ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
อาจารย์ที่ฉันเคารพรักมากๆ ท่านหนึ่ง และเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยมากที่สุดคนหนึ่งมีคำถามว่า
“พรรคเพื่อไทยไม่กล้าทำอะไร เพื่อจะอยู่ครบสามปี ดูเหมือนพรรคอนุรักษนิยมครองรัฐบาลจริงไหม?”
ฉันดีใจมากที่อาจารย์ถาม เพราะมันแสดงให้เห็นว่า อาจารย์ยังอยากฟังความเห็นจากฝั่งที่เชียร์เพื่อไทย และยังไม่ถึงกับซื้อไอเดียที่อยู่ในคำถามนั้นทั้งหมด
“พรรคอนุรักษนิยมครองรัฐบาล” ถ้าเราเริ่มต้นจากประโยคนี้
ฉันคิดว่าเราต้องมานิยามกันว่า อนุรักษนิยมนี้แปลว่าอะไร?
อนุรักษนิยมแปลว่าให้ความสำคัญกับสถาบันหลักของชาติสูงสุดคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรืออนุรักษนิยมที่แปลว่า สนับสนุนรัฐประหาร
พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยมในความหมายที่เป็น royalist แน่ๆ
และไม่เป็นซ้ายหรือสังคมนิยมจากนโยบายเศรษฐกิจแบบนีโอลิเบอรัล
ยกเว้นนโยบายสามสิบบาทที่เอียงไปทางรัฐสวัสดิการเพียงนโยบายเดียวเท่านั้น
ดังนั้น จึงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พรรคเพื่อไทยเป็นอนุรักษนิยม
แต่สิ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต่างจากพรรคอนุรักษนิยมที่เหลือทั้งหมดในประเทศไทยคือ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ถูกรัฐประหารมาโดยตลอด ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเป็นพรรคอนุรักษนิยม พร้อมๆ กับเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐประหาร
พรรคการเมืองอื่นๆ เช่น ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคอนุรักษนิยมเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ไม่เคยแสดงจุดยืนต้านรัฐประหารพร้อมๆ กับที่ไม่เคยแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐประหาร รักษาสถานะพรรคขนาดกลาง พรรคท้องถิ่น พร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย
พรรคประชาธิปัตย์น่าสนใจตรงที่วางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองไว้เป็นพรรค “ก้าวหน้า” (ผ่านวาทกรรมต่อต้านทุนผูกขาด ต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนการกระจายอำนาจ เป็นต้น)
แต่กลับลงเอยเป็นพรรคที่สนับสนุนการรัฐประหาร
ไม่เพียงแต่สนับสนุนการรัฐประหารแต่ยังเป็นพรรคที่เป็นรัฐบาลซึ่งมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการปราบม็อบคนเสื้อแดงในปี 2553 จนถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือด (จากคำพูดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองที่บอกว่า unfortunately some people die) แล้วยังต่อเนื่องมาเป็นแกนนำในการทำม็อบ กปปส.
ส่วนพรรคการเมืองที่เป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2557 แบบสายตรงก็คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งชีวิตของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคนี้ก็น่าสนใจอย่างที่สุด เพราะว่ากันว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช.
