของจริงทางภูมิรัฐศาสตร์เอาเสียเลย

อย่าว่าการเตรียมตัวเลย คิดก็ไม่คิดหรือคิดไม่ออก ประเด็นจีนกับการกลับมาของทรัมป์แสดงความอับจนทางปัญญาด้านภูมิรัฐศาสตร์ของชนชั้นนำไทยปัจจุบัน ชัดเจน กระจ่างชัด

 


1Dominic Waghern, “Ukraine has the most lose as rivals and allies prepare for Trump’s return” News sky, 8 November 2024.