ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Abraham Poincheval ศิลปินผู้ย่างก้าวบนเมฆ
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับโลกอีกคน ที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อับราฮัม พอยน์เชวาล (Abraham Poincheval) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้ทำงานศิลปะอันสุดแสนจะท้าทายและยากลำบาก ราวกับเป็นนักสำรวจผู้ไม่เคยย่อท้อ ผลงานของเขาเป็นการหลอมรวมของศิลปะแสดงสดอันเต็มไปด้วยความอดทน มุ่งมั่น และประติมากรรมที่สามารถอยู่อาศัยได้ ราวกับเป็นห้องทดลองที่ช่วยให้เขาสัมผัสกับเวลา การกักขังตัวเอง และการหยุดการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเข้มข้น
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Pierre (Stone) (2017) ที่เขากักขังตัวเองอยู่ภายในก้อนหินปูนขนาดใหญ่ ที่มีช่องว่างภายในขนาดพอดีตัวของเขาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยไม่ออกไปไหนเลย
“สำหรับผม ผมสนใจในการค้นหาความเป็นไปได้อันมากมายในการทำงานศิลปะ ในช่วงเริ่มต้น ผมทำงานศิลปะแสดงสด ด้วยการเดินทางเคลื่อนไหวไปตามที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ”
“ต่อมาผมเริ่มทำงานที่ไม่เคลื่อนไหว และหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แรกเริ่ม ผมทำงานในห้องสมุด โดยผมเข้าไปอาศัยอยู่ภายในก้อนหินหนัก 1 ตัน ที่แกะสลักช่องว่างให้เท่ากับตัวผม เป็นเวลา 7 วัน ตอนแรกผมคิดว่ามันจะน่าเบื่อ ในการอยู่ในก้อนหินนิ่งๆ ไม่ขยับตัวทั้งวันทั้งคืน แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่และแปลกประหลาดมาก เหมือนเป็นการเดินทางภายในตัวผมเอง และการเดินทางภายในก้อนหิน หรือแม้แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง”
“มีคนมากมายเดินทางมาพูดคุยกับผมซึ่งอยู่ในก้อนหิน ซึ่งอันที่จริงก็เหมือนเขาคุยกับก้อนหินนั่นแหละนะ สิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับงานชิ้นนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับวัสดุธรรมชาติอย่างก้อนหิน สำหรับผม การใช้ชีวิตอยู่ในก้อนหินก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินทาง หรือการวาดภาพนั่นเอง”



การทำงานในลักษณะนี้ของพอยน์เชวาล ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานศิลปะแสดงสดระยะยาว (Long durational performance) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของศิลปินศิลปะแสดงสดตัวแม่อย่าง มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) ไม่ได้ ซึ่งพอยน์เชวาลเองก็กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างเขากับอบราโมวิชว่า
“ตอนผมเป็นนักเรียน ผมมีโอกาสเป็นผู้ช่วยของมารินา อบราโมวิช ในการจัดเตรียมนิทรรศการของเธอ ตอนที่ผู้อำนวยการหอศิลป์แนะนำผมให้รู้จักมารินา อบราโมวิช ผมยังไม่รู้จักเธอ ผมต้องตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอ เราสนิทกันเร็วมาก และเธอเป็นคนที่น่าทึ่งมาก การได้ทำงานร่วมกับเธอเป็นอะไรที่เหลือเชื่อมากสำหรับผม ผมมีความสุขมาก แทนที่จะต้องทำงานกับเธอหนึ่งเดือน ไปๆ มาๆ ผมเลยทำกับเธอไปถึงหนึ่งปี”