คำว่าเฉพาะกิจนั้นจะเห็นความยิ่งใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐที่กวาดเอานักการเมืองระดับแนวหน้ามาอยู่ในพรรคได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่งในช่วงแรกทำให้เป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากจนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ในสมัยประยุทธ์ 2
แต่พรรคพลังประชารัฐกลับไม่สามารถต่อยอดจากพรรคเฉพาะกิจให้กลายเป็นพรรคการเมืองในเชิงสถาบันการเมืองที่ยึดโยงกันไว้ด้วยอุดมการณ์ (ไม่เป็นจำเป็นต้องประชาธิปไตยจ๋า แต่ต้องมีเป้าหมาย หลักการบางอย่างของพรรคร่วมกัน)
แต่พรรคคงสภาพของการเป็นมุ้ง เช่น กลุ่มสามมิตร กลุ่มธรรมนัส กลุ่มไผ่ ลิกค์ กลุ่มกำแพงเพชร กลุ่มลุงป้อม ฯลฯ เมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยน มุ้งเหล่านี้จึงสลายไปคนละทิศคนละทางโดยง่าย เพราะพวกเขามารวมกันเฉพาะกิจมาตั้งแต่แรก
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติกลับมีพัฒนาการที่น่าสนใจนั่นคือมีความพยายามก่อรูปอุดมการณ์ที่ยึดโยงสมาชิกพรรคเข้าไว้ด้วยกันและเห็นชัดเจนว่ามีความปราถนาจะสร้างพรรคให้เติบโตอย่างยั่งยืน นั่นคือพรรควาง positioning ตัวเองเป็น “Neo conservative”
และน่าจะเป็นพรรคการเมืองแรกที่ประกาศความเป็นคอนเซอร์เวทีฟของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ
เราจะชอบหรือไม่ชอบบอุดมการณ์นี้แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการประกาศว่า พรรคการเมืองนี้อาจตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจในบริบทหนึ่ง แต่เมื่อบริบทของการเมืองเปลี่ยน พรรคต้องการสร้างพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันและต้องการเติบโตโดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพร้อมทำงานตามเนื้อผ้าเช่นร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้
ทำงานภายใต้นายกฯที่มาจากพรรคเพื่อไทยได้
ในขณะที่การแตกเป็นเสี่ยงๆ ของพรรคพลังประชารัฐทำให้พรรคฯต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน และต้องไปทำงานร่วมกับพรรคประชาชน (ก้าวไกล) ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำงานในฐานะฝ่ายค้าน เพราะจุดประสงค์ของการตั้งพรรคไม่ได้คิดจะมาเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาลโดยการเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งตั้งแต่แรก
เมื่อพิจารณาเช่นนี้จะเห็นว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนในประเทศไทยที่ไม่อนุรักษนิยม ยกเว้นพรรคประชาชน
แน่นอนว่าพรรคประชาชนถือกำเนิดขึ้นบนการต้านรัฐบาลประยุทธ์ ต่อต้านเผด็จการ และมีแนวทาง “วิพากษ์สถาบัน” อย่างชัดเจน ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชนบอกว่า การวิพากษ์นี้เพื่อความ “มั่นคงสถาพร” ของสถาบัน
ด้วยจุดยืนเชิงวิพากษ์นี้เราจึงจัดให้พรรคนี้เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่อนุรักษนิยม
แต่จะหัวก้าวหน้าในเรื่องอื่นๆ หรือไม่ ฉันไม่แน่ใจ เพราะโดยไบแอส อคติส่วนตัว ฉันเห็นว่าพรรคนี้เหมือนประชาธิปัตย์สมัยก่อน คือเหมือนจะก้าวหน้าแต่ลึกๆ แล้วสมาทานการเมือง “คนดี” ซึ่งท้ายที่สุดจะขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากด้วยตัวมันเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันคือ หากอาจารย์มองว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม อาจารย์น่าจะมองผิดไป พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยมเรื่องสถาบันและศาสนา
เป็นพรรคเสรีนิยมในนโยบายเศรษฐกิจไปพร้อมกับนโยบายสวัสดิการโดยรัฐเพื่อโอบอุ้มคนจนที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ไม่เพียงเท่านั้นในบางมุมก็มีความเป็นซ้ายเช่น การเก็บภาษีรถติดหรือการทำ negative income tax
ย้อนกลับไปที่คำถามของอาจารย์ว่าพรรคเพื่อไทยไม่กล้าทำอะไร ปล่อยให้พรรคอนุรักษนิยม และพรรคร่วมรัฐบาล “นำ” เพราะอยากอยู่ในอำนาจอีกสามปีใช่หรือไม่
