ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร ยุคต้นสงครามเย็น (4)

ชาตรี ประกิตนนทการ

มูลนิธิเอเชีย ในยุคสงครามเย็น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คือหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนงานศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่เน้น “คุณค่าแบบโลกเสรี” ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำทางความคิดและอุดมการณ์

กรณีประเทศไทย นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนหลักของ “นิทรรศการศิลปกรรมไทย” ดังที่กล่าวถึงไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ยังมีการให้ทุนวิจัยและจัดพิมพ์หนังสือวิชาการให้แก่นักวิชาการไทยไม่น้อยในช่วงนั้น และที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลปะโดยตรงก็เช่น การให้ทุนสนับสนุนการพิมพ์และวิจัยเรื่อง “เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย” ของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของท่าน

ยังไม่นับรวมการช่วยเหลือทางวิชาการอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างไทยกับสหรัฐ ทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้ทุนนักเรียนไทยไปศึกษาในสหรัฐ ที่สำคัญคือทุน ฟูลไบร์ท-Fulbright และการให้ทุนนักวิจัยสหรัฐมาทำการศึกษาในประเทศไทย

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้วางรากฐานการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย
ที่มา : สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งหมดนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ไทยศึกษา” (Thai Studies) อย่างเป็นระบบที่ทำให้ความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ของไทยถูกวางรากฐานขึ้นบนกรอบทัศนะทางวิชาการแบบอเมริกัน โดยมีมหาวิทยาลัยคอร์แนลและ มหาวิทยาลัยอินเดียนา (มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัด “นิทรรศการศิลปกรรมไทย”) เป็นสถาบันหลักที่มีบทบาทอย่างมากในการศึกษาและวิจัยตลอดจนอิทธิพลทางความรู้และความคิดในวงวิชาการไทยในช่วงสงครามเย็น (ดูเพิ่มประเด็นนี้ใน Charles F. Keyes, “Thai Studies in the United States,” วารสารสังคมศาสตร์ 29, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560) : 19-63.)

แม้ในเวลาต่อมา (ปลายทศวรรษที่ 1960) มหาวิทยาลัยอินเดียนาจะมิได้มีบทบาทสำคัญในด้านนี้อีกต่อไปแล้ว แต่ “ไทยศึกษา” ก็ขยายตัวและลงหลักปักฐานในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยมิชิแกน, มหาวิทยาลัยฮาวายอิ, มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ เป็นต้น

แน่นอนนะครับว่า “คุณค่าแบบโลกเสรี” ดังกล่าวย่อมถูกส่งผ่านเข้ามาสู่แวดวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีของไทยในรูปแบบและวิธีการที่ไม่ต่างกัน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรหรือที่งานชิ้นนี้นิยามว่า “สำนักศิลปากร” เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ

ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่างานเขียน “สำนักศิลปากร” เสนออะไรและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองวัฒนธรรมยุคต้นสงครามเย็นอย่างไร ผมคิดว่าเราควรทำความรู้จักก่อนว่า ใครคือนักวิชาการคนสำคัญที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดของสำนักนี้เพื่อที่จะเป็นการปูพื้นก่อนที่นำไปสู่เนื้อหาต่อไป

 

จากการศึกษาของผม ขอเสนอว่า ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คือผู้นำทางความคิดที่สำคัญที่สุดของสำนักคิดนี้ พระองค์ทรงมีบทบาทไม่เฉพาะแค่ผลิตงานเขียนเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงเครือข่ายไปสู่กรมศิลปากรและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติมากมายตลอดพระชนม์ชีพ

ในทัศนะผม พระองค์คือภาพแทนที่ดีที่สุดที่สะท้อนสิ่งที่เรียกว่างานเขียน “สำนักศิลปากร”

พระองค์ทรงเป็นโอรสสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2466 เมื่อเจริญชันษาทรงเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ภายหลังสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ.2486 ทรงบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาทรงย้ายไปทำงานเป็นหัวหน้าแผนกหอสมุดดำรงราชานุภาพในกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2490

หลังจากนั้น 1 ปี เสด็จไปศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีทางเอเชียอาคเนย์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้การแนะนำของ ยอร์ช เซเดส์

พระองค์ทรงเลือกศึกษาที่ Ecole Du Louvre โดยมี Philippe Stern นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีชื่อเสียงในด้านการใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการรูปแบบและลวดลายเป็นเครื่องมือในการกำหนดอายุสมัยงานศิลปะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ซึ่งแนวทางนี้จะส่งอิทธิพลอย่างสำคัญต่องานเขียนของพระองค์และการวางรากฐานวิชาชีพประวัติศาสตร์ศิลปะในสังคมไทยในเวลาต่อมา

หลังจากสำเร็จหลักสูตร 3 ปีของ Ecole Du Louvre เสด็จไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ Institute Of Archaeology มหาวิทยาลัยลอนดอนใน พ.ศ.2494

อย่างไรก็ตาม พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2496 ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

โดยทรงได้รับการบรรจุทำงานในกรมศิลปากร ในตำแหน่งภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่าง พ.ศ.2496-2507

ในช่วงเวลานี้ ทรงรับหน้าที่ในการออกแบบจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา พ.ศ.2500, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พ.ศ.2504 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง พ.ศ.2507, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง พ.ศ.2509, การปรับปรุงการจัดแสดงครั้งใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อ พ.ศ.2510 เป็นต้น

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดแสดง “นิทรรศการศิลปกรรมไทย” ร่วมกับมหาวิทยาลัยอินเดียนาในปี พ.ศ.2503

