เปิดงานวิจัย ‘ยารักษามะเร็ง’ จาก ‘พิษแมงป่อง’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

นักวิชาการชี้ว่า แมงป่องแดงอินเดีย แมงป่องอาหรับ แมงป่องหางอ้วนสีดํา แมงป่องหางอ้วนสีเหลือง สามารถใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้

เนื่องจากมีงานวิจัยที่ระบุว่า “พิษแมงป่อง” มีศักยภาพสูงมาก หากนำมาใช้ในทางการแพทย์

ทำให้ในตอนนี้ “พิษแมงป่อง” ได้กลายเป็นพิษที่แพงที่สุดในโลก เนื่องจากมีความยาก และความท้าทายในการสกัด “พิษแมงป่อง” เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมวิธีการจับ “แมงป่อง” ที่เต็มไปด้วยอันตราย

ที่ผ่านมา มีการนำ “พิษแมงป่อง” เข้าสู่ห้องทดลอง โดยได้ฉีด “พิษแมงป่อง” เข้าไปในร่างกายหนูทดลอง

ผลการวิจัยพบว่า สารประกอบใน “พิษแมงป่อง” อาจช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารประกอบบางชนิดใน “พิษแมงป่อง” มีส่วนในกระบวนการขัดขวางการเจริญเติบโต และอาจทําให้เซลล์มะเร็งตายได้

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัย ผ่านทดลองดังกล่าว ลงในวารสารวิชาการนานาชาติ

นอกจากนี้ นักวิชาการยังเผยว่า “พิษแมงป่อง” อาจมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาอาการเจ็บปวดได้อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Peptide ใน “พิษแมงป่อง”

งานวิจัยพบว่า “พิษแมงป่อง” บางชนิด มี Peptide ที่สามารถปิดกั้นสัญญาณความเจ็บปวดในระบบประสาทได้

จึงเป็นข่าวดีที่ “พิษแมงป่อง” มีศักยภาพสูงยิ่ง ในการบริหารจัดการอาการปวดเรื้อรังของมนุษย์ได้ในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผลการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ว่า Peptide ใน “พิษแมงป่อง” มีสรรพคุณในการลดการอักเสบ

 

ที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์เฝ้าเพียรพยายามในการแยก Peptide ดังกล่าว ออกจาก “พิษแมงป่อง”

จากนั้น ได้นำ “พิษแมงป่อง” เข้าสู่กระบวนการทางห้องทดลอง เพื่อสังเคราะห์ว่า Peptide ใน “พิษแมงป่อง” ทํางานได้ดีเพียงใด

ผลการวิจัยสรุปว่า การทดลองทางห้องปฏิบัติการ ในการแยก Peptide ออกจาก “พิษแมงป่อง” ประสบความสำเร็จด้วยผลลัพธ์ที่ดี

โดยทางทีมงานมีความหวังว่า ผลการวิจัยในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการผลิต “ยาต้านการอักเสบ” ตัวใหม่ขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน บรรดานักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ ต่างพากันเชื่อว่า สารประกอบบางชนิดใน “พิษแมงป่อง” อาจถูกใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างจริงจังในอนาคต

ขณะที่ทีมวิจัยอีกทีมหนึ่ง ก็กําลังพยายามพัฒนา “ยาแก้พิษ” สําหรับผู้โดน “แมงป่องต่อย” อยู่เช่นกัน

โดยผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ “ถิ่นที่อยู่ของแมงป่อง” สายพันธุ์ต่างๆ และระบุ “สายพันธุ์แมงป่อง” ที่พบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

เมื่อรวบรวม “พิษแมงป่อง” ได้จำนวนหนึ่ง จะมีการทดลองนำ “พิษแมงป่อง” เหล่านั้น ฉีดเข้าไปในสัตว์ทดลอง เพื่อหาค่าความเป็นพิษ

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแยกพิษของแต่ละสายพันธุ์ให้แยกขาดจากกันอย่างชัดเจน ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การเรียนรู้สรรพคุณของ “พิษแมงป่อง”

สรุปโดยรวมก็คือ หลังจากกระบวนการกําหนดความเป็นพิษของ “พิษแมงป่อง” จากแต่ละสายพันธุ์แล้ว จะมีการค้นหา “สมุนไพรแก้พิษ” ในแต่ละพื้นที่ที่พบ “แมงป่อง” แต่ละชนิด

 

เป้าหมายสูงสุดของการทดลองนี้ คือกระบวนการเตรียมผสม “ยาแก้พิษ” ของ “แมงป่อง” สายพันธุ์ต่างๆ

ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อได้ต้นแบบ “ยาแก้พิษแมงป่อง” แล้ว ต้นแบบ “ยาแก้พิษแมงป่อง” ดังกล่าว จะถูกทดสอบ เพื่อตรวจดูว่า มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

เหล่านักวิจัยได้ตั้งความหวังว่า งานของพวกเขาที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า จะมี “ยาแก้พิษแมงป่อง” ที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างรวดเร็วมากกว่าในปัจจุบัน

