ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ดังที่ได้กล่าวไว้อยู่เสมอว่า ผมมิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและวัฒนธรรมจีน (อันที่จริงก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเชี่ยวชาญอะไร) แต่การมาเขียนเรื่องจีนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ ก็ด้วยเหตุสามประการ คือ
หนึ่ง พอได้เรียนรู้อะไรมาจากครูบาอาจารย์ ในเรื่องวัฒนธรรมก็อยากแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมฮกเกี้ยนที่มีผู้เขียนทางสาธารณะน้อย
สอง ก็เพื่อตัวเองจะได้บันทึกสิ่งที่เรียนไว้ไม่ให้หลงลืม ย้อนกลับมาอ่านเองได้เมื่อต้องการ
และสาม เพื่อสนองคุณครูบาอาจารย์ สิ่งใดที่ผมรู้หรือไปค้นคว้ามาให้ได้ก็อยากจะนำมาเพิ่มเติม อีกทั้งในปัจจุบัน คนต้องการอะไร “แท้ๆ” ทางศาสนากันมาก พอเจอคำว่า ไสยศาสตร์หรือไสยเวท ก็ตั้งแง่รังเกียจไว้ก่อน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีความลึกซึ้ง มีที่มาที่ไปและสัมพันธ์กับมโนคติทางศาสนาอย่างสำคัญ เลยอยากเขียนไว้ให้ปรากฏ
ที่จริง ผมก็มีความกังวลอยู่บ้างครับ บางเรื่องที่เรียนมานั้นเป็นเรื่องซ่อนเร้นปกปิดมาแต่โบราณ เช่น เรื่องมนตรยานหรือวัชรยาน
แต่พอนึกถึงครูบาอาจารย์ในฝั่งทิเบตหลายท่านที่เห็นว่าการปกปิดที่ว่ามีเหตุปัจจัยของยุคสมัยอย่างไร สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าควรจะเปิดได้ในปัจจุบันนี้ ก็ลงใจได้บ้าง กับผมเห็นว่าที่ตนเองเขียนอะไรมานั้นก็เป็นหลักการอย่างกว้าง มีเจตจำนงมุ่งให้ความรู้ทางสาธารณะและช่วยกำจัดอคติ มิใช่นำเอาวิธีการหรือตัวรูปแบบการปฏิบัติมาเปิดเผยให้คนไปทำกันเองแต่อย่างใด
จึงพอจะวางใจได้ว่าครูบาอาจารย์ท่านคงอนุโมทนา
วันนี้อยากจะกล่าวถึงอะไรในทางรูปธรรมบ้าง โดยเห็นว่าเป็นหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับไสยเวทจีน อันที่จริงอยากชวนให้ย้อนกลับไปอ่านบทความเรื่อง “วัฒนธรรม-ศาสนสัมพันธ์ จีน-อินเดีย : ไกลแต่ก็ใกล้กว่าที่คิด” ซึ่งได้อธิบายทางประวัติศาสตร์โดยสังเขปแล้วว่า อินเดียกับจีนสัมพันธ์กันมาตั้งแต่โบราณอย่างไร โดยเฉพาะฝั่งอินเดียภาคใต้และฝั่งฮกเกี้ยน
ผมทิ้งท้ายบทความนั้นไว้ว่า “หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างคือบรรดาศาสนอุปกรณ์ของชาวลื่อซานเอง เช่น แส้พิธี (หวดโสะ) หรือแตรเขาควาย (เหล่งกัก) ซึ่งไม่ปรากฏในศาสนพิธีของศาสนาเต๋าหรือในวัฒนธรรมจีน แต่เห็นได้ดกดื่นในวัฒนธรรมพื้นถิ่นอินเดียใต้”
พิธีกรรมไสยเวทจีนสายลื่อซานนั้น มีอุปกรณ์พิธีกรรมสำคัญอยู่หลายอย่าง แต่มีสองอย่างที่สำคัญ อันหนึ่งเรียกว่า เหล่งกั๊กหรือหงู่กัก หมายถึง “แตรเขาควาย” แบบที่เราเห็นเผ่านพื้นเมืองต่างๆ ใช้เป่ากัน
กับอีกอันคือ “หวดโสะ” (บ้างเขียนฮวดโซะ) หรือกิมเปียน คือ “แส้พิธีทางไสยเวท”
อธิบายให้ผู้ไม่เคยเห็นหวดโสะเข้าใจก่อน หวดโสะเป็นแส้ทำจากปอถักหรือเชือกถักก็ได้ มีความยาวประมาณช่วงตัวคนหรืออาจยาวได้หลายเมตร ด้ามจับแกะสลักด้วยไม้เป็นรูปมังกรหรืองู (ในปัจจุบันมีผู้ทำเป็นรูปอื่นออกไปอีก)
เวลาใช้จะฟาดกลางอากาศให้เกิดเสียงดัง เมื่อไม่ใช้ ผู้ประกอบพิธีหรือฮวดกั๊วจะคล้องไว้ที่คอ ท่านว่าทำตามกิริยาของ “ฮวดจู้ก๊อง” เทวาจารย์ผู้เสกหวดโสะขึ้นใช้ ปัจจุบัน ม้าทรงก็ใช้หวดโสะเช่นกัน
การฟาดฮวดโสะ เพื่อเป็นการเปิดประตูสวรรค์ (ค้ายเที้ยนหมึง) ให้ทวยเทพเสด็จมา หรือใช้ตีฟาดให้สัญญานกองทัพเทพ หรือใช้ฟาดขับไล่ผีและเสนียดจัญไร
ในตำนานฝั่งไสย อันที่จริงหวดโสะเป็น “งูบินเขาเดียว” (ต๊อกกักเทงเสียไต่เส้งเจี้ย) หรือสัตว์ผสมตามเทวตำนาน แต่ก็นิยมใช้รูปมังกรหรืองูด้วยถือว่าเป็นสัตว์อย่างเดียวกัน งูบินเขาเดียวนี้ ฮวดจู้ก๊องไปปราบและขังเอาไว้ในภูเขา
ส่วนแตรเขาควายนั้น ท่านใช้เป่าในพิธีกรรมอัญเชิญเทพ เป็นแตรสัญญาณเรียกพหลพลเทพให้เข้ามาในมณฑลพิธี
บางท่านก็ว่าเป็นเขาของควายที่ท่านเหล่าจื๊อพระศาสดาเต๋าขี่อยู่
ตํานานก็ส่วนตำนานครับ เป็นเรื่องการเชื่อมโยงให้กลายเป็นจีน ทว่าของทั้งสองอย่างนี้ไม่ปรากฏในศาสนูปกรณ์ฝ่ายเต๋าที่เป็นทางการหรือเป็นของดั้งเดิมในวัฒนธรรมจีน
แต่ท่านผู้อ่านคงพอเดาได้ว่า เป็นอุปกรณ์พิธีแบบชนเผ่าหรือคนพื้นเมืองเร่ร่อนหรือเป็นของที่ใช้กันดกดื่นในวัฒนธรรมคนทรงเจ้าเข้าผี (shaman) นั่นเอง
ในราวปี 2550 ผมเดินทางไปอินเดียครั้งที่สอง ระหว่างเดินอยู่บนถนนลักษมีในเมืองปูเน่ ก็เห็นคนกลุ่มหนึ่งเหมือนคนเผ่าอะไรสักอย่าง เพราะหน้าตาผิวพรรณต่างจากคนอื่น เปลือยกายท่อนบนกำลังเดินภิกขาจารอยู่ และมีอุปกรณ์ที่หน้าตาเหมือนหวดโสะแทบจะทุกอย่าง ผิดก็แต่ไม่ได้มีด้ามเป็นรูปงูหรือมังกร พวกเขาเอาแส้นี้คล้องคอไว้
นั่นเป็นครั้งแรกที่จุดประกายให้ผมสนใจความเชื่อมโยงระหว่างพิธีไสยของอินเดียและจีน
ค้นไปมาก็พบว่า คนกลุ่มนี้คือพวกโปตราช (Potraj) ในภาษามาราฐี ซึ่งแผลงมาจากคำว่า โปตุราชู (Potu Raju) ในภาษาทมิฬ ชื่อนี้หมายถึงเทพเจ้าหรือผีพื้นเมืองที่นิยมนับถือกันในแคว้นมหาราษฏร์เรื่อยไปจนถึงตอนใต้ของอินเดีย พระโปตุราชูถูกเอาไปเชื่อมโยงเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุตามความเชื่อบางกลุ่ม พระองค์เป็นน้องชายของเทวีสัปตมาตฤกา และคอยทำหน้าที่ปกป้องเหล่าเทวีเหมือนพระบุรุษปางดุร้าย เช่นพระไภรวะ
คนโปตราชจึงนับถือเจ้าแม่กทักลักษมีหรือลักษมีไอ และพระแม่มาริไอ (มาริอัมมา-เจ้าแม่วัดแขก) เทวีพื้นเมือง เหมือนกันเทพโปตุราชูที่ปกป้องเทวี และถือว่าตนเองเป็นสื่อกลางหรือคนทรงของพระแม่ กระทำพิธีปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ทำนายทายทักให้กับชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ แลกกับเงินและอาหาร โดยที่โปตราชนั้นไม่ใช่คนฮินดูทางการ
แต่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมหรือเป็นอาทิวาสี
แส้ที่พวกโปตราชใช้นั้นทำจากปอถักเรียกในภาษามาราฐีว่า ฉาพุก (chabuk) พวกเขาจะคล้องคอเอาไว้ แต่เมื่อเวลาทำพิธีจะนำแส้นั้นฟาดตนเอง แล้วร้องว่า “พาเย ทาร อุฆัท” (Baye Daar Ughad) แปลว่า “พระแม่เจ้าเปิดประตูออกเถิด” บางครั้งก็จะเต้นรำไปพร้อมกับเสียงกลอง ส่วนสตรีในเผ่านี้จะทูนรูปพระแม่ไว้บนศีรษะและตีกลอง
