ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือค่ำวันที่ 6 พฤศจิกายน ในเวลาประเทศไทย เกิดวิกฤตทางการเมืองที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
นั่นคือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 แห่งพรรครีพับลิกัน กับนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ที่ออกมาอย่างหักปากกาเซียน
จนถึงวันสุดท้ายการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างดุเดือดและเข้มข้น ทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ที่กล่าวกันว่าเป็นการหาเสียงที่ใช้เงินมากที่สุดในโลก รวมทั้งเครื่องมือโซเชียลมีเดียทุกประเภทที่เจาะถึงผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นเป้า
ทั้งหมดนั้นทำให้การสำรวจคะแนนล่วงหน้าหรือโพลต่างพากันทำนายว่าผลการเลือกตั้งจะสูสีบอกไม่ได้ว่าใครจะชนะ
ยิ่งมีโพลออกมาถี่และมากมายหลายสำนักที่สำทับแบบเดียวกัน (เพราะทำการสำรวจด้วยกรรมวิธีเดียวกัน) ยิ่งเพิ่มความตื่นเต้นระทึกใจให้แก่ผู้รับข่าวสารไปทั้งโลก ว่าฝ่ายของใครหรือพวกใครจะชนะในศึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้
ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากผู้สมัครที่ไม่ปกติ นั่นคือผู้สมัครทั้งสองฝ่ายที่ต่างมีปัญหาและความไม่ปกติในการเข้ารับเลือกตั้ง
ทรัมป์เป็นอดีตประธานาธิบดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาหลายคดีรวมทั้งคดีลวนลามสตรี ทั้งยังเป็นผู้นำในการละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอันเป็นหลักการในระบอบประชาธิปไตยเสรี
ในขณะที่กมลา แฮร์ริส เป็นผู้สมัครพรรคเดโมแครตที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกในระบบไพรมารี่ก่อน แต่เข้ามาเป็นผู้สมัครเลยเพราะเวลากระชั้นจึงไม่อาจดำเนินตามวิธีปกติได้
ในฝ่ายพรรคเดโมแครตและกองเชียร์ทั้งหลาย มีอีกข้อที่ไม่ปกติ นั่นคือในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน แฮร์ริสเป็นสตรีผิวสีคนแรกที่สามารถเข้าไปรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เพราะหากเป็นการคัดเลือกอย่างปกติ โอกาสที่เธอจะได้รับการเลือกและยอมรับจากแกนนำและสมาชิกพรรคเดโมแครตน่าจะไม่ง่ายนัก
เนื่องด้วยคนเชื่อว่าอคติต่อสตรีเพศในการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐสูงสุดก็ยังมีไม่น้อยในอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลังนี้กลายเป็นพลังที่ฉุดให้สมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิด นั่นคือการมีประธานาธิบดีสตรีและผิวดำคนแรก
ที่ผ่านมาแค่คิดก็ทำไม่ได้แล้ว
แต่คราวนี้เวทีการเลือกตั้งเปิดรับเธออย่างเต็มที่ ทำให้ผู้สนับสนุนแฮร์ริสเกิดความหวังอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สำหรับผู้สนใจการเมืองและมีอุดมการณ์ก้าวหน้า การต่อสู้และโอกาสชนะของแฮร์ริสเกือบเหมือนกับการเข้าสู่การปฏิวัติอเมริกาอีกครั้ง มันจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทั่วโลกต้องตกตะลึง ประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นสตรีและเป็นคนผิวสี
นี่คือสิ่งต้องห้ามที่ไม่อาจแตะต้องได้มายาวนาน แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองของไบเดน หนทางที่ถูกปิดมาก่อนจึงถูกเปิดออกมาอย่างไม่อาจต้านทานได้
นี่เองที่สร้างแรงกระเพื่อมและความมั่นใจในระบบประชาธิปไตยในอเมริกาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จนกลายเป็นความฝันที่ไม่มีการเตรียมพร้อมในความเป็นจริงมาก่อนเลย