ดังที่กล่าวมาข้างต้น หลายท่านอาจคาดไม่ถึง ว่า “พิษแมงป่อง” มีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ยาแก้พิษแมงป่อง” “ยาต้านการอักเสบ” “ยาระงับอาการปวด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารประกอบบางชนิดใน “พิษแมงป่อง” มีส่วนในกระบวนการขัดขวาง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

หรืออาจก้าวหน้าไปถึงการนำ “พิษแมงป่อง” ที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งให้ตายได้ไปรักษามนุษย์

 

เมื่อ “พิษแมงป่อง” มีสรรพคุณทางยา เปรียบเสมือน “ยาขนานเอก” ถึงเพียงนี้ มีหรือที่ราคาค่างวดจะย่อมเยา

แน่นอนว่า ของมีคุณค่ามักหายาก และเมื่อมันหายาก มันจึงมีราคาแพง

เหตุผลก็คือ ถิ่นที่อยู่ของ “แมงป่อง” เจ้าของพิษอันมีค่า ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน หรือพื้นที่ที่มีความร้อนสูง อีกทั้งยังรกเรื้อ และเต็มไปด้วยสัตว์มีพิษ เพื่อนของมัน ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบ หรือแมงป่องพันธุ์ต่างๆ

แมงป่องแดงอินเดีย แมงป่องอาหรับ แมงป่องหางอ้วนสีดํา แมงป่องหางอ้วนสีเหลือง คือเป้าหมายของการค้นหา เพื่อจับ “แมงป่อง” ไปรีดพิษ และนำพิษไปรักษาคน

โดย “พิษแมงป่อง” มีฤทธิ์โจมตีระบบประสาท นําไปสู่การเป็นอัมพาต ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า “พิษแมงป่อง” เป็นหนึ่งในของเหลวที่แพงที่สุดในโลก หรืออีกนัยหนึ่ง “พิษแมงป่อง” มีราคาแพงที่สุดในโลก

ทั้งนี้เนื่องเพราะมีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหลายฉบับ ที่ชี้ให้เห็นว่า “พิษแมงป่อง” ปริมาณเพียง 1 ลิตร มีค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดซื้อขาย “พิษแมงป่อง”

สาเหตุหลักก็คือ เป็นเพราะ “พิษแมงป่อง” หาได้ยากมากดังที่กล่าวไป

 

กระบวนการจับ “แมงป่อง” ต้องมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือ “กระบอกไฟฉายแสง UV” ชนิดแสงไฟสีม่วง หรือ “ไฟฉาย Ultraviolet”

เนื่องจากเมื่อส่องไฟฉายในคืนที่มืดสนิด (“แมงป่อง” เป็นสัตว์ออกหากินเวลากลางคืน) “แมงป่อง” จะเรืองแสงภายใต้ UV

เหตุผลก็คือ เนื่องจากผิวของ “แมงป่อง” ตามธรรมชาตินั้น เคลือบด้วยสาร Hyalin ที่สะท้อนแสง UV ได้ดีนั่นเอง

ตามขั้นตอนแล้ว เมื่อจับ “แมงป่อง” ได้ “แมงป่อง” แต่ละตัวจะถูกแยกไปเก็บไว้ในภาชนะเดี่ยวแบบแยกจากกัน หาไม่แล้ว พวกมันจะกินกันเอง!

หลังจากนั้น “แมงป่อง” ที่ถูกจับมา จะมีเวลา 2-3 วัน ในการปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศ จากนั้น ก็ถึงเวลาที่ “แมงป่อง” ทุกตัวจะถูกรีดพิษออกมาทีละหยด

แน่นอนว่า พิษที่รีดออกมาได้แต่ละครั้งจาก “แมงป่อง” แต่ละตัว มีปริมาณน้อยมาก

แปลไทยเป็นไทยก็คือ “การรีดพิษแมงป่อง” 1 ครั้ง จะให้พิษเพียงแค่ไม่กี่ไมโครกรัมเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ “พิษแมงป่องสด” ต้องรีบนำไปเก็บไว้ในช่องแช่แข็งพิเศษที่อุณหภูมิติดลบถึง 86 องศาเซลเซียส

 

ทุกวันนี้ นอกจาก “นักล่าแมงป่อง” ที่เป็นลูกจ้างนักวิจัยแล้ว ยังมี “นักล่าแมงป่องเอกชน” อีกหลายกลุ่มด้วย

เนื่องจากราคา “พิษแมงป่อง” จะพุ่งขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อไปอยู่ในมือขบวนการลักลอบค้าของเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดมืด

โดยราคาค่างวดของ “แมงป่อง” ขนาดน้ำหนัก 100 กรัม มีค่าถึง 100,000 บาทเลยทีเดียว

สถานการณ์ที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเสมือนสวรรค์ของขบวนการลักลอบค้าของเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดมืด ที่นำ “แมงป่อง” ไปปล่อยให้กับบรรษัทยาข้ามชาติยักษ์ใหญ่ นักวิจัยอิสระ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาเศรษฐีมีกะตังค์ที่ต้องการนำ “แมงป่อง” ไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงนั่นเอง