ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
แนวคิดในแบบชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ภายใต้คำขวัญ “The America First” (หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน”) นั้น อาจจะก่อให้เกิด “แรงสั่นสะเทือน” มาก หรืออาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิดของทรัมป์นั้น อาจกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นดัง “กระแสคลื่นลูกใหญ่” ที่พัดออกไปไกลเกินกว่าชายฝั่งของอเมริกาอย่างแน่นอน
ดังนั้น ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน เราอาจจะต้องเริ่มพิจารณาให้ความสนใจถึงผลกระทบในทางเศรษฐกิจจากชุดความติดทางเศรษฐกิจของทรัมป์ ที่อาจเรียกว่า “ทรัมโปโนมิคส์
อุดมการณ์ทรัมป์
ชุดความคิดในเชิงอุดมการณ์แบบ “ทรัมป์นิยม” (Trumpism) นั้น วางอยู่บนความคิดทางการเมืองที่เป็น “ประชานิยมปีกขวา” ที่มีลักษณะต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างชัดเจน ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ผู้นำในกระแสประชานิยมปีกขวาไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด ก็ไม่เคยตอบรับกับกระแสโลกาภิวัฒน์ เพราะมองว่า โลกาภิวัฒน์เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างปัญหาให้แก่สังคม มากกว่าจะเป็นปัจจัยที่เสริมสร้าง “ความอยู่ดีกินดี” ให้แก่คนในสังคมประเทศพัฒนาแล้ว
ดังนั้น ในการกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง จึงคาดเดาได้ว่า “ทรัมป์ 2” จะยังคงมีชุดความคิดพื้นฐานไม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งน่าจะมีผลกระทบกับ 3 ส่วนหลักที่สำคัญ ดังนี้
ตลาดหุ้น
คาดการณ์กันว่า ตลาดหุ้นน่าจะเป็นส่วนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากนโยบายลดภาษี และการผ่อนคลายกฎต่างๆ ย่อมจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงแก่บรรดาบริษัทใหญ่ทั้งหลาย การคาดคะเนเช่นนี้ เห็นได้จากการขึ้นของหุ้นบริษัทใหญ่ของอเมริกัน และแนวโน้มเช่นนี้ จะดำเนินต่อไป และเห็นได้จากราคาหุ้นของธนาคาร บริษัทด้านเทคโนโลยี บริษัทพลังงาน และบริษัททางด้านอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจากนโยบายของทรัมป์นั้น บริษัทในลักษณะเช่นนี้ น่าจะสามารถทำกำไรได้มาก
แต่ในทางกลับกัน บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจกับสหรัฐ เช่น บริษัทจากยุโรปที่ทำธุรกิจเครื่องดื่ม สารเคมี และรถยนต์ อาจจะได้รับผลกระทบในทางลบ เนื่องจากตลาดดังกล่าวของอเมริกามีแนวโน้มที่จะหดตัวลงจากทิศทางนโยบายของทรัมป์
การค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบในทางลบอย่างมาก จากนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งมีการคาดคะเนว่า หลังจากการเข้ารับตำแหน่งแล้ว ทรัมป์น่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตั้งแต่ 10% จนถึง 60% การขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสินค้าในตลาดอเมริกาขยับตัวตามไปอย่างแน่นอน ราคาสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ จะส่งผลอย่างมากกับผู้บริโภคโดยรวม โดยเฉพาะค่าครองชีพที่จะเพิ่มสูงขึ้น
การประกาศนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ เป็นความคาดหวังว่า จะทำให้บริษัทอเมริกันต้องย้ายฐานกลับเข้าบ้าน แต่อาจไม่ชัดเจนว่า จะเป็นเช่นนั้นได้จริง เพราะบางบริษัทอาจตัดสินใจย้ายไปทำการผลิตในประเทศอื่นก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งการตั้งกำแพงภาษีที่มีเป้าหมายหลักกับกับสินค้าจีนนั้น ผลกระทบจริงในทางลบจะเกิดแก่ผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศโดยตรง
อีกทั้ง สภาวะเช่นนี้จะกระทบอย่างมากกับการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลให้บรรยากาศของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีปัญหาในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจทำให้ตลาดการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศมีความผันผวนเช่นกันด้วย
หนี้รัฐบาลอเมริกัน
ถ้าทรัมป์จะเอาใจชาวอเมริกันด้วยนโยบายแบบประชานิยม เขาจะไม่ขึ้นภาษี เพราะเขากล่าวชัดเจนแล้วว่า เขาไม่มีนโยบายขึ้นภาษี แต่การไม่ขึ้นภาษีอาจมีนัยว่า รัฐบาล “ทรัมป์ 2” จะต้องหารายได้ทดแทนจากการกู้เงิน ซึ่งการทำเช่นนั้น จะทำให้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นภาระระยะยาวของรัฐบาลเอง
สภาวะเช่นนี้ ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกันมีความกังวลกับแนวโน้มของการก่อหนี้ภาครัฐ และอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ภาครัฐในอนาคต อันเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดของการกู้เงินของรัฐบาล
อนาคต
จากแนวโน้มของนโยบาย “ทรัมโปโนมิคส์” ที่จะเริ่มขับเคลื่อนในปี 2025 นั้น พอคาดคะเนได้ว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างแน่นอน หรือที่กล่าวกันเสมอว่า ตลาดเงินและนักลงทุนต้องการความแน่นอน แต่ดูเหมือนนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์กลับกลายเป็นต้นทางของความไม่แน่นอนเสียมากกว่า !