ฉันตอบอาจารย์ว่าใช่และไม่ใช่
คำว่าไม่กล้าทำอะไรของอาจารย์น่าจะหมายถึง เรื่องนิรโทษกรรมที่ต้องรวมคดี 112 ซึ่งพรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ไม่รวม 112 อีกเรื่องหนึ่งคือการแก้รัฐธรรมนูญ
เรื่องนิรโทษกรรม เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน จากจุดยืนรอยัลลิสต์ของพรรคเพื่อไทย อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ 112 พรรคจะไม่แตะอยู่แล้ว และการผลักดันการนิรโทษกรรม พรรคคิดว่าได้ทุกคดียกเว้น 112 ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ส่วนเรื่อง 112 อาจจะให้มีการยกมาพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
เรื่องที่ซับซ้อนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเราอาจต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเหมือนพรรคประชาชนมากกว่าเหมือนพรรคร่วมรัฐบาล ไม่นับว่าพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. มีจุดยืนที่สอดคล้องกันมากกว่าพรรคเพื่อไทย
สิ่งที่อาจารย์ถามมาก็มีส่วนที่ถูกต้องอยู่มากว่าพรรคเพื่อไทย “ไม่กล้า” และในบางจังหวะที่กล้าแหลมขึ้นมาเสนอในสิ่งที่ขัดกับพรรคร่วมก็มักจะมีสัญญาณจากพรรคร่วมว่า “ไม่โอเค”
สิ่งที่อาจารย์ถามจึงถูกต้องคือพรรคเพื่อไทยไม่กล้า ถามว่าทำไมไม่กล้า เหตุผลเรียบง่ายมาก เพราะพรรคเพื่อไทยมี 141 เสียง ถามว่า อ้าว แล้วทำไมไม่เอา 141 ไปรวมกับ 151 ของพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรกล่ะ ข้ามขั้วไปทำไม
คำตอบก็เรียบง่ายอีกนั่นแหละว่า ถ้ารวมกันก็คือไม่ได้เป็นรัฐบาล (จบนะ ประเด็นนี้) เมื่อมีแค่ 141 เสียงจึงไม่อาจสู้ 250 เสียงของ ส.ว. กับเสียงของพรรคร่วมที่เหลือ
ซึ่งก็ย้อนกลับไปตอนหาเสียงว่านั่นคือเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงของชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ และเมื่อประชาชนไม่ได้อนุญาตให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ ต้องการถ่วงดุลย์อำนาจของเพื่อไทยด้วยการเลือกพรรคอื่นๆ มาด้วย
นี่ก็คือผลแห่งการตัดสินใจของประชาชนที่ประชาชนพึงรับผลแห่งการตัดสินใจนั้น
เมื่อประชาชนกลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.มากเกินไป ต้องการถ่วงดุลย์อำนาจเพื่อไทย นี่ก็ได้ถ่วงดุลย์กันตามเจตจำนงของประชาชนแล้วนั่นคือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่ถูกถ่วงดุลด้วย “เสียง” ของพรรคอื่นๆ สมใจประชาชนจริงๆ
เพราะฉะนั้น ในเงื่อนไข 141 ที่มีอยู่พรรคจึงไม่ “กล้า” เพราะอะไร ก็ดังที่อาจารย์ว่าคือ อยากอยู่ในอำนาจอีกสามปีจนครบวาระใช่หรือไม่ คำตอบที่ฉันตอบอาจารย์คือ “ใช่ค่ะ”
และเราควรถามต่อว่าทำไมถึงอยากอยู่จนครบวาระ
คําถามที่ตอบง่ายมากก็คือ “หาเสียงแทบตายกว่าจะได้ 141 เสียง แล้วกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่ง่าย ตั้งแต่ไปทำ MOU กับพรรคก้าวไกล พร้อมให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ จนผ่านไปสองเดือน สิ่งเดียวที่พรรคก้าวไกลทำคือเอาพิธาขึ้นรถแห่ ประกาศตัวเป็นนายกฯ แล้วด่า ส.ว.วัน ด่าพรรคภูมิใจไทยอีกวัน ด่าประชาธิปปัตย์อีกวัน หยุมหัวเพื่อไทยอีกวัน จนยกมือให้พิธาไปสองรอบก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
เพื่อไทยจึงฉีก MOU ข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาล เจอวาทกรรมตระบัดสัตย์ใส่มาไม่ยั้ง เป็นรัฐบาลได้หนึ่งปี อะไรๆ กำลังจะเข้ารูปเข้ารอย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดนสอย ได้แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมา กว่าอะไรจะเข้ารูปเข้ารอยอีกพอสมควร
แล้วจะให้ปุ๊บปั๊บฉันยอมหักไม่ยอมงอแตกหักกันไปข้าง รัฐบาลล่มหรือ
