ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
เรียกร้องกันมานาน สำหรับข้าราชการสถาบันอุดมศึกษา ที่ขอเพิ่มเงินเดือนเท่าข้าราชการครู
ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.เงินเดือนครู เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปี พ.ศ.2554 เกิดผลทำให้ฐานเงินเดือนข้าราชการครูเพิ่มขึ้นจากเดิมและมากกว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไปร้อยละ 8
ต่อมารัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทั่วประเทศอีกร้อยละ 5 จึงทำให้ข้าราชการครูได้ปรับเพิ่มถึงร้อยละ 13
ขณะนั้นอุดมศึกษายังรวมอยู่ใต้ร่มเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อนแยกตัวเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดังนั้น ในฐานะข้าราชการที่เคยสังกัดเดียวกัน เมื่อเห็นว่าครูได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน ก็ควรได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย
นัยหนึ่งเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรีอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมีการยื่นข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีที่ดูแลอุดมศึกษาในขณะนั้น รวม 5 รอบ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณรัฐมนตรี (ครม.)
กระทั่งมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้บังเหียน รัฐมนตรีผึ้ง “ศุภมาส อิศรภักดี” จึงมีการผลักดันเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง…
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ เพื่อขอรับการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับข้อเสนอให้มีความเหมาะสมและไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณมากจนเกินไป
ขณะเดียวกันได้เร่งรัดการนำเสนอการขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่บรรจุก่อน 1 พฤษภาคม 2567 และก่อน 1 พฤษภาคม 2568 ต่อ ครม. อีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว เนื่องจากการเสนอครั้งก่อนมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี รวมทั้งมีความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในการปรับเงินเดือนให้สัมพันธ์กับภาคราชการ
“อว. และ ก.พ.อ. มีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาและการชดเชยโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา อีกทั้งยังสามารถรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพสูงไว้ในระบบอุดมศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาและการพัฒนาประเทศต่อไป” น.ส.ศุภมาสกล่าว
นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัด อว. อธิบายเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากผู้แทนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากลุ่มต่างๆ อาทิ ประธานสภาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ประธานชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย และผู้แทนมหาวิทยาลัย เพื่อนำข้อเสนอมาร่วมกันพิจารณา แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฯ ก่อนเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในสถานบันอุดมศึกษาพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ก.พ.อ.ต่อไป
“กรณีการขอปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา เคยมีการศึกษาข้อมูล ตัวเลข รวมถึงสอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว รวม 5 ครั้ง และล่าสุด ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งเรื่องกลับมาให้ อว.รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะต้องเก็บข้อมูล ทั้งจำนวนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงงบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มเติมไปถึงปีงบประมาณ 2568 เพราะแม้จะเคยเสนอ และรวบรวมข้อมูลมาแล้ว 5 ครั้ง”
“แต่เมื่อเวลาผ่านไปย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงต้องเตรียมรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการ อว.ให้ความสำคัญ โดย อว. และ ก.พ.อ.มีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาและการชดเชยโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา” นายศุภชัยกล่าว
สําหรับตัวเลขข้าราชการที่จะได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนนั้น เบื้องต้นมีกว่า 10,000 ราย แต่ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงที่ข้าราชการครูได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะมีข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเดิมได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพมาจากข้าราชการครูมาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เกือบถึง 20,000 คน โดยต้องดูตัวเลขที่เหมาะสม
ส่วนการปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ปรับเพิ่มให้ข้าราชการพลเรือนนั้น อยู่ระหว่างเก็บตัวเลขเชิงประจักษ์ โดยจะต้องทำให้เห็นว่า กรณีพนักงานมหาวิทยาลัย ควรใช้หลักการเดียวกันกับข้าราชการ
“ตามมติ ครม.ปี 2542 อนุมัติในหลักการให้สถาบันอุดมศึกษาจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทดแทนอัตราข้าราชการทดแทนอัตราเกษียณ โดยให้สำนักงบประมาณจ่ายค่าใช้จ่ายในการจ้าง เพิ่มขึ้น 1.5-1.7 เท่าของอัตราเงินเดือน ดังนั้น เมื่อข้าราชการได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ พนักงานราชการกลุ่มนี้ก็ควรได้ปรับเพิ่มด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทาง อว.ร่วมกับ ทปอ. ได้จัดเตรียมข้อมูล รายละเอียดเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการเสนอครั้งก่อนมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี รวมทั้งมีความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในการปรับเงินเดือนให้สัมพันธ์กับภาคราชการ” นายศุภชัยกล่าว
แว่วมาว่า ชาวอุดมศึกษาเอง ยังไม่วางใจว่า เรื่องนี้จะได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง เพราะถูกตีกลับมาแล้วหลายรอบ รวมเวลานานกว่า 13 ปี…
จากนี้คงต้องจับตาว่า อว.จะผลักดันเพิ่มค่าตอบแทนให้กับทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย และข้าราชการมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มาก ได้จริงหรือไม่ •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022