ดังนั้น เมื่อผลคะแนนที่ทยอยออกมาให้เห็นในสื่อต่างๆ อย่างรวดเร็ว ว่าคะแนนของทรัมป์นำมานับแต่แรกในมลรัฐของฝ่ายรีพับลิกัน เวลาผ่านไปคะแนนของทรัมป์ก็ยังนำหน้าแฮร์ริสไปเรื่อยๆ
ผ่านไปครึ่งวันคนเริ่มสะดุดใจว่าคงมีอะไรเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้
แรกๆ ก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันเกิดอะไร กระทั่งผ่านไปค่อนวันคะแนนในบรรดารัฐที่เป็นสนามรบและถูกตั้งไว้ว่าจะเป็นมลรัฐที่ตัดสินว่าใครจะชนะ ได้แก่เพนชิลเวเนีย จอร์เจีย มิชิแกน นอร์ธแคโรไลนา เนวาดา และวิสคอนซิน ส่วนแอริโซนายังไม่รู้ผลทั้งหมด (9 พฤศจิกายน) แต่แนวโน้มทรัมป์คงชนะอีก ทั้งหมด 7 มลรัฐมีคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งรวม 93 เสียง หากทรัมป์ได้เพียง 51 คะแนน รวมกับคะแนนในรัฐที่เป็นของรีพับลิกันก่อนก็จะได้ชนะทันที (270 คะแนน)
ไม่ทันค่ำทรัมป์ก็ถึงเส้นชัย เมื่อรายงานข่าวบอกว่าจอร์เจีย (16) ตกเป็นของทรัมป์แล้ว ผมรู้ทันทีว่าเดโมแครตไม่มีทางกลับมาได้แน่
ยิ่งเวลาต่อมารายงานข่าวจากเพนซิลเวเนีย (19) ก็ออกมาว่าทรัมป์ชนะอีกเหมือนกัน
วิมานทลาย งุนงงและเสียกำลังใจอย่างมากต่ออนาคตประชาธิปไตยในโลกที่นับวันดูจะมืดฟ้ามัวดินไปทุกที่
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มดังมาจากหลายฟากของโลก ค่อยๆ ดังมากขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนกว่าค่อนโลกมีความรู้สึกร่วมไปกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างมาก
เสียงก่นด่าค่อนขอดและประณามคนอเมริกันที่ไปเลือกทรัมป์ดังมาจากฝั่งของคนที่เป็นเสรีนิยมค่อนไปทางก้าวหน้า มาจากในเมืองไทยก็ไม่น้อย
มีคนส่งจดหมายอีเมลจากศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ โรบิชาด (Prof. Christopher Robichaud) ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสในแผนกจริยธรรมและนโยบายสาธารณะ สถาบันรัฐศาสตร์เคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาวิพากษ์อย่างแรงตามความเชื่อทางปรัชญา ว่าบัดนี้อเมริกาที่เขารู้จักได้เปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นประเทศที่ทอดทิ้งการเมืองที่มีความสุภาพและมารยาทอันดีและการเคารพนับถือกัน แล้วหันไปโอบอุ้มการเมืองของความไม่พอใจ แก้แค้น ฝันถึงสิ่งที่ไม่เป็นจริง และการข่มเหงรังแกคนอื่น
ทั้งหมดเขาเชื่อว่าไม่ใช่ปัญหาของคณะผู้เลือกตั้ง การทำไพรมารี่ พรรคเดโมแครตไม่อาจเสนอสิ่งที่คนต้องการ ปัญหาพรมแดน ทั้งหมดนั้นเป็นปัญหาเทคนิค
เขากล่าวว่าปัญหาแท้จริงอยู่ที่วัฒนธรรม คือความคิดอย่างเป็นระบบของคน ซึ่งการเมืองและรัฐบาลก็แก้ไม่ได้ ต้องใช้เวลายาวนาน
คําวิจารณ์ของ ศ.คริสโตเฟอร์ข้างบนนี้ค่อนข้างแรงและเป็นปรัชญามาก
คงมีคนอยากอภิปรายด้วย แต่หากใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ผมต้องขอดูหลักฐานชั้นต้นและรองและองค์ประกอบอื่นๆ อีกก่อนฟันธงว่าอะไรคือมูลเหตุของปัญหานี้
มีบางคนให้ความเห็นเชิงวิพากษ์ว่าคงเป็นเพราะพวกคนส่วนน้อยที่เคยเป็นผู้อพยพมาก่อน บัดนี้เมื่อได้งานและอาชีพในอเมริกาแล้ว กลับหันไปเชื่อคำโฆษณาของทรัมป์ว่าต้องกำจัดไล่ออกพวกผู้อพยพที่ผิดกฎหมายที่เข้ามาแย่งงานแย่งอาชีพและเป็นอาชญากรข่มขืนคนอื่นออกไป
อีกความเห็นโยนความผิดไปให้คนผิวดำผู้ชาย ซึ่งบางสำนักรายงานข่าวกล่าวว่าจำนวนมากหันไปลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์เพราะไม่ชอบแฮร์ริสที่เป็นผู้หญิง
ความเห็นเหล่านั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากข้อมูลเชิงประจักษ์เพราะการนับคะแนนในหลายรัฐยังไม่เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงคะแนนในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งอันหลังนี้คงต้องกินเวลาอีกหลายวัน
