ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ว่าด้วยทิศทางธุรกิจสำคัญ ผลักดันโดยบรรดา “ขาใหญ่” แวดวงธุรกิจไทยอย่างแข็งขัน
เมื่อสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏความเคลื่อนไหวบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทยหลายรายอย่างพร้อมเพรียงกัน ดำเนินแผนการไปในแนวทางเดียวกัน
เปิดฉากอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ถือเป็นธุรกิจหนึ่งในเครือข่าย ปตท. ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ได้เปิดตัว OR Space พื้นที่ค้าปลีกตามโมเดลซึ่งตั้งใจระบุ “คอมมูนิตี้มอลล์” (Community Mall) ที่สำคัญมีความแตกต่างจากโมเดลสถานีบริการน้ำมันอันโดดเด่นดั้งเดิมตามแบบฉบับ ปตท. ทั้งนี้ OR Space ไม่มีบริการน้ำมัน จึงถือได้ว่า เป็นธุรกิจในจังหวะก้าวใหม่อย่างแท้จริง เพิ่งเปิดตัวขึ้นครั้งแรก 2 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ดังภาพซึ่งขยายอย่างกว้างๆ “…มีสถานีชาร์จ EV ร้านอาหารและร้านค้าอื่นๆ บนพื้นที่ 3-5 ไร่”
ผู้บริหาร OR เน้นว่า “เป็นการเปลี่ยน Business Model เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ…ต่อยอดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เดิมของ ปตท. …เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในธุรกิจ Non-Oil มากขึ้น”
ที่น่าสังเกตในบางสาขาในกรุงเทพฯ ได้ร่วมมือกับธุรกิจระดับโลก อย่างกรณี “Uniqlo Roadside แห่งแรกในประเทศไทย ตามแบบฉบับสาขามาเอะบาชิและนิชิบะ ประเทศญี่ปุ่น” ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีจะเปิดถึง 5 แห่ง
ในภาพใหญ่ สำหรับ ปตท.แล้ว ถือการชิมลางเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว ถึงขั้นที่กล่าวว่า “จะเป็น New S-Curve ของ OR”
ว่าไปแล้ว ว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกโมเดลที่ว่านี้ แท้จริงมี กลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้นำในปัจจุบัน ดูข่าวคราวเป็นไปอย่างเงียบๆ และหลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็นเช่นนั้น ด้วยมาจากดีลการซื้อกิจการเสร็จสิ้นเมื่อปลายปี 2564
โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บริษัทสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล เจ้าของธุรกิจหลัก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีก ปิดดีลซื้อ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ในมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ผู้คนให้ความสนใจในเวลานั้น คือ เข้าไปถือหุ้นใหญ่ และเป็นหุ้นส่วนกับกิจการในเครือ IKEA ในโครงการ เมกาบางนา (Mega Bangna) ซึ่งถือเป็นโมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า Super Regional Mall
ที่จริงแล้ว สาระสำคัญในดีล คือเครือข่าย “คอมมูนิตี้มอลล์” เกือบทั้งหมดอยู่ในทำเลสำคัญๆ กรุงเทพฯ มากกว่า 10 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่แต่ละโครงการ 5-10 ไร่
เครือเซ็นทรัล จึงถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกโมเดลนี้โดยอัตโนมัติ ดูเป็นไปอย่างเงียบๆ จนมาถึงสัปดาห์ที่แล้ว ราวกับว่ามีบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้น
CPN ได้ประกาศแผนการครั้งใหญ่ พลิกโฉมหน้าเครือข่ายคอมมูนิตี้มอลล์ ทั้ง Rebrand และมีการลงทุนใหม่
ในนั้น CPN มีคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับแนวทางและบุคลิกคอมมูนิตี้มอลล์ไว้อย่างมีรายละเอียด อย่างน่าสนใจ
“…เน้นความสะดวก ไม่ใช้พื้นที่ใหญ่ แทรกตัวอยู่ตามชุมชน และพื้นที่ต่างๆ… ด้วยรูปแบบเปิด สามารถขยายเวลาเปิดให้บริการที่ยาวนาน (Long Hour) …เพื่อตอบโจทย์ และสร้างกิจกรรมของทุกช่วงอายุ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการในแต่ละย่านที่แตกต่างกัน ทั้งดึงดูดร้านค้า หรือแบรนด์ใหม่ๆ ทั้งเป็นพื้นที่ให้บริการอื่นๆ เช่น เดลิเวอรี่”
ขณะนำเสนอมุมมองทางธุรกิจตามแบบฉบับผู้นำ ผู้เชี่ยวกรำในธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์ไว้ด้วย
“เป็นการเติมเต็ม Ecosystem ของ CPN …มีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่อย่างหลากหลายโมเดล ทั้งศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน, คอมมูนิตี้มอลล์… ขณะเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับแบรนด์หรือคู่ค้า สามารถเลือกรูปแบบ ทำเล เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย”
