สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [2] กษัตริย์เริ่มแรกของสุวรรณภูมิ

ชุมชนหมู่บ้านขยายตัวเป็นชุมชนเมืองใหญ่โต เมื่อแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปเป็นชุมทางการค้าระยะไกลทางทะเล แล้วถูกพ่อค้านักเสี่ยงโชคอินเดีย เรียกสุวรรณภูมิ (แปลว่าแผ่นดินทองแดง)

เมืองใหญ่ของสุวรรณภูมิเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีหญิง “หมอมด” ได้รับการยกย่องเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) มีอำนาจเหนือชาย

หลังติดต่อพ่อค้านักเสี่ยงโชคชาวอินเดียเป็นช่วงเวลานานมาก ทำให้หัวหน้าเผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองรู้จักวัฒนธรรมอินเดียที่แผ่ถึงสุวรรณภูมิ จึงเลือกรับวัฒนธรรมอินเดียตามที่ต้องการ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองการปกครองของตน ได้แก่ รับศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ มาผสมกลมกลืนกับศาสนาผีที่มีอยู่แล้ว ทำให้เป็นศาสนาอย่างใหม่ที่ต่างจากพราหมณ์กับพุทธในอินเดีย (เรียกต่อมาว่าผี-พราหมณ์-พุทธ หรือศาสนาไทย) ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ศาสนาจากอินเดีย มีพลังอำนาจยกฐานะหัวหน้าเผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองให้ศักดิ์สิทธิ์กว่าเก่าด้วยชื่อเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียว่า “ราชา” หรือ “กษัตริย์”

 

เจ้าแม่, เจ้าพ่อกับลูกน้อง การปกครองสมัยเริ่มแรก

การปกครองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมมีลักษณะความสัมพันธ์แบบที่เรียกสมัยหลังๆ ว่า เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้อง หากมีการแข็งข้อต้องกําราบปราบปรามจนถึงขั้นกวาดล้างเทครัวไปเป็นข้าไพร่ ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียได้รับยกย่องเป็นราชาหรือกษัตริย์ แต่ลักษณะความสัมพันธ์แบบเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้องยังสืบเนื่องต่อมาอีกนาน

กษัตริย์มีลักษณะแบบเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ให้การอุปถัมภ์ลูกน้องนักเลงหรือบรรดาเจ้าเมืองตามหัวเมือง ที่ตราบใดยังคงค้อมหัวเก็บส่วยส่งหัวคิวให้ เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ศูนย์กลางก็จะยังให้การอุปถัมภ์อยู่ต่อไป ในทางกลับกันบรรดาเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อตามหัวเมืองก็จะยอมรับส่งส่วยให้ศูนย์อยู่ตราบใดที่เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ศูนย์กลางยังให้การยอมรับเกียรติยศและคุ้มกะลาหัวจากการรังแกของเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อจากรัฐใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อใดเกิดคิดแข็งข้อตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ส่งส่วยอีกแล้ว หรือคิดจะไปยอมรับเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่อยู่ในศูนย์อํานาจอีกแห่งหนึ่ง เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือรัฐส่วนกลางก็จะหาทางกําจัดกวาดล้างไป หรือถ้ากวาดล้างก็ไม่ได้ แย่งเอามาก็ไม่ได้ อีกฝ่ายก็แย่งไปอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ก็จะเกิดลักษณะความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่บรรดาเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือนักเลงเล็กๆ ตามหัวเมืองต้องอยู่ในภาวะยอมสยบให้กับเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ส่วนกลางมากกว่าหนึ่งศูนย์อํานาจขึ้นไป หรือเรียกกันว่าเมืองสองฝ่ายฟ้าหรือเมืองสามฝ่ายฟ้า

[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียฯ โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2555 หน้า 19]

 

บ้านพี่บ้านน้อง

เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้องเป็นต้นตอระบบความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง (หรือเครือญาติอุปถัมภ์) รัฐหนึ่งเมื่อชนะสงครามก็เทครัวกวาดต้อนผู้คนและเลือกสรรสิ่งของมีค่าอื่นๆ จากรัฐแพ้สงครามกลับไปรัฐของตน โดยเหลือไว้บ้างให้รัฐแพ้สงครามปกครองดูแลกันเองต่อไปแล้วอยู่ในอํานาจอุปถัมภ์ตามเงื่อนไขของรัฐชนะสงคราม นับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (โดยไม่ส่งคนไว้ใจไปเป็นเจ้านายปกครองดูแลเมืองขึ้นตามที่บอกไว้ในประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม)

[คําว่าพี่น้องหมายถึงเครือญาติอย่างไม่เจาะจงจะให้คนหนึ่งเป็นพี่ อีกคนหนึ่งเป็นน้อง ดังนั้น บ้านพี่เมืองน้องจึงมีความหมายกว้างๆ ว่าบ้านเมืองเครือญาติอย่างไม่เจาะจงว่าบ้านเมืองไหนเป็นพี่หรือเป็นน้อง เว้นเสียแต่จะเป็นที่ยอมรับยกย่องนับถือกันเอง ดังมีภาษาปากในสมัยหลังเรียกผู้เป็นใหญ่ว่าเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือลูกพี่ แล้วเรียกบริวารว่าลูกน้อง]