เหตุที่ต้องโบยตีตนเอง ด้วยเชื่อว่าพระแม่มาริไอ (ไอแปลว่าแม่ในภาษามาราฐี) มักจะลงโทษมนุษย์ด้วยโรคระบาดและภัยธรรมชาติ ดังนั้น จึงต้องโบยตีตนเองเพื่อขอขมาลาโทษเจ้าแม่และรับโทษภัยแทนชาวบ้าน คล้ายคลึงกับความเชื่อของร่างทรงจีนในการทำร้ายตนเองด้วยของมีคมเพื่อรับเคราะห์แทนชาวบ้านเช่นกัน
ที่จริงนอกเหนือจากพวกโปตราชแล้ว อันที่จริงคนพื้นเมืองอินเดียตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ต่างมีวัฒนธรรมใช้แส้พิธีกรรมกันอย่างแพร่หลาย ภาษากรรณาฏของเกราละเรียกแส้นี้ว่า สาตไต (Sattai) หรือสาต (ฟังดูคล้ายๆ แส้หรือโสะนะครับ) โดยมีรูปลักษณะเหมือนกับหวดโสะ บางครั้งก็มีด้ามไม้ที่ไม่ได้แกะสลักสำหรับจับถือ
ยังมีเทพเจ้าพื้นเมืองหลายองค์ในอินเดียใต้ที่ใช้แส้พิธีกรรม เช่น พระมุนีศวรันร์ ไอยยันนาร์ กัตตราวรายัน ฯลฯ (หน้าตาท่านเหล่านี้ก็ดูคล้ายฮวดจู้ก๊อง) ซึ่งคือผีพื้นเมืองปางดุร้ายที่ต้องไหว้ดีพลีถูก เป็น “ครามเทวดา” หรือเทพประจำหมู่บ้าน ต่างถืออาวุธและแส้ ผู้ศรัทธาหรือคนทรงของเทพเจ้าเล่านี้จึงใช้แส้ในพิธีกรรมเหมือนกัน
ดังนั้น เป็นไปได้ว่าคนอินเดียใต้เข้ามาสู่ภาคใต้ของจีน ก็น่าจะนำเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามาด้วย
แส้ในวัฒนธรรมอินเดียใต้เป็นเครื่องฑัณฑทรมาน ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด เทพผู้ดุร้ายจึงต้องมีแส้ไว้ลงโทษภูตผีหรือคนละเมิดศีลธรรม แต่ก็เป็นเครื่องใช้บังคับม้าหรือทำให้อยู่ในอาณัติด้วย เพราะเชื่อกันว่าเทพเหล่านี้มักขี่ม้าตรวจตราไปรอบๆหมู่บ้านในเวลากลางคืน เป็นที่หวาดกลัวของคนและผี
ผมมิได้ตัดประเด็นที่มีบางท่านเสนอว่า บางทีแส้เหล่านี้อาจมาจากกลุ่มคนนอกด่านหรือเผ่าเร่ร่อนล่าสัตว์ในเอเชียกลาง และถูกนำมาใช้มากขึ้นในจีนเมื่อมองโกลมีอำนาจ กระนั้น จะเอเชียกลางหรืออินเดีย อุปกรณ์เหล่านี้ก็เป็นของพวก Shaman เหมือนกัน ทว่า อินเดียใต้กับฮกเกี้ยนนั้นใกล้ชิดกันเกินกว่าจะตัดอินเดียออกไปจากข้อสันนิษฐานได้
ลองไปดูทางมาเลย์ทุกวันนี้เถิดครับ ที่ซึ่งความเป็นอินเดียใต้และจีนยังคงใกล้ชิดกันอยู่มาก ผมเห็นคนมาเลย์เชื้อสายทมิฬใช้หวดโสะอย่างจีนแทนสาตไตของแขกในพิธีกรรมเขาแบบไม่เคอะเขินเลยทีเดียว
ส่วนเขาวัว-ควายนั้น ภาษาแขกเรียก ศฤงคะ ใช้ในหลายพิธีกรรม เช่น เป่าให้สัญญาณ หรือเอาใส่น้ำสำหรับรดสรง แต่ต่างกับสังข์ตรงที่สังข์จัดเป็นของสูงสะอาดบริสุทธิ์ ผู้ใช้มักเป็นพราหมณ์หรือใช้ในพิธีทางการ ส่วนผู้ใช้ศฤงคะมักเกี่ยวข้องกับพระศิวะ หรือเป็นพวกโยคีเร่ร่อน หรือไม่ก็เป็นพวกหมอผีชาวบ้าน จึงใช้ในประเพณีอย่างชาวบ้านมากกว่า มิใช่อย่างหลวงแบบสังข์
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานนะครับ เป็นข้อสันนิษฐานจากจิ๊กซอว์หลายชิ้นที่ผมค่อยๆ ปะติดปะต่อกัน มาหลายปีและโดยมากก็เป็นข้อมูลจากเอกสารภาษาอังกฤษบวกการเห็นด้วยตา
ดังนั้น หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติม ยิ่งในภาษาจีนที่ผมอับปัญญาเหลือเกินนั้น
กรุณาแบ่งปันเพื่อประโยชน์ทางความรู้สาธารณะ
จักขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่ง •
ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022