แต่เมื่อพิจารณาจากคะแนนและโพลจากผู้ลงคะแนนเสียง (exit poll) คำกล่าวหาและโจมตีคนกลุ่มน้อยเช่นละตินอเมริกันและคนผิวดำผู้ชายว่าเป็นคนทำให้คะแนนของทรัมป์ชนะทั้งหมดก็เป็นจริง แต่กลุ่มคนส่วนน้อยดังกล่าวนั้นก็ลงให้แฮร์ริสด้วยเพียงแต่ว่ามันน้อยกว่าที่ลงให้ไบเด็นและโอบามา
ส่วนคะแนนจากสตรีทั้งขาวและดำที่ลงให้แฮร์ริสก็ยังมากกว่าให้ทรัมป์หลายจุด แสดงว่าฐานเสียงของเดโมแครตก็ยังมีพลังอยู่ไม่ได้สูญสลายไปเสียหมด
แบบแผนการลงคะแนนเสียงของกลุ่มคนส่วนน้อยนี้ไม่ใช่เพียงการยอมรับนโยบายและตัวตนของทรัมป์ทั้งหมด หากเป็นการเลือกเพื่อชีวิตของพวกเขามากกว่าจากอุดมการณ์เสรีนิยมเท่านั้น จึงเกิดการลงคะแนนแบบแยกคะแนนให้ทั้งสองฝ่าย (split vote)
เห็นได้จากผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พบว่าฝ่ายเดโมแครตยังรักษาตำแหน่งไว้ได้แต่เสียในรัฐและเขตที่อ่อนไหวไป
เช่น วุฒิสมาชิกโจ แมนชิ่น แห่งเวสต์เวอร์จิเนียซึ่งไม่ลงสมัครกลับมาอีก ทำให้อดีตผู้ว่าการมลรัฐที่เป็นรีพับลิกันได้ตำแหน่งไป
ในขณะที่ทรัมป์ชนะเนวาดา ซึ่งไบเดนชนะคราวที่แล้ว แต่วุฒิสมาชิกแจ๊กกี้ โรเซน ยังรักษาตำแหน่งไว้ได้ แสดงว่าผู้ลงคะแนนแยกคะแนน ระหว่างให้ประธานาธิบดีกับการเลือกผู้แทนในมลรัฐ
ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏในหลายมลรัฐ
ผมมองว่าคะแนนเสียงให้ทรัมป์เป็นการลงโทษรัฐบาลไบเดน ส่วนคะแนนเลือกผู้แทนดูจากผลงานและบุคลิก ไม่ใช่การคัดค้านทุกอย่างของพรรคเดโมแครต
Ezra Klein คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังยืนกรานจะลงสมัครรับเลือกตั้ง
เขามองว่าชัยชนะครั้งนี้ไม่ใช่ความสำเร็จในผลงานของทรัมป์แต่ถ่ายเดียว ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะ ความพ่ายแพ้ของเดโมแครตต่างหากที่เป็นปัจจัยทำให้เขาชนะ
หมายความว่าถ้าพรรครีพับลิกันส่งใคร เช่น นิกกี้ เฮลีย์ อดีตทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติเข้าลงเลือกตั้งแทนทรัมป์ นิกกี้ เฮลีย์ ก็มีโอกาสชนะแฮร์ริสเหมือนกัน
เพราะผู้ลงคะแนนเสียงกลุ่มผสมนี้ พร้อมจะเปลี่ยนข้างได้ทุกเวลาหากปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเห็นด้วยมีพร้อม ในครั้งนี้ปัจจัยนั้นคือความหมดหวังและไร้ศรัทธาต่อการทำงานของรัฐบาลพรรคเดโมแครตภายใต้โจ ไบเดน
การมองที่ผู้ลงคะแนนที่เป็นพลังผสม (coalition)คือคนกลุ่มน้อยทั้งหลาย เช่น คนผิวดำ คนหนุ่มสาว กลุ่มผู้หญิง ละตินอเมริกัน เอเชียนและอื่นๆ ทำให้เข้าใจมูลเหตุที่มาของคะแนนทรัมป์ที่ได้เสียงจากผู้ลงคะแนนมากกว่าแฮร์ริส
กลุ่มผู้ลงคะแนนดังกล่าวเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในประชากรประเทศ คะแนนเหล่านี้ไม่ค่อยแสดงออกในสำนักโพลมากนัก ทำให้การทำโพลออกมาสูสีใกล้เคียงกันมาก
อีกด้านสภาพของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองก็ได้เปลี่ยนผ่านทั้งด้านบวกและลบ ในการเลือกตั้งนี้พรรครีพับลิกันตกเป็นจำเลยในกำมือของทรัมป์กลายเป็นพรรคที่ชำรุดทางจริยธรรม
ส่วนพรรคเดโมแครตภายใต้ไบเดนที่ไม่อาจสนองความต้องการของคนหลากหลายกลุ่มได้เต็มที่ กลายเป็นพรรคที่เสื่อมโทรมทางการเมือง
ดังนั้น การเทคะแนนของพลังผสมจึงเป็นปัจจัยสร้างชัยชนะมากกว่ากลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงเก่า
การสร้างแนวร่วมใหม่ (realignment) จึงเป็นยุทธวิธีนอกพรรคของคนเล็กคนน้อยไปซึ่งได้รับความสำเร็จกับการเลือกประธานาธิบดีตำแหน่งเดียว
พลังผสมนี้เองที่ทำลายความฝันของพลังเสรีนิยมของแฮร์ริสให้มลายไปสิ้นในคืนเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022