จะเรียกว่าอยู่ในช่วงเดียวกันนั้นก็ว่าได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีความเคลื่อนไหวอย่างแตกต่าง มาจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอันทรงอิทธิพล ซึ่งเป็นธุรกิจหลักหนึ่งใน 3 ของซีพี ในฐานะเจ้าของเครือข่ายซึ่งหลอมรวมทั้งเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก-ร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven) เข้ากับค้าปลีก (Lotus) และค้าส่ง (Makro) ขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน
หนึ่งในบริษัทใหม่ในเครือซีพี ประกาศความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก อย่าง IKEA และ Decathlon เปิดธุรกิจค้าปลีก ที่นิยามเองว่า “ร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่” โดยสาขาแรกที่เชียงใหม่ จะเปิดบริการช่วงต้นๆ ปีหน้า (มีนาคม 2568)
ทั้งนี้ ตั้งใจกล่าวถึงบริษัทเครือซีพีที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ CPAXTRA, CP ALL และ TRUE เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นแผนการผนึกพลังของกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งค้าปลีกและสื่อสาร อันเป็นที่รู้กันว่าผู้อยู่เบื้องหลัง และมีบทบาทอย่างสำคัญอย่างต่อเนื่อง ก็คือ ประธานและประธานกรรมการบริหารเครือซีพี ปัจจุบัน ที่มาจากรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจียรวนนท์ (อย่างที่เคยนำเสนอเชื่อมโยงบทบาทอีกบางเรื่องไว้ในตอนที่แล้ว “ดีลแห่งปี” มติชนสุดสัปดาห์ 9 พฤศจิกายน 2567)
“ร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ที่ออกแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และยกระดับประสบการณ์การจับจ่ายใช้สอยให้มีความสะดวกสบายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันในแต่ละพื้นที่”
คำขยายความของถ้อยแถลงเกี่ยวกับแผนการข้างต้น พอจะเห็นร่องรอยถึงจังหวะก้าวการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ อีกครั้งในเครือซีพี
พิจารณาจาก Keyword เป็นแผนการหนึ่งซึ่งขยับจากธุรกิจค้าปลีกซึ่งยึดตลาดพื้นฐานอันกว้างขวาง สู่ธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ มีลักษณะเข้าใกล้โมเดล “คอมมูนิตี้มอลล์” ที่มีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำ และมีหน้าใหม่อย่าง ปตท. ซึ่งเอาจริงเอาจังทีเดียว ด้วยประกาศเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดลที่ว่าอย่างตรงไปตรงมา
กรณีซีพี ดูมีแผนการเทียบเคียงกับ ปตท.มากเป็นพิเศษ ด้วยมีแผนการหนึ่งในทำนองเดียวกัน ในความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลก
ว่าด้วยโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจรายใหญ่ย่อมมีศักยภาพและความสามารถเข้าสู่ได้อย่างง่ายดาย เป็นปรากฏการณ์จับต้องได้ในสังคมธุรกิจไทยในช่วงทศวรรษมานี้ ด้วยมีเหตุและปัจจัยบางประการซึ่งควรกล่าวถึง
หนึ่ง-มีเงินลงทุนมากพอ มีศักยภาพซึ่งสามารถสร้างพันธมิตรธุรกิจอย่างกว้าขวาง
สอง-เป็นทักษะและความชำนาญพื้นฐานอันคุ้นเคย โดยเฉพาะการสร้างรายได้มาจากค่าเช่า และมีพลังอันเข็มข้นในการต่อรองในห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อได้มาซึ่งมาร์จินที่มากกว่ารายกลางและรายเล็ก ทั้งนี้ จากบทเรียนธุรกิจที่ผ่านๆ มา มักจะอ้างอิงจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในปี 2540 เหมือนจะชี้ว่า โมเดลธุรกิจข้างต้นดูจะมีความเสี่ยงไม่มาก
ทั้งนี้ ยังมาจากความเชื่อชุดเดียวกัน มาจากบทวิเคราะห์ และความเข้าใจแนวโน้มพัฒนาการทางสังคมเกี่ยวข้องระบบการค้าขาย
ระบบการค้าแบบเก่ากำลังค่อยๆ ลดบทบาทลง ห่วงโซ่ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายทอด หลายช่วง โดยเฉพาะกอปรไปด้วยผู้ประกอบการรายกลาง-ร้านค้าส่ง และผู้ประกอบการรายย่อย-โชห่วย ค่อยๆ ล่มสลาย เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบการค้าสมัยใหม่ (Modern trade) เท่าที่เห็น และเป็นมา กำกับและอยู่ในน้ำมือของรายใหญ่ไม่กี่ราย
ทั้งนี้ เพื่อให้การเข้าถึงผู้บริโภคอย่างกระชับ ซึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามวิถีคนเมืองมากขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น จากเมืองใหญ่สู่เมืองรอง และสู่ระดับชุมชน เป็นลำดับ ด้วยแบบแผนซึ่งตอบสนองสะดวกสบายมากขึ้น
ในมิติหนึ่ง แผนการธุรกิจของบรรดา “ขาใหญ่” ข้างต้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้พัฒนาการทางสังคมอย่างที่ว่ามาเป็นไปอย่างกระชั้นมากขึ้นๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่าด้วยมิติกว้างกว่านั้นอีก เชื่อว่า บรรดา “ขาใหญ่” มิได้มุ่งสู่ธุรกิจที่เป็นไปอย่างที่เห็น หากยังมีแผนการลุ่มลึกและมองการณ์ไกลซ่อนอยู่ อาทิ ให้การสนับสนุน Start-Up และนวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022