ยกฟ้อง ‘ณัฐพล’ | ปราปต์ บุนปาน

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีที่ “ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต” (โจทก์) ฟ้อง “ณัฐพล ใจจริง” ผู้เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)”, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”, รวมถึงบรรณาธิการบริหารและบรรณาธิการหนังสือทั้งสองเล่มนี้ (รวมจำเลยทั้งหมด 5 คน)

ในข้อหา “ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง”

และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ศาลได้ชี้แจงเหตุผลในการ “ยกฟ้อง” รวมทั้งสิ้น 3 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก ข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือมิได้กล่าวพาดพิงโจทก์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และครอบครัว ทั้งเรื่องการรับรองรัฐประหาร 2490 และการเข้าแทรกแซงการเมืองสมัยจอมพล ป. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์

อีกทั้งเมื่อกรมพระยาชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว จึงเป็นการฟ้องที่กล่าวอ้างว่าเสียหายต่อผู้ที่ไม่มีสภาพบุคคลแล้วไม่ได้ แม้เป็นหลานของกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ไม่ได้เสียหายต่อโจทก์ทายาทชั้นหลานด้วย

ข้อเท็จจริงตามเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร โจทก์ไม่ทราบและยังไม่เกิด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือไม่สื่อความหมายถึงโจทก์ ย่อมไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นหลานได้

ประเด็นที่สอง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า มีการชุมนุมแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกรมพระยาชัยนาทฯ โดยมีผู้นำสีแดงมาสาดใส่อนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทฯ รวมถึงการชุมนุมกดดันให้ยกเลิกชื่อถนนอันเป็นนามวิภาวดีรังสิตตามภาพข่าว

ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชุมนุมปลุกระดมอันสืบเนื่องมาจากข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือแต่อย่างใด จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายของโจทก์

ประเด็นที่สาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป

ณัฐพล ใจจริง

กรณีข้างต้น ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ “ระบบยุติธรรมไทย” และบรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยไทยโดยรวม

เพราะไม่ว่าเราจะ “เห็นด้วย” หรือ “เห็นต่าง” พยายาม “จับถูก” หรือ “จับผิด” วิทยานิพนธ์และหนังสือของอาจารย์ณัฐพลอย่างไร

ความเห็นต่าง เห็นแย้ง และข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น ก็ควรดำเนินผ่านเวทีเสวนาวิชาการ เวทีแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะ และเวทีการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังควรดำเนินผ่านการเขียน การอ่าน การพูด และการฟังอย่างเสรี

มิใช่ดำเนินผ่านกระบวนการฟ้องร้อง ดำเนินคดี ซึ่งอาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์ การห้ามเผยแพร่ การปิดกั้น การแบน “ความรู้” และกระบวนการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของผู้คนในสังคม

การปลดล็อกวิถีทางแห่งการเซ็นเซอร์-ห้ามเผยแพร่-ปิดกั้น-แบนดังกล่าว บ่งชี้ว่าประเทศของเรายังพอมีความหวัง ยังพอมีแสงสว่าง ยังพอมีความยุติธรรม ขณะเดียวกัน เสรีภาพก็มิได้ปลาสนาการไปเสียทีเดียว •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน