ชวนไปฟังดนตรีในสวนดีๆ ที่งาน ‘FEED Music : Green Fest’ มิวเซียมสยาม

คนมองหนัง

หลายคนและหลายครอบครัวกำลังตัดสินใจถือโอกาสลาหยุดงานยาวๆ เพื่อเดินทางไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ในช่วงวันที่ 5-10 ธันวาคมนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่เลือกใช้ชีวิตต่อในกรุงเทพฯ และไม่มีแผนการเดินทางไกล จังหวะลองฮอลิเดย์ดังกล่าวก็มีกิจกรรมนันทนาการน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย

รวมถึงงาน “FEED Music : Green Fest” ที่จะจัดขึ้นบริเวณลานสนามหญ้าด้านหน้ามิวเซียมสยาม ระหว่างวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 7-8 ธันวาคม

ขณะที่งาน FEED Music หนแรก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน นำเสนอธีมว่าด้วยบทเพลงของศิลปินดังๆ ยุค 90 ที่ยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรม-อุตสาหกรรมดนตรียุค 80 และ 2000 ด้วย

ในปีนี้ ศิลปินที่ทางทีมผู้จัดงานคัดสรรมากลับมีความหลากหลายยิ่งกว่านั้น

YONLAPA

เริ่มต้นด้วย “YONLAPA” วงอินดี้รุ่นใหม่จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างชื่อเสียงด้วยบทเพลงไพเราะติดหู ซึ่งมีเนื้อร้องส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น Let Me Go, Sweetest Cure, I’m Just Like That, Why Why Why และ U ที่มาพร้อมกับแนวดนตรีตั้งแต่ “ดรีมป๊อป” ไปจนถึง “ชูเกซ”

วงดนตรีที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสี่คน “ยลภา เพียรพนัสสัก” (ร้องนำ-กีตาร์) “อานุภาพ เฟยลุง” (กีตาร์และซินธิไซเซอร์) “นาวิน รักในศิล” (เบส) และ “ชลันธร สุนทรพิทักษ์” (กลอง) มีฐานแฟนเพลงเฉพาะกลุ่มที่เหนียวแน่น ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างประเทศ

พวกเขาถือเป็นวงดนตรีไทยยุคปัจจุบันที่มีคิวการแสดงในต่างแดนหนาแน่นที่สุดวงหนึ่ง เห็นได้จากตารางทัวร์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาเริ่มเดินทางจากเมืองไทยไปยังสิงคโปร์, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ก่อนจะตระเวนโชว์ในหลายเมืองของญี่ปุ่น ตั้งแต่ฟุกุโอกะ, โตเกียว, โอซาก้า, มัตสึโมโตะ และคานางาวะ

วงนั่งเล่น

คณะดนตรีกลุ่มถัดมา คือ “วงนั่งเล่น” ซึ่งเป็นการรวมตัวของ “สุดยอดคนเบื้องหลัง-ครูเพลง” จากอุตสาหกรรมเพลงไทยยุค 80-90-2000

อันประกอบด้วย “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” (ร้องนำ-กีตาร์), กมลศักดิ์ สุนทานนท์ (ร้องนำ), ปิติ ลิ้มเจริญ (ร้องนำ-กีตาร์-เครื่องเป่า), เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (คีย์บอร์ด), อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา (คีย์บอร์ด), เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์ (เพอร์คัสชั่น-ร้องประสาน), พรเทพ สุวรรณะบุณย์ (กลอง), ณัฏฐ์ (เทอดไทย) ทองนาค (กีตาร์ไฟฟ้าและร้องประสาน) และ ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ (เบส)

กระนั้นก็ตาม คนดนตรีอาวุโสเหล่านี้กลับไม่ได้มุ่งเน้นขาย “ความสำเร็จจากอดีต” หากขยันขันแข็งกับการนำเสนอบทเพลงใหม่ๆ ที่พวกเขาร่วมกันแต่ง-ร้อง-เรียบเรียง-บรรเลงตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ สายลม, ดอกไม้ในที่ลับตา, ขอคนใจ๋ดีเป็นเพื่อนปี้สักคน, อกหักให้มันเท่ๆ หน่อย และ Something Good เป็นต้น

ถ้าใครยังจำกันได้ “วงนั่งเล่น” พร้อมด้วย “ธีร์ ไชยเดช” เคยสร้างปรากฏการณ์ “คนทะลักมิวเซียมสยาม” มาแล้วหนึ่ง ในงานดนตรีในสวนช่วงเริ่มเปิดเมือง หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

Street Funk Rollers

วงดนตรีอีกคณะที่จะร่วมแสดงในงาน FEED Music 2024 ก็คือ “Street Funk Rollers” วงร็อกสามชิ้นที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมดนตรีในยุค 60-80 นั่นจึงทำให้งานที่ “ฟังดูโบราณแต่เท่” ของพวกเขามีสำเนียงอันแตกต่างจากเพื่อนร่วมวงการ มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “สตรีตฟังก์ฯ” เริ่มออกอัลบั้มชุดแรก (กับค่าย “ร่องเสียงลำไย” ของ “เบิร์ดกะฮาร์ท”) เมื่อปี 2540

วงดนตรีวงนี้มีทั้งเพลงช้าที่ไพเราะติดหู เช่น ง่ายดาย และ วาสนาน้อยๆ แล้วก็มีเพลงเร็วที่ดุดันและแพรวพราวจัดจ้าน เช่น เฝ้ารอ และ บนฟากฟ้า แต่ทุกเพลงล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยการโซโล่กีตาร์อันยอดเยี่ยมหาตัวจับยากของ “โอ๊ต-อรรถพงศ์ บุญเสริมทรัพย์” สมาชิกยุคแรกที่ยังหลงเหลืออยู่ ในฐานะนักร้องนำและฟรอนต์แมนของวง

ร่วมด้วยสมาชิกไลน์อัพปัจจุบัน คือ “ธนวิตร พงษ์เจริญ” (เบส) และ “ชิตพันธุ์ อัตตนาถกุล” (กลอง)

ปราโมทย์ วิเลปะนะ

ปิดท้ายกับโชว์ของ “ปราโมทย์ วิเลปะนะ” ศิลปินเดี่ยวที่เริ่มทำงานเพลงมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 ต่อต้น 2000 ซึ่งมีผลงาน “เพลงฟัง” ฮิตๆ มากมาย เช่น คืนที่ดาวเต็มฟ้า, แค่บอกว่ารักเธอ, เสียงลมหายใจ, แค่คนอีกคน, หวาน, ขอให้รักบังเกิด มาจนถึงเพลงยอดนิยมยุคหลังอย่าง Move On และ ล้ำเส้น

ถ้าหากหลายคนรู้จัก “ชรัส เฟื่องอารมย์” ในฐานะ “นักร้อง-นักแต่งเพลง” ที่เก่งกาจมากๆ ของยุค 80-90 เอาเข้าจริง ปราโมทย์ก็มีสถานะคล้ายคลึงกันในยุค 2000 เห็นได้จากเครดิตการแต่งคำร้อง-ทำนองเพลงดังๆ ที่เขาขับร้อง ด้วยฝีไม้ลายมือของตัวเอง

น่าเสียดายที่ผู้คนมักหลงลืมสถานภาพดังกล่าวของ “ปราโมทย์ วิเลปะนะ” ไป และจดจำได้เพียงเสียงร้องอันโดดเด่นและเปี่ยมศักยภาพของเขา

 

| คนมองหนัง