ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ช่างเป็นเรื่องบังเอิญเมื่อสองเหตุการณ์สำคัญของสองประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา กับการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นที่เสร็จสิ้นก่อนประมาณสัปดาห์กว่าๆ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2024
สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้ชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครต พลิกขั้วอำนาจเดิมสำเร็จ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
ส่วนผลการเลือกตั้งของญี่ปุ่น พรรคแอลดีพี (自民党) และพรรคโคเม (公明党) พรรคเล็กร่วมรัฐบาลตลอดมาได้เสียงรวมกันไม่เกินกึ่งหนึ่ง (233 เสียง) ได้เพียง 215 : 250 เสียง ต้องพ่ายแพ้แก่พรรคฝ่ายค้าน
พรรคแอลดีพีนำโดย นายชิเงรุ อิชิบะ (石破茂) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา จำเป็นต้องหาพรรคเล็กอื่นมาร่วมรัฐบาลอีก เพื่อได้เสียงสนับสนุนในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา แข่งกับนายโยชิฮิโกะ โนดะ (野田佳彦) หัวหน้าพรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (立憲民主党) พรรคฝ่ายค้านใหญ่ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน
(*บทความนี้เขียนขึ้นก่อนทราบผลการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น)
เมื่อผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาออกมา ญี่ปุ่นต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากนโยบายด้านต่างๆ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งล้วนเป็นนโยบายพลิกตรงข้ามกับนโยบายรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี นายโจ ไบเดน ที่มีความสัมพันธ์ฉันท์มหามิตรกับญี่ปุ่นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
ด้านนโยบายการเงิน รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะลดภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งญี่ปุ่นด้วยตั้งแต่ 10-20% และสำหรับจีนจะมีกำแพงภาษีขึ้นสูงถึง 60% ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นจากเดิม
นโยบายลดดอกเบี้ยคงติดขัด ตลาดการเงินญี่ปุ่นมีความกังวลว่าค่าเงินเยนจะอ่อนตัวลงอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาสินค้านำเข้าของญี่ปุ่นจะมีราคาสูงขึ้นอีก ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว
คาดการณ์ว่าหากรัฐบาลนายทรัมป์ใช้นโยบายอนุรักษนิยม “America First” ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ค่าเงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้น ตลาดการเงินญี่ปุ่นจึงจับตาดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด
ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังพิจารณาสภาพเศรษฐกิจในประเทศและค่าครองชีพ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ย หากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อนแรงขึ้นภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่สหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวแรงและเร็ว ญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ เพื่อรับมือกับค่าครองชีพของญี่ปุ่นที่จะพุ่งสูงขึ้น
นายคาซึโอะ อุเอดะ (植田和男?) ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ความมั่นใจว่า กำลังพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบ ภายใต้นโยบายด้านการเงินของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก ที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายโจ ไบเดน และ QUAD ซึ่งมีพันธมิตรคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ก็เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกันเมื่อ 21 กันยายานที่ผ่านมา
ญี่ปุ่นคาดว่าความสัมพันธ์ของมิตรประเทศเหล่านี้จะดำรงอยู่ต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือทางทหารของกลุ่ม AUKUS ที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้ริเริ่ม ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ก็น่าจะดำเนินต่อไปอีกเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนเช่นกัน แต่เป็นความร่วมมือของชาติตะวันตกไม่ใช่จากประเทศในเอเชีย
ญี่ปุ่นจะเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้อย่างไรดี?
ด้านเศรษฐกิจ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ญี่ปุ่นก็คงไม่ได้รับการยกเว้น แต่อยู่ในสถานภาพเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่นกัน เพียงคาดหวังว่าในการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจะสามารถรักษาผลประโยชน์ได้มากที่สุดเพียงใด
ประธานบริษัทมาสด้า ให้ความเห็นว่า บริษัทมีฐานการผลิตรถยนต์ที่เม็กซิโก กว่า 60% เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา บริษัทต้องได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาแน่นอน เรื่องนี้บริษัทไม่อาจแก้ไขด้วยตนเอง ต้องพึ่งการเจรจาระดับประเทศเท่านั้น ในปี 2016 บริษัทก็เคยเผชิญความยุ่งยากจากนโยบายในสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์มาแล้ว จากนี้จำเป็นต้องเตรียมตั้งรับความเปลี่ยนแปลงให้ได้
ประธานบริษัทอายิโนะโมโตะ บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ ที่มีโรงงานผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งในสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น เราต้องพร้อมตั้งรับให้รวดเร็ว รอบคอบ และคาดการณ์อย่างแม่นยำ
นโยบายด้านความมั่นคง ขณะนี้ญี่ปุ่นก็พยายามปกป้องประเทศด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย เป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นอาจถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลใหม่ให้เพิ่มงบประมาณด้านนี้ขึ้นอีก ญี่ปุ่นต้องเตรียมวางแผนการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศด้วย
ด้านความสัมพันธ์ระดับผู้นำ เป็นที่ทราบกันว่า นายทรัมป์เป็นผู้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ไม่ยกเว้นแม้แต่ด้านการต่างประเทศ ดังนั้น ผู้นำญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำสหรัฐอเมริกาผู้นี้ด้วย
นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยส่วนตัวของนายทรัมป์ พูดจาโผงผาง ขวางโลก เปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา เขาให้ความสำคัญกับคู่เจรจาที่มีอำนาจในการต่อรองตัวจริง ญี่ปุ่นต้องเพิ่มความอดกลั้นและอดทน พิจารณาให้ดีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ
ในอดีตที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีชั้นเชิงทางการต่างประเทศเป็นที่ยอมรับ เคยเจรจาทางการทูตผ่านทางการออกรอบกอล์ฟกับผู้นำต่างประเทศมาแล้ว
หรือ นายฟุมิโอะ คิชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับนายโจ ไบเดน เป็นอย่างดี
นายชิเงรุ อิชิบะ คงต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและเตรียมรับมือการเจรจาปัญหาสำคัญๆ กับนายทรัมป์ให้ดี
ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหรัฐอเมริกาในระดับหน่วยงานรัฐบาลอย่างดีตลอดมาอยู่แล้ว บัดนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้นำของมหามิตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวอันดีเพื่อประโยชน์สูงสุดของญี่ปุ่นด้วย
เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมา…ญี่ปุ่นต้องตั้งรับ!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022