 

นอกจากงานในฐานะภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากร ในบทบาทอาจารย์และนักวิชาการก็มีมากเช่นกัน โดยทรงช่วยวางรากฐานการสอนทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีขึ้นในโรงเรียนศิลปศึกษาของกรมศิลปากรร่วมกับ ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ขยายไปสู่การจัดตั้งคณะโบราณคดีขึ้นใน พ.ศ.2498 อันเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความเป็นวิชาชีพประวัติศาสตร์ศิลปะในสังคมไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2507 ที่ทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี (ทรงดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง 11 ปี) ในช่วงเวลานี้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันการเรียนการสอนทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้มีระบบแบบแผนทางวิชาการสมัยใหม่และก่อตั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและหลักสูตรประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นในปี พ.ศ.2517 ซึ่งทำให้มีนักศึกษาในสาขาวิชานี้โดยตรงเป็นครั้งแรก

และภายในเวลาไม่นานวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ขยายไปยังมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งจนกลายเป็นวิชาชีพจนถึงปัจจุบัน

งานเขียนทางวิชาการยุคแรกของ ม.จ.สุภัทรดิศ ภายหลังจากที่ทรงโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดีสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนที่จะวางรากฐานสาขาวิชานี้ให้เป็นศาสตร์ที่มีมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า การวางรากฐานวิชาโบราณคดีให้เป็นศาสตร์อาจเริ่มก่อนหน้านั้นเล็กน้อยแล้วโดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากงานเขียนของท่านเรื่อง “นิเทศแห่งวิชาโบราณคดี” แต่หากพิจารณาอย่างจริงจังแล้วก็ต้องถือว่าการวางรากฐานอย่างเป็นวิชาการนั้นเริ่มโดย ม.จ.สุภัทรดิศ เป็นต้นมา

 

งานเขียนชิ้นที่น่าสนใจของพระองค์คือ บทความที่ทรงนิยามความหมายของวิชาโบราณคดี โดยทรงอ้างอิงหนังสือของ Stuart Piggott เรื่อง Approach to archaeology โดยทรงแปลเนื้อหาบางส่วนในบทแรกที่ว่าด้วย “ระเบียบวินัยแห่งวิชาโบราณคดี” (The Discipline of Archaeology) มาเผยแพร่แก่นักศึกษา

เนื้อส่วนนี้เป็นการนิยามวิชาโบราณคดีว่าเป็นแขนงหนึ่งของสาขาวิชาประวัติศาตร์ที่มีระเบียบวิธีศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด

ห่างกันไม่นาน ทรงมีพระนิพนธ์ “หลักการค้นคว้าวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์” ในวารสาร “โบราณคดี” ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ.2509 โดยในบทความทรงจำแนกหลักฐานชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีออกเป็น 3 อันดับตามความน่าเชื่อถือ

ลักฐานอันดับแรก ที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ โบราณวัตถุสถาน จารึก และจดหมายเหตุ ที่สร้างหรือเขียนขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้นๆ

อันดับสองคือ ตำนานหรือจดหมายเหตุพื้นเมืองต่างๆ ที่แต่งขึ้นหลังเหตุการณ์หลายร้อยปีที่มีความน่าเชื่อถือน้อยลง

อันดับสามคือ สิ่งที่น่าเชื่อถือน้อยสุด ได้แก่ หนังสือต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยปัจจุบัน โดยในแต่ละประเภททรงอธิบายในรายละเอียดด้วยว่าควรใช้หลักฐานเหล่านี้อย่างไร

บทความทั้งสองชิ้นนี้คืองานเขียนนำร่องที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นวิชาชีพและวิชาการของศาสตร์ด้านนี้ในสังคมไทย

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นผู้นำในการใช้ทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่ทันสมัยในโลกวิชาการขณะนั้นเข้ามาเป็นเครื่องมือในการศึกษาอย่างใหม่

โดยทฤษฎีสำคัญของสำนักนี้คือ “ทฤษฎีวิวัฒนาการรูปแบบและลวดลาย” ของ Philippe Stern อดีตภัณฑารักษ์ที่ Guimet Museum และศาสตราจารย์ที่ Ecole Du Louvre ซึ่งเป็นวิธีการพิจารณาวิวัฒนาการของลวดลายหลายชนิดโดยนำมาเทียบเคียงทดสอบกันลวดลายแบบใดควรมาก่อนลวดลายใดมาทีหลังจนทุกอย่างถูกต้องสอดคล้องกัน

จากนั้นก็นำสายวิวัฒนาการที่วิเคราะห์ดังกล่าวไปเทียบเคียงเข้ากับลวดลายที่ทราบอายุสมัยที่ชัดเจนในจารึกหรือจดหมายเหตุที่เชื่อถือได้ก็จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์อายุสมัยของลวดลายอื่นที่ไม่มีจารึกระบุเอาไว้ได้อย่างน่าเชื่อถือ

ซึ่งวิธีการนี้ Philippe Stern ได้นำไปใช้จนสามารถปรับเปลี่ยนอายุเวลาของศิลปะขอม, จาม และศิลปะอมราวดีของอินเดียได้อย่างถูกต้องมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในระดับสากลในฐานะที่เป็นกระบวนการวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ

ม.จ.สุภัทรดิศ ได้ทรงนำแนวทางการศึกษานี้มาสอนให้แก่นักศึกษาศิลปากรและทดลองใช้ในการวิเคราะห์จัดแบ่งยุคสมัยให้แก่เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย (ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของงานเขียนสำนักศิลปากร