ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
“อํานาจมีไว้ให้แบ่งปัน แต่เมื่อมีการแบ่งปันกันไม่ลงตัวยามใด บ้านเมืองก็ลุกเป็นไฟ” ค่อยๆ รุกคืบ และสะสมความเวิร์กขึ้นเรื่อยๆ “ส.ว.สายสีน้ำเงิน” ที่ถูกมองว่า เป็นเครือข่ายพรรคภูมิใจไทย ที่ก่อนหน้านี้เล่นบทไอ้เสือบุก ยึดหัวหาด “ประธานกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา” ไปเรียบวุธ 20 คณะ จากสต๊อกทั้งหมด 21 คณะ
เหลือติ่งให้ “อังคณา นีละไพจิตร” ส.ว.อิสระ คว้าพุงปลามันไปแบบหืดจับเพียงหนึ่งเดียวคือ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
นอกนั้น “ส.ว.สีน้ำเงิน” กวาดเรียบ ประกอบด้วย “พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย” ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย และการยุติธรรม “นายธวัช สุระบาล” ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ “นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ประธานกรรมาธิการการคมนาคม “นายนิรัตน์ อยู่ภักดี” ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ “พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา” ประธานกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ “นายพิศูจน์ รัตนวงศ์” ประธาน กมธ.ท่องเที่ยวและกีฬา “นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล” ประธาน กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม “นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล” ประธาน กมธ.พาณิชย์และการอุตสาหกรรม “พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี” ประธาน กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน “นายอภิชาติ งามกมล” ประธาน กมธ.การปกครองท้องถิ่น
“นายพรเพิ่ม ทองศรี” ประธาน กมธ.พลังงาน “นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์” ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม “นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์” ประธาน กมธ.การแรงงาน “นางเอมอร ศรีกงพาน” ประธาน กมธ.ศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม “นายกัมพล สุภาแพ่ง” ประธาน กมธ.การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง “นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล” ประธาน กมธ.การสาธารณสุข “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” ประธาน กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล “นายอลงกต วรกี” ประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ “นายชีวะภาพ ชีวะธรรม” ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม “ส.ว.สายสีน้ำเงิน” เคยโชว์พลังให้ดูชมมาครั้งหนึ่งแล้ว ในการประชุมนัดเลือกประธาน ส.ว. ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน ปรากฏว่า เครือข่ายสีน้ำเงิน ได้แก่ “นายมงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าวินด้วยคะแนนมากถึง 159 เสียง เข้าป้ายพร้อมรองประธาน ส.ว.คนที่ 1 ได้แก่ “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซี้แหงย้ำปึ้กของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกด้วยเสียงท่วมท้นล้นเหลืออีหรอบเดียวกัน 150 เสียง
เท่ากับว่า เครือข่ายสีน้ำเงิน คุมสภาสูงเอาไว้ในกำมือแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้ง ประธาน ส.ว.-รองประธาน และประธานกรรมาธิการมากถึง 20 คณะ จากที่มีอยู่ 21 คณะ เบาเสียเมื่อไหร่
ขณะที่เมื่อส่องกล้องดู อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ชุดที่ 13 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีมากไม่น้อยเลยทีเดียว โดย ส.ว.ชุดนี้มีวาระ 5 ปี “แต่ไม่มีอำนาจพิเศษเหมือน ส.ว.ชุดก่อน” คือไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่มีอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหลายประการ อาทิ
1. พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รับหลักการ ต้องได้เสียง ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หากขณะที่พิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระหนึ่งมี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน และ ส.ว. 200 คน รวมเป็น 700 คน จะได้เสียงเห็นชอบ 350 เสียงขึ้นไป ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านวาระหนึ่ง ในจำนวนนั้นต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ว. 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ เท่ากับว่าหากมี ส.ว. 200 คนจะต้องได้เสียง ส.ว.เห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง
2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ผ่านการตั้งกระทู้ถาม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ มาชี้แจงความคืบหน้าของการแก้ปัญหา หรือเพื่ออภิปรายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อ และมีอำนาจเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
นอกจากนี้ ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ก็ยังกำหนดให้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระประชุม ประธานของที่ประชุมสามารถอนุญาตให้ ส.ว.ปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ หากเห็นสมควรประธานวุฒิสภาส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงเป็นหนังสือภายในสามสิบวันได้
ส.ว.สายสีน้ำเงิน ไม่รีบร้อน ค่อยๆ โชว์พลังไฮเพาเวอร์ทีละสเต็ป ไม่บุ่มบ่าม กินทีละคำ ก่อนหน้านี้ โหวตคว่ำกระดานร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ที่กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ที่ผ่านความเห็นชอบเอกฉันท์จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ด้วยเสียงท่วมท้น 177 ต่อ 5 เสียง แต่ ส.ว.ตีตกบก โดยให้เพิ่มเงื่อนไขให้การลงประชามติต้องใช้ “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นมรรคผลให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยิ่งเพิ่มความยากเย็นมากยิ่งขึ้น ลำพังใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวก็ลำบากมากเป็นทุนอยู่แล้ว
3. ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ “เคาะรายชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กรอิสระต่างๆ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ” ครอบอาณาจักรทั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ-คณะกรรมการการเลือกตั้ง-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-คณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน-ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” และอื่นๆ อีกหลายองค์กร
อีกไม่กี่อึดใจ ส.ว.สายสีน้ำเงิน จะกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ ไว้ติดตามฉบับหน้าว่า จะชี้เป็นชี้ตายที่ใดบ้าง
บอกใบ้ไว้นิดหน่อยว่า ต้นปี 2568 จะเป็นยุคทองของ “พรรคสีน้ำเงิน” ใหญ่บะละฮึ่ม บึมส์บะละฮับ หาใครต่อกรยาก “พรรคเพื่อไทย” จะแปรสภาพเป็นสมันตัวน้อยๆ เท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022