อนาคตประเทศนี้หมดทางแก้แล้ว? คุยกับ ส.ว.นันทนา ท้อใจกับการฝ่าด่านกำแพงสีน้ำเงิน

“อํานาจของวุฒิสมาชิกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มหาศาลนะคะ อำนาจในการเห็นชอบบุคลากรที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรเป็นอำนาจของ ส.ว. ซึ่งองค์กรอิสระสามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของพรรคการเมือง นักการเมือง และเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ลงมติเห็นชอบในการแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้ต่อให้ ส.ส.ทั้งสภาเห็นชอบก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย แค่นี้ก็ยิ่งใหญ่มหาศาลมาก ฉะนั้น ถ้าใครสามารถที่จะกุมอำนาจนี้ได้ก็กุมอำนาจในการเปลี่ยนประเทศได้เลย” นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ ผ่านรายการ MatiTalk มติชนสุดสัปดาห์

ส.ว.นันทนาเล่าว่า เริ่มแรกตั้งใจมาเป็น ส.ว.เพราะเห็นความบกพร่องของ ส.ว.ชุดเดิมที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามมติของมหาชน ถ้าเราได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เราจะผลักดันวาระของประชาชน อยากจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เราจะมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนให้ดีที่สุด

แต่เมื่อได้เข้ามาแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ผลักดันร่วมกับเสียงหลากหลายที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ พอเข้ามาจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เพราะเรามาเจอกำแพงสีน้ำเงินที่ใหญ่มาก

ทุกครั้งที่โหวตเราจะพบว่าเราคือเสียงข้างน้อย โอกาสที่จะผลักดันวาระของประชาชนไม่มีวันชนะเลย

เราได้แต่พยายามนำเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหามาสื่อสาร อภิปราย นำเสนอในสภา ซึ่งต่างจากที่เราคิดไว้ เราคิดว่าถ้าเข้ามา อย่างน้อยบางเรื่องที่เราเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการผลักดันเรื่องนี้ อาจจะสามารถจะโน้มน้าวจูงใจให้ ส.ว.กลุ่มต่างๆ เห็นด้วยและลงมติได้

แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏมาในหนึ่งสมัยประชุม เราไม่ได้พบอย่างนั้นเลย

แต่เราพบว่าเป็นการลงมติแบบกดปุ่มมากันทั้งแผง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะมีการลงมติไปในทิศทางเดียวกัน คือกลุ่มเสียงข้างมากและกลุ่มเสียงข้างน้อย ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก

ทำให้เราไม่สามารถผลักดันวาระอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้เลย

แม้กระทั่งเราเสนอญัตติที่เชื่อว่า ส.ว.ทั้งหมดน่าจะเห็นด้วยกับเราในการที่จะตั้งกรรมาธิการเพื่อที่จะศึกษา อย่างเช่น เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน แต่สุดท้ายญัตติถูกโหวตตกหมดไปด้วยเสียงข้างมาก เราเรียนรู้ว่าการที่อยู่ตรงนี้ไม่ได้มีลักษณะของการโหวตที่เป็นเหตุเป็นผลเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

แต่เป็นการโหวตตามใบสั่งเหมือนกับมีมือที่มองไม่เห็นมากดปุ่ม เป็นกำแพงใหญ่มากที่เราฝ่าไปไม่ได้

 

ถามว่า แล้วจะทำอะไรได้?

สิ่งที่ทำอยู่ตลอดสมัยประชุมที่ผ่านมาคือต้องสื่อสาร ส่งเสียง หยิบประเด็นที่คิดว่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบที่ส่งผลต่อสาธารณะเอามาพูดในสภา ซึ่งกลไกนิติบัญญัติที่เราสามารถทำได้ คือการยื่นกระทู้ตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจในการบริหาร เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน รัฐมนตรีมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นบทบาทที่ทำได้

ตรงนี้เป็นวิธีการทำงานอันหนึ่งที่เราสามารถที่จะหยิบยกเอาสิ่งที่เป็นปัญหา เพื่อต้องการแนวทางการแก้ไขจากฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล

อีกหนึ่งบทบาทคือการเสนอญัตติ คือ การนำเสนอประเด็นเพื่อที่จะให้ทางสภาพิจารณาแล้วลงมติเพื่อที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอันนี้จะเป็นเรื่องที่ยาก แม้ว่าเราจะทำหน้าที่ในการเสนอญัตติ แต่เมื่อไหร่ที่ลงมติหายนะมาเยือน เราไม่เคยสามารถที่จะได้คะแนนมากพอที่จะดำเนินการอะไรเลย บทบาทของการเสนอญัตติก็ทำได้แค่เสนอเรื่องเข้าไปสู่สภา เพื่อสื่อสารให้กับประชาชน

ประการต่อไปที่สามารถทำได้ คือ การอภิปรายตัวกฎหมายที่เข้ามาสู่สภา อภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็นสนับสนุนวิพากษ์วิจารณ์ผลการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ถามว่าโดยบทบาทของคนที่เป็น ส.ว.เสียงข้างน้อยสามารถทำได้ประมาณนี้ไม่อาจที่จะผลักดันอะไรที่ส่งผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ไม่สามารถที่จะแหวกกำแพงสีน้ำเงินได้ แล้วก็อาจจะมีบ้างส่วนไปประสานเป็นเนื้อเดียวกับเสียงข้างมาก เพื่อที่จะให้มีพลัง ซึ่งเราก็อาจจะได้เห็นว่าเสียงข้างมากขึ้น แต่เสียงของ ส.ว.อิสระน้อยลงทำให้พลังของกลุ่มอิสระลดลงไปเรื่อยๆ

ซึ่งต้องวัดความแข็งแกร่งของหลักการ อุดมการณ์การต่อไปว่าจะมีความสามารถในการยืนหยัดต่อสู้กับกำแพงใหญ่ๆ เหมือนกับเราไปยืนหยุดอยู่หน้ากำแพงแล้วก็แหงนหน้าดู เราจะชนได้ไหม ชนเราก็เจ็บ แล้วเราก็ไม่สามารถทะลุไปได้

แต่เราตะโกนเสียงดังๆ ได้ ท่ามกลางที่มีกำแพงใหญ่ เรายังสามารถส่งเสียงแล้วสื่อสารกับประชาชนได้

บทบาทอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำแม้ว่าเหมือนกับมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แต่เราก็ต้องออกมาสื่อสารต้องให้ประชาชนได้รู้

 

ส.ว.นันทนากล่าว่า คนที่ชนะในการเล่นกติกาอะไรเขาย่อมจะยึดกติกาเดิมเพื่อที่เขาจะชนะต่อไป ซึ่งอันนี้อันตราย

ดังนั้น คนที่เห็นอยู่แล้วว่ากติกาแบบนี้เขาได้เปรียบแล้วเขาก็สามารถชนะในกติกาอย่างนี้ได้เขาก็ย่อมไม่อยากเปลี่ยนกติกา

แต่คนที่แพ้ก็คือประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการที่ไม่ได้เลือกตัวแทนของเขาแล้วตัวแทนของเขาไม่ได้ยึดโยงอยู่กับประชาชน ซึ่งอันนี้สำคัญมาก

หลักการของประชาธิปไตย คือประชาชนเป็นผู้เลือกผู้แทนฯ และผู้แทนฯ ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขา

ฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าจะให้ผู้แทนยึดโยงอยู่กับประชาชนก็ต้องให้ประชาชนคนเลือก ทุกวันนี้กินเงินเดือนของประชาชน แต่ว่าไม่ได้มีความรู้สึกว่าประชาชนเป็นเจ้านาย เพราะประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือกมาแล้ว ประชาชนไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการเขาก็เลยไปตอบแทนคนที่เป็นผู้สนับสนุนหลักแทน

บวกกับไปจำกัดสมัยเอาไว้ ให้เป็น ส.ว.ได้สมัยเดียว อย่างนี้คนที่เขาเป็นได้สมัยเดียวก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องไปลงพื้นที่ ไม่ต้องไปตอบแทนประชาชน เพราะว่าสมัยหน้าไม่มีใครมาเลือก

