เผยแพร่ |
---|
สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
ฝ่าพายุชาตินิยม “วนขวา”
หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง หลายฝ่ายเชื่อว่า กระแสโลกเอียงขวา มาแน่
แต่ กระแสนี้ จะส่งผลต่อนานาประเทศรวมถึงไทย ให้เกิดภาวะเอียงขวา เข้มข้น มากเพียงใดยังคาดการลำบาก
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้ม จะเอียงขวาตามกระแสของทรัมป์ อยู่ไม่น้อย
แน่นอนรวมถึงไทยด้วย ที่ตอนนี้ ปีกอนุรักษ์นิยม หยิบประเด็น “ชาตินิยม”ขึ้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อสะกัดฝ่ายตรงข้าม อย่างคึกคัก
ซึ่งในอนาคตอันใกล้ หากมีกระแสโลกเอียงขวา จากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ มาเกื้อหนุน
กระแสเอียงขวาในไทยก็มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นได้
เรื่อง “ผู้อพยพ”ในนามของแรงงานต่างด้าวในไทย อาจร้อนแรงขึ้น
เช่นเดียวกับ สิ่งที่ร้อนตั้งแต่ตอนนี้ นั่นก็คือเรื่อง พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ก็น่าจะทวีความร้อนขึ้นอีกหลายดีกรี
หากควบคุมไม่ดี อาจจะทะลุจุดเดือดได้
เพราะทั้งไทยและกัมพูชา สะสมประเด็นขัดแย้งด้าน”ชาตินิยม”เอาไว้เต็มไปหมด
โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ปรากฏปมที่นำไปสู่ความเกลียดชังมากมาย
เป็นเงื่อนไข ที่พร้อมจะเป็น”เชื้อ”ให้ไฟลุกโพลง ขึ้นได้ง่ายๆ
บทเรียน ความเข้าใจผิดเรื่อง”ดารา”นำไปสู่การเผาสถานทูตไทยในกันพูชา ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
ซึ่งก็ถือเป็นสัญญาณดี ในกรณี พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร พยายามขับเคลื่อน ให้เป็น”เอกภาพ”
โดย ก่อนที่น.ส.แพรทองธาร จะออกมายืนยันนโยบายเรือธง ที่จะเดินหน้าเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้กรอบเอ็มโอยู 44 นั้น
ได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมาทำ “ความเข้าใจร่วมกัน” เสียก่อน
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างพรรคต่างความเห็น เหมือนในหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลผสมชุดนี้ ไม่ว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษกรรม เป็นต้น
ความไม่เป็นเอกภาพนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่มากด้วยความละเอียดอ่อน
และยิ่งมีเรื่อง”ชาตินิยม”เข้ามาเกี่ยวข้อง ปมขัดแย้งถูกขยายให้ใหญ่โตได้โดยง่าย
การที่น.ส.แพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี แถลงจุดยืนเรื่องนี้ โดยมีแกนนำพรรคร่วมทุกพรรค ยืนเป็นกำแพงสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ต้องถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ที่จะบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน
พร้อมกันนั้น การที่กระทรวงต่างประเทศ ให้ข้าราชการที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ออกมาแถลงให้ ข้อมูล-ข้อเท็จจริง เสริม
ทำให้ “ฝ่ายนโยบาย” หรือ ฝ่ายการเมือง ที่จะขับเคลื่อนนโยบายเรือธง ดังกล่าว มีเหตุผลสนับสนุนที่เข้มแข็งขึ้น
และช่วยคานกับกระแสจากฝ่ายต่อต้านได้อย่างมีน้ำหนัก
ซึ่งเมื่อรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ตั้งลำ ได้ค่อนข้างดีแล้ว
จากนี้ คงต้องติดตาม การขับเคลื่อน โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือเจทีซี ซึ่งคาดว่าจะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
จะเลือกเฟ้น ตัวแทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงต่างประเทศกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฏีกา สภาพันฒาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เหมาะสม น่าเชื่อถือ เข้ามาทำงาน
ระมัดระวังไม่ให้ภาพ หรือมีตัวแทนผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง
เพื่อให้การขับเคลื่อนกรณี พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยแท้จริง
หากทำได้จริง เชื่อว่าจะฟันฝ่าพายุชาตินิยม “วนขวา”ได้
————–