ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
ในบทความเรื่อง “กำเนิดอันสุดแสนโรแมนติกของ ‘กลศาสตร์เมทริกซ์’ ซึ่งเป็นกลศาสตร์ควอนตัมรูปแบบแรกสุด” ผมได้เล่าถึงนักฟิสิกส์หนุ่มอายุยังไม่ถึง 25 ปี นาม แวร์เนอร์ ไฮเซินแบร์ก (Werner Heisenberg) ว่าเขาสามารถคิดค้นวิธีการทางคณิตศาสตร์แบบใหม่เพื่อใช้อธิบายผลการทดลองที่เกี่ยวข้องกับอะตอม นั่นคือ เส้นสเปกตรัมของไฮโดรเจน
ทั้งนี้ เขาคิดค้นวิธีการดังกล่าวสำเร็จที่เกาะเฮ็ลโกลันท์ระหว่างการลาพักผ่อนเพราะป่วยเป็นไข้ละอองฟางอย่างหนัก
เกาะเฮ็ลโกลันท์เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลเหนือ (North Sea) ห่างจากชายฝั่งเยอรมนีราว 46 กิโลเมตร สถานที่แห่งนี้ไม่มีปัญหาเรื่องละอองเกสรดอกไม้ ทำให้ไฮเซินแบร์กมีสุขภาพดีขึ้น
เมื่อมีสมาธิ ไฮเซินแบร์กจึงค้นพบวิธีการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาไปเป็นกลศาสตร์ควอนตัมรูปแบบแรก เรียกว่า กลศาสตร์เมทริกซ์ (Matrix Mechanics) โดยมักซ์ บอร์น, ปาสกวัล จอร์แดน และตัวไฮเซินแบร์กเอง กลศาสตร์ควอนตัมรูปแบบนี้ได้รับการเผยแพร่โดยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในช่วงปลายปี ค.ศ.1925
นี่เองเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ค.ศ.2025 เป็น The International Year of Quantum Science and Technology (IYQ) หรือ ปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม เนื่องจากปี ค.ศ.2025 นับเป็นการครบ 100 ปีที่กลศาสตร์ควอนตัม (quantum mechanics) รูปแบบแรกถือกำเนิดขึ้น
คราวนี้จะมาชวนรู้จักเทคนิคทางคณิตศาสตร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกลศาสตร์เมทริกซ์ค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากมีแง่มุมน่าสนใจ จึงขอแยกออกมาให้เด่นชัด ดังนี้ครับ

ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Ralph_H._Fowler
ช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1925 ไฮเซินแบร์กไปให้สัมมนาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังการสัมมนาเขาได้มอบสำเนาของบทความเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัมแบบใหม่ของเขาให้แก่ผู้ที่เชิญเขาไป นั่นคือ ราล์ฟ เอช. ฟาวเลอร์ (Ralph H. Fowler) ในเวลานั้นบทความนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
ฟาวเลอร์ได้มอบบทความชิ้นดังกล่าวให้แก่ลูกศิษย์ระดับบัณฑิตศึกษาของเขาคือ พอล ดิแรก (Paul Dirac) และเขียนโน้ตข้อความสั้นๆ แนบไว้ว่า “ลองดูหน่อยสิว่าคิดยังไง (See what you think of this)”
ตอนแรกดูเหมือนดิแรกจะไม่ได้สนใจบทความดังกล่าวเท่าใดนัก แต่พอเมื่อได้หยิบมาศึกษา เขาก็รับรู้ได้ถึงความสำคัญของบทความดังกล่าว โดยเฉพาะแง่มุมที่ว่าผลคูณของปริมาณ 2 ตัว คือ AB ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ BA เขาสังเกตว่าแง่มุมนี้คล้ายคลึงกับสิ่งที่เรียกว่า ปัวซงแบร็กเก็ต (Poisson bracket) ในวิชาพลศาสตร์คลาสสิค (classic dynamics)
ในเวลาไม่ถึงสองเดือนหลังจากที่เริ่มศึกษา ดิแรกเขียนบทความวิชาการยาว 30 หน้า แล้วส่งให้ไฮเซินแบร์กพิจารณา
เทคนิคทางคณิตศาสตร์ของดิแรกต่อมาเรียกว่า พีชคณิตเลขคิว (q-number algebra) ผลงานชิ้นนี้ต่อมาถูกขยายผลไปเป็นดุษฎีนิพนธ์ (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก) ของดิแรกอีกด้วย แถมชื่อดุษฎีนิพนธ์ก็เรียบง่าย นั่นคือ Quantum Mechanics โดยเอกสารหน้าแรกระบุว่านำเสนอต่อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1926
จุดน่าสนใจอย่างยิ่งคือ ดุษฎีนิพนธ์ของดิแรกเขียนด้วยลายมือทั้งเล่ม ซึ่งในแง่หนึ่งคือลำดับเนื้อหาย่อมสะท้อนกระบวนการคิดของผู้เขียน คือ พอล ดิแรก นั่นเอง
ดุษฎีนิพนธ์ของดิแรกสามารถดูหรือดาว์โหลดได้จากหลายที่ ที่หนึ่งซึ่งผมขอแนะนำ คือ FSU Digital Repository | University Libraries ของมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต (Florida State University) ที่
https://repository.lib.fsu.edu/islandora/object/fsu:641
หรือที่ http://purl.flvc.org/fsu/lib/digcoll/dirac/dirac-papers/353070
การที่ผมแนะนำเว็บของมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต เนื่องจากดิแรกทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หลังจากที่เกษียณจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเขาสอนและทำวิจัยที่นี่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของชีวิตของเขา และมีห้องสมุดที่ตั้งชื่อว่า Paul Dirac Science Library เพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดนักฟิสิกส์ผู้นี้อีกด้วย

ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Dirac
ในบทนำของดุษฎีนิพนธ์ ดิแรกได้กล่าวถึงผลงานเกี่ยวกับทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมสมัยใหม่ของนักฟิสิกส์หลายคนที่มีผลงานก่อนหน้านั้น เช่น ไฮเซินแบร์ก, บอร์น, จอร์แดน, แครเมอรส์ และเพาลี
ถือกันว่าดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ‘กลศาสตร์ควอนตัม’ ของพอล ดิแรก มีความสำคัญอย่างสูงยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของวิชาฟิสิกส์ครับ
เหตุผลมีหลายอย่าง กล่าวคือผลงานชิ้นนี้เป็นงานบุกเบิก เป็นหนึ่งในงานวิชาการชิ้นแรกๆ ที่เจาะลึกลงไปในระดับรากฐานทางคณิตศาสตร์ของกลศาสตร์ควอนตัม ที่สำคัญคือ รูปแบบทางคณิตศาสตร์ที่เขานำเสนอทั้งสง่างาม (elegant) เข้มงวด (rigorous) และมีประสิทธิภาพ (efficient) ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนากลศาสตร์ควอนตัมได้อย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ในปี ค.ศ.1928 ดิแรกตีพิมพ์บทความชื่อ ‘The Quantum Theory of the Electron’ โดยในบทความนี้ เขานำเสนอสมการดิแรก (Dirac equation) ซึ่งพิสูจน์โดยใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่เขาพัฒนาขึ้นมา และสมการดิแรกนี้เองที่ใช้ทำนายการมีอยู่ของปฏิสสาร (antimatter)
หากสนใจบทความ The Quantum Theory of the Electron สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.physics.rutgers.edu/grad/601/QM502_2019/Dirac.pdf

ที่มา : https://repository.lib.fsu.edu/islandora/object/fsu%3A641
ย้อนกลับมาที่ผลงานพีชคณิตเลข q ของดิแรกอีกครั้ง หนังสือบางเล่ม เช่น Introducing Quantum Theory เขียนโดย Joseph P. McEvoy วาดภาพประกอบโดย Oscar Zarate จัดให้เป็น ‘กลศาสตร์ควอนตัม’ อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากยึดตามแนวทางนี้ พีชคณิตเลข q ของดิแรก ก็จะนับเป็นกลศาสตร์ควอนตัมรูปแบบที่ 2 ที่ถือกำเนิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แหล่งข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมองต่างออกไป คือถือว่าพีชคณิตเลข q ของดิแรกเป็นเพียงเทคนิคหรือกรอบวิธีคิดในเชิงคณิตศาสตร์ในการคำนวณเกี่ยวกับระบบควอนตัมเท่านั้น อีกทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ยังใกล้เคียงกับกลศาสตร์เมทริกซ์ นั่นคือยังไม่ถือว่าพีชคณิตเลข q เป็นกลศาสตร์ควอนตัมอย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนกลศาสตร์ควอนตัมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปีถัดมาคือ ปี ค.ศ.1926 ได้แก่ กลศาสตร์คลื่น (Wave Mechanics) จากมันสมองของแอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ ผมจะหาโอกาสนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

ที่มา : https://repository.lib.fsu.edu/islandora/object/fsu%3A641

ที่มา : https://repository.lib.fsu.edu/islandora/object/fsu%3A641
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022