 

ถามว่า มีความรู้สึกท้อบ้างไหม ส.ว.นันทนากล่าวว่า ตอนเข้ามาทำแรกๆ เจอปิดไมค์ เจอการประท้วงแบบที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล เจอการลงมติที่เราต้องแพ้ตลอดก็มีความรู้สึกว่าก็ท้อเหมือนกัน

แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราเข้ามาทำตรงนี้แล้วเราไม่สามารถที่จะผลักดันอะไรให้กับประชาชนให้เป็นรูปธรรมได้ แต่ถ้าเราท้อแล้วเราไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายการมาทำหน้าที่ตรงนี้ของเราก็เหมือนกับเราไม่ได้ทำอะไร และเราก็ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการที่จะส่งเสียงอะไรได้เลย ก็กลับมาตั้งหลักใหม่แล้วคิดว่า “เราคงท้อได้ แต่เราจะไม่ถอย”

ที่เราจะทำได้คือ สื่อสาร ส่งเสียง รับเอาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน เพื่อนำไปสู่การที่เราจะบอกกับประชาชนว่าเราพยายามทำเรื่องนี้ แต่ทำแล้วติดอย่างนี้ เราก็ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ในระดับหนึ่ง บทบาทตรงนี้สามารถเป็นปากเป็นเสียงของประชาชน ยังมี ส.ว.ที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับเขา เพราะถ้าเผื่อไม่มีใครส่งเสียงเลย นั่งกันเป็นฝักถั่ว แล้วก็พอถึงเวลาก็ยกมือโหวตหรือกดปุ่มอย่างเดียว สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

การทำหน้าที่เช่นนี้ก็เป็นบทบาทหนึ่งของเสียงข้างน้อย แม้ว่าจะผลักดันอะไรที่เป็นมติใหญ่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ได้ แต่เราทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้

 

สุดท้าย ส.ว.นันทนากล่าวถึงบทเรียนที่ผ่านมาและจะวางกลยุทธ์ในการต่อสู้อย่างไร ว่า เราจะต้องกล้าหาญ เราจะต้องต่อสู้ เราจะต้องสื่อสาร เราจะต้องส่งเสียง เราจะต้องไม่ยอมแพ้นี่คือกลยุทธ์ที่แม้จะถูกปิดไมค์ ถูกประท้วง ถูกตีตกทุกญัตติ เราก็กล้าที่จะนำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้กลับเข้ามาพูดคุยในสภา แล้วเราก็ไม่ต้องกลัวใครจะประท้วง

เราก็ยืนหยัดทำหน้าที่ของเรา เพราะความกลัวทำให้เสื่อม ถ้าเรากลัว เราจะไม่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นหลักการ เมื่อความเสื่อมมา เราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ที่สำคัญไม่ว่าเรื่องนั้นจะแพ้ยับเยินขนาดไหน สุดท้ายประชาชนจะรู้สึกว่าเขามี ส.ว.กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่แทนเขาอยู่

ที่สำคัญก็คือ ต้องไม่ถอดใจ ต้องคิดตลอดเวลามันคือหน้าที่ ตราบใดที่เรายังกินเงินเดือนของประชาชนอยู่ เราก็ทำหน้าที่ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ได้คิดว่าเราเป็นเสียงข้างน้อยแล้วเราทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องพยายามที่จะต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนกติกาให้ได้ ขอให้กติกาการเลือก ส.ว.จบที่รุ่นนี้ คือไม่ไปต่ออีกแล้ว เพราะถ้ามันไปต่อก็จะหา ส.ว.เสียงข้างน้อยได้น้อยลงในรอบหน้า แล้วก็อาจจะไม่มีใครพร้อมที่จะมาเป็นเสียงข้างน้อย

สุดท้ายก็จะกลายเป็น ส.ว.แบบเป็นปึก อาจจะเป็น ส.ว.แบบกดปุ่ม 100% ไปทิศทางเดียวกันหมด ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสมัยต่อไป

ชมคลิป