“ตอนสมัยเรียน ผมไม่ค่อยทำงานศิลปะแสดงสดนัก แต่ทีละเล็กทีละน้อย ผมก็เริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับการทำงานศิลปะแสดงสดขึ้นมา เหตุผลที่ผมเริ่มต้นทำงานศิลปะแสดงสดก็เพราะตอนเรียนจบ ผมค่อนข้างยากจน ไม่มีเงินเช่าสตูดิโอทำงาน ไม่มีเงินซื้อสีซื้ออุปกรณ์ทำงานศิลปะ ผมเห็นเพื่อนเริ่มต้นเป็นศิลปิน แล้วผมจะทำอะไรดีล่ะ? ต่อมาผมก็มาคิดได้ว่า โอเค ถึงแม้ผมจะไม่มีเงิน ไม่มีปัญญาเช่าสตูดิโอทำงาน แต่ผมมีร่างกาย ร่างกายของผมก็เป็นสตูดิโอได้เหมือนกัน ผมสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยร่างกายของผม”
“ผมคิดว่าผมสามารถใช้ร่างกายของผมทำการทดลองทางศิลปะได้ ผมก็ค่อยๆ เริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นโครงการต่างๆ ขึ้นมา”


ไม่ว่าจะเป็นผลงานสร้างชื่ออีกชิ้นของเขาอย่าง La Bouteille (The Bottle) (2024) ที่เขาทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการขังตัวเองอยู่ขวดขนาดยักษ์ที่ล่องไปตามคลอง Canal de l’Ourcq ในกรุงปารีสในช่วงเวลาการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024
“ผมใช้เวลาอยู่ในขวดที่ล่องไปในน้ำเป็นเวลาสิบวัน ผมชอบแนวคิดที่คุณเจอขวดบรรจุข้อความเอาไว้ ล่องลอยอยู่ในสายน้ำ มันเป็นข้อความที่ทรงพลังมากที่ผู้คนสามารถเห็นคุณอยู่ภายในขวดทั้งวันทั้งคืนในทุกวัน ไม่ต่างอะไรกับโซเชียลมีเดีย สำหรับผม นี่เป็นแนวคิดแรกของการสื่อสารระหว่างผู้คน เหมือนเราเอาจดหมายใส่ขวดแล้วปล่อยให้ลอยไปกับทะเล เวลามีคนถามผมว่า ผลงานชิ้นนี้สื่อสารถึงอะไร ผมตอบเขาว่า ผมไม่รู้หรอกว่ามันสื่อสารอะไร เพราะพวกคุณต่างหากที่เป็นคนรับสารนั้น ผมชอบแนวคิดของการที่บางคนสร้างเรื่องราวขึ้นมาด้วยตัวเอง เหมือนเวลาที่คุณไปกินอาหารเย็นกับเพื่อนหรือครอบครัวของคุณ แล้วคุณคุยกับพวกเขาว่า รู้ไหม ฉันเห็นผู้ชายคนหนึ่งอยู่ในขวด มันเป็นอะไรที่บ้ามากสำหรับทุกคน เมื่อทุกคนได้ยินคุณเล่า สมองของพวกเขาก็จะสร้างภาพผู้ชายในขวดของตัวเองขึ้นมา”


หรือผลงานเด่นของเขาอีกชิ้นอย่าง Œuf (Egg) (2017) ที่เขาทำการแสดงสดด้วยการนั่งกกไข่แทนแม่ไก่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้ไข่ไก่ฟักออกมาเป็นตัวในพื้นที่แสดงงาน Palais de Tokyo ในกรุงปารีส
“ในงานชิ้นนี้ ผมทำหน้าที่เป็นเหมือนแม่ไก่ฟักไข่ ในช่วงเวลา 21 วัน นั่งกกไข่ไก่ให้ฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งเป็นงานที่ยากมากสำหรับผม ผมต้องนั่งฟักไข่ทั้งวันทั้งคืน ผมต้องคอยดูแลไข่ ว่าทุกอย่างโอเคไหม เพราะผมต้องรับผิดชอบชีวิตในมือของผม ในที่สุดผมก็สามารถฟักลูกไก่ได้ 9 ตัว จากไข่ 10 ฟอง มันน่าทึ่งมาก ตอนแรกผมคิดว่าถ้าลูกไก่สามารถฟักออกมาจากไข่ได้แค่เพียงตัวเดียวก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับได้มากกว่านั้น ก็ถือว่าผมเป็นแม่ไก่ที่ดีพอสมควรน่ะนะ”