แค่คิดแบบมนุษย์ปุถุชนมีรัก โลภ โกรธ หลงแบบธรรมดาสามัญ ฉันก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องยอมหักไม่ยอมงอ ตรงกันข้ามสู้ประคับประคองรัฐบาลให้อยู่ครบวาระ ประกาศเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้โลกเห็นว่า นี่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแรกของไทยในรอบยี่สิบปีที่อยู่ครบวาระสี่ปี ไม่มีรัฐประหาร
ตอบให้ลึกซึ้งกว่านั้น ฉันตอบอาจารย์ว่า สังคมไทยบอบช้ำมามาก อนุญาตให้เราได้อยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครบสี่ปีสักครั้งเถอะ
พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่สามารถทำอะไรที่แรดิคัลได้ แต่อย่างน้อยได้ซ่อมแซมประเทศนี้ในบางเรื่องและได้ให้เวลาสังคมไทย คนไทยได้เยียวยาตัวเองจากทั้งความขัดแย้งและรัฐบาลที่ไม่ได้บริหารประเทศโดยเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง (เพราะไม่แคร์ว่าจะได้ ส.ส.กี่คนจากการเลือกตั้ง)
อย่างน้อยรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้เริ่มต้นฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่หมายถึงรายได้ของประเทศ
ได้กดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
ได้เริ่มทำรถไฟฟ้ายี่สิบบาทตลอดสาย
ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากมาตรการทางการคลังและผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากธนาคารในการกำกับดูแลของรัฐ
ได้เดินสายไปหานักลงทุนจากทั่วโลก
ได้เริ่มต้นทำงานด้านการต่างประเทศเพื่อให้ไทยมีบทบาทและมีอำนาจต่อรองกับโลกไม่ว่าจะเป็นการเข้า BRICS พร้อมๆ กับการจะเข้า OECD
ได้ประกาศว่าพร้อมเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีน อเมริกา กับอาเซียน
พร้อมมีบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยในพม่า
ฉันคิดว่า 4 ปีนี้ประเทศไทยต้องการรัฐบาลที่มาเตรียมดิน ไถพรวน ถอนหญ้า รดน้ำ ทำอ่างเก็บน้ำ
จนเมื่อเราเพาะปลูกได้จริง เริ่มเก็บผลผลิต เริ่มมีข้าวในยุ้งฉาง พักจากความขัดแย้งทางการเมือง ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยเจเนอเรชั่นของผู้คนไปพร้อมๆ กับการสร้างวัฒนธรรม “เสรีนิยม” ให้กลายเป็นปทัสถานใหม่ของสังคมไทย
วันนั้นแหละที่สังคมจะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนทางอุดมการณ์การเมืองในแบบที่หลายคนเรียกว่าภาวะที่สังคมสุกงอมแล้ว
และนี่ไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเลย
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
การให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ
สองสิ่งนี้ไม่ได้สำคัญน้อยกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และดังที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้นานมากว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมว่า หากไม่มีซึ่งวัฒนธรรมประชาธิปไตยต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญมาวิริศมาหราขนาดไหน รัฐธรรมนูญนั้นก็จะถูกฉีกโดยใบอนุญาติที่ประชาชนมอบให้กองทัพนั่นแหละ
การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพและต่อเนื่องจะเปิดโอกาสให้สังคมมีพื้นที่ในการปฏิสังขรณ์วัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านบทสนทนาในสื่อ ในละคร ในภาพยนตร์ ในเฟสติวัล ในวรรณกรรม ในอาหาร ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในงานออกแบบ
การส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ การท่องเที่ยวที่โอบรับความหลากหลายของผู้คน เช่น การบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมธุรกิจหนังสือ การสนับสนุนให้มีเทศกาลหนัง เทศกาลผี ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตยจาก “วัฒนธรรม” ทั้งสิ้น
คำตอบสุดท้ายที่ฉันตอบอาจารย์คือ ให้เรามีโอกาสอยู่กับรัฐบาลเลือกตั้งให้ครบวาระสักครั้งเถอะ และเลือกตั้งอีกครั้งและอีกครั้ง นั่นคือชะตากรรมของเราที่เราจะเลือกและเรียนรู้ด้วยตนเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022