แนวคิดประวัติศาสตร์อย่างนี้มาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนน้อย แต่พื้นที่มาก จึงต้องการผู้คนเพิ่มเติมโดยการทําสงครามเทครัวเชลยจากรัฐอื่น

สัญลักษณ์ของอำนาจผู้เป็นใหญ่ที่หัวหน้าเผ่าพันธุ์สุวรรณภูมิรับจากอินเดีย เช่น หวีทำด้วยงา มีลายจำหลักเป็นรูปต่างกัน 2 ด้าน อายุ 1,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1000 (ด้านหนึ่ง) แนวบนสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ แนวล่างรูปม้า (อีกด้านหนึ่ง) รูปหงส์  [ขุดพบที่เมืองจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เมื่อ 56 ปีที่แล้ว พ.ศ.2511]
รัฐของบ้านพี่เมืองน้อง

ไม่มีกําหนดกฎเกณฑ์ตายตัว (ต่างจากประวัติศาสตร์เมืองขึ้นแบบอาณานิคม) ดังนี้

(1.) พลเมืองเป็นชนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากการเทครัวกวาดต้อน และอื่นๆ (2.) ภาษามีหลากหลาย อักษรมีเฉพาะคนชั้นสูง (3.) ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต เพราะขอบเขตของรัฐไม่แน่นอน ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับอาณาบารมีของผู้นําแต่ละคนและเป็นครั้งคราว

เปรียบเทียบแบบอาณานิคมเป็นประวัติศาสตร์เมืองขึ้น (อย่างเดียวกับประวัติศาสตร์ยุโรป) กล่าวคือ รัฐหนึ่งเมื่อชนะสงครามก็ต้องส่งคนที่ไว้ใจไปเป็นเจ้านายปกครองดินแดนและผู้คนอีกรัฐหนึ่งที่แพ้สงครามแล้วต้องตกเป็นเมืองขึ้น มีผู้รู้อธิบายว่ามาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนมาก แต่พื้นที่น้อย จึงต้องการขยายพื้นที่โดยทําสงครามยึดดินแดนรัฐอื่นๆ โดยกําหนดลักษณะแต่ละรัฐอย่างกว้างๆ พอสังเขปไว้ดังนี้

(1.) พลเมืองมีชนเชื้อชาติเดียวกัน (2.) ภาษาและอักษรมีอย่างเดียวกัน (3.) เส้นกั้นอาณาเขตมีกําหนดขอบเขตตายตัว

 

เทครัวกวาดต้อน “ร้อยพ่อพันแม่”

อุษาคเนย์โบราณมีพื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนไม่มาก พบการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองกระจัดกระจายห่างๆ จนถึงห่างไกลกันมากจึงมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจํานวนมาก ด้วยเหตุนี้เองความขัดแย้งสมัยหลังๆ จนเป็นสงครามทําให้ฝ่ายชนะกวาดต้อนเทครัวฝ่ายแพ้เป็นแรงงาน เรียกเชลย, ข้า, ไพร่, ทาส

นอกจากฝ่ายชนะได้แรงงานมากขึ้นไปบุกเบิกหักร้างถางพงพื้นที่ว่างเปล่าเป็นชุมชนและไร่นาแล้ว ยังเกิดการประสมประสานของคนหลากหลายชาติพันธุ์

ดังนั้น ประชากรในอุษาคเนย์ (และในไทย) เป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” (ไม่มีชาติพันธุ์แท้ สายเลือดบริสุทธิ์) และเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนพูดได้มากกว่า 1 ภาษา หรือหลายภาษา ทำให้ภาษาพูดปนกันจนแยกชัดเจนไม่ได้ เช่น ภาษาพูดของไทยมีคําจากหลายตระกูลอยู่ปนกัน แล้วรวมเรียกภาษาไทย

 

ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต

อุษาคเนย์โบราณไม่มีใครให้ความสําคัญเรื่องดินแดน เพราะคนน้อย พื้นที่มาก จะเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปตั้งหลักแหล่งตรงไหน? เมื่อไร? ก็ได้ จึงไม่มีชายแดน ไม่มีพรมแดนของใครของมัน ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่ชุมชนรอบในหนาแน่นกับรอบนอกไม่หนาแน่นจนถึงเบาบางห่างๆ กัน ยิ่งออกไปไกลๆ ก็ยิ่งเบาบางจนหายไปเลย

เมื่อเติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐในสมัยหลังๆ ก็ไม่มีชายแดน เพราะไม่มีเขตแดนแน่นอน ความรู้เรื่องชายแดนเริ่มมีเมื่อเป็น “รัฐชาติ” (รับจากตะวันตก) ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