“ระหว่างการทำแสดงสด มีผู้ชมบางคนมาชมผมหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นอะไรที่ประหลาดมากที่คนจะมาชมกิจกรรมที่ไม่น่าสนใจแบบนี้ ผู้ชมบางคนบอกผมว่าเขามีความสุขมาก บางครั้งผู้ชมบางคนกลับมาชมการแสดงสดอีกครั้ง เขาบอกผมว่า เวลาที่เขาเศร้ามากๆ เขาจะมาชมงานชินนี้ของผม เพราะมันทำให้เขามีความสุขมาก มีครั้งหนึ่ง เวลาที่ไก่ฟักออกมาเป็นตัวพร้อมๆ กัน แล้วผมได้ยินเสียงร้องของพวกมัน มันเป็นอะไรที่ทรงพลังมาก ผมสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ และการทำความเข้าใจระบบชีวิตในโลกนี้ ผมคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก”


หรือผลงานที่สร้างชื่อให้เขาที่สุดอย่าง Walk on Clouds (2019) ที่เขาทำศิลปะแสดงสดด้วยการเหยียบย่างไปบนก้อนเมฆบนท้องฟ้าเหนือภูมิประเทศของประเทศกาบอง ในแอฟริกากลาง ซึ่งผลงานชิ้นนี้นี่แหละ ที่ถูกนำมาแสดงในรูปของวิดีโอแสดงสดในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในคราวนี้ด้วย
“ผมใช้เวลาทำงานชิ้นนี้เป็นเวลา 10 วัน เดิมทีตอนผมนำเสนอผลงานชุดนี้ให้ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการหอศิลป์ ผมบอกพวกเขาว่า ผมจะทำงานที่เจ๋งมากๆ ชิ้นหนึ่ง คือผมจะเดินบนเมฆ พวกเขาหัวเราะแล้วบอกกับผมว่า เยี่ยมมากอับราฮัม ยินดีที่ได้พบกันนะ บ๊ายบาย (หัวเราะ) ผมคิดว่า ทำไมพวกคุณไม่คิดว่ามันเป็นไปได้ล่ะ? หลังจากนั้นอีกหลายวัน ผมก็ไปเจอคนอีกหลายคน เพื่อนำเสนอโครงการนี้ ผมได้เจอกับภัณฑารักษ์ของ Palais de Tokyo กับ Lyon Biennale อย่าง ฌอง เดอ โลซี (Jean de Loisy) และ อะดิเลเดอ บลอง (Ad?la?de Blanc) พวกเขาบอกว่า โอเค พวกเราจะทำโครงการของคุณ ถึงแม้มันจะฟังดูบ้า และไม่น่าเป็นไปได้”
“งานชิ้นนี้ไม่ง่ายเลย เพราะมันเป็นโครงการที่มีราคาแพงมาก และในตอนเริ่มต้นเราก็ไม่มีเงินมากนัก แต่ ฌอง เดอ โลซี เป็นคนที่ฉลาดมาก เขาแนะนำให้ผมไปติดต่อคนโน้นคนนี้หลายคน จนเราได้เงินทุนมาทำงานจนได้ ความยากอีกอย่างของงานนี้คือ การขออนุญาตทำการบินในฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องยากและซับซ้อนมากๆ เราเลยต้องเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา ที่ประเทศกาบองแทน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยม และมีทิวทัศน์ที่งดงามมากๆ เราทำการบินด้วยการใช้บอลลูนอากาศร้อน เราต้องซ้อมกันเยอะมาก เพราะเราเจอปัญหาเยอะมากๆ ทั้งลมที่แรงมาก ผมอาจจะถูกพัดเข้าป่า และทำให้ต้นไม้เสียหายได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ผมใช้เวลา 4 ชั่วโมงบนท้องฟ้าทุกวัน แต่ใช้เวลาเตรียมตัวถึง 80 ชั่วโมงก่อนที่จะขึ้นบิน”
“เวลาบินอยู่บนท้องฟ้า ผมอยากทำสิ่งที่เป็นธรรมชาติ อย่างการดื่มกาแฟ เหมือนที่คุณทำตอนที่ตื่นมาตอนเช้า หรือเล่นดนตรี (เป่าหีบเพลงปาก) มันเป็นอะไรที่วิเศษมาก เวลาที่คุณบินผ่านป่า ได้ยินเสียงของสรรพสัตว์ต่