ลุ้นด่านแรก 22 พ.ย. ศาล รธน.รับ-ไม่รับ ปมสกัด ‘เพื่อไทย-ทักษิณ’

ประเด็นการเมืองช่วงนี้เริ่มมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเคลื่อนไหวโดยปรากฏตัวด้วยการเป็นประธานในพิธีงานทำบุญทอดกฐินสามัคคี ที่วัดคลองครุ (ปัฐวิกรณ์) เขตคันนายาว กทม. ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

รวมทั้งมีคิวลงพื้นที่ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สังกัดพรรคเพื่อไทย ทั้งจังหวัดอุดรธานีและสุรินทร์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อเรียกคะแนนนิยมและเรตติ้งจากพี่น้องประชาชน

แน่นอนว่า การลงพื้นที่ของนายทักษิณ รวมทั้งการขึ้นเวทีปราศรัยในครั้งนี้ ย่อมถูกตั้งคำถามตามมาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนักร้องเรียน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หยิบยกนำประเด็นนี้ไปยื่นหน่วยงานองค์กรอิสระให้ตรวจสอบอีกหรือไม่

ประกอบกับช่วงนี้คำร้องต่างๆ ที่ยื่นตรวจสอบพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายทักษิณ ชินวัตร อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง

ฉะนั้น อาจมีประเด็นที่นักร้องเรียนจะใช้โอกาสนี้ไปยื่นคำร้องให้ตรวจสอบเพิ่มเติมอีกก็ได้

 

สําหรับคำร้องเรียนที่ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตรวจสอบนั้น ภายหลังเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่มีผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำและชี้นำนั้น

เบื้องต้นขณะนี้ทางคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ดำเนินการทยอยเรียกผู้ร้องมาชี้แจงข้อมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการสอบสวนฯ จะต้องแสวงหาข้อมูล หลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคล พยานแวดล้อม ว่ามีมูลตามที่ผู้ร้องนั้นกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งกรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน จะครบกำหนดช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

ฉะนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ทางคณะกรรมการสอบสวนฯ จะยื่นขอขยายระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นคำร้องที่ยื่นขอให้เสนอความเห็นยุบพรรค จึงจำเป็นต้องได้ข้อมูล พยานเอกสาร และหลักฐานที่ครบถ้วนมากที่สุดก่อนที่จะสรุปความเห็นของสำนวนเสนอนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

 

ส่วนอีกคดีที่ลุ้นระทึกไม่แพ้กัน นั่นคือ กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ นำเอกสาร ทั้งคำร้องและพยานหลักฐาน 5,080 แผ่น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

โดยยก 6 พฤติการณ์ที่เห็นว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน ดังนี้

1. นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

2. นายทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชาทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของประเทศไทย

3. นายทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

4. นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5. นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง

และ 6. นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธได้ไปยื่นคำร้องผ่านทางอัยการสูงสุดมาแล้ว แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน ทางอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงใช้สิทธิในฐานะประชาชนมายื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จึงมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องอย่างไร รวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยขีดเส้นส่งหนังสือตอบกลับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.)ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยมีรายงานว่าได้ส่งเป็นรายละเอียดการสอบถ้อยคำ ทั้งทางฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง หลังจากส่งหนังสือเชิญนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ฝั่งผู้ร้อง และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนฝั่งผู้ถูกร้อง มาชี้แจง

ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสรุปเอกสารและเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

ทว่า กำหนดการเดิมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะหยิบยกคำร้องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประจำสัปดาห์เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน แต่เนื่องจากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจราชการต่างประเทศ ขณะที่วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีภารกิจราชการในประเทศ ดังนั้น จึงจะมีการพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายนนี้แทน

ฉะนั้น ด่านแรกวันที่ 22 พฤศจิกายน ผลการพิจารณาของศาลจะออกมาอย่างไร คงต้องลุ้นกัน แม้ว่าปลายทางของประเด็นนี้ ผู้ร้องจะยื่นขอให้ศาลสั่งเลิกการกระทำเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ เท่านั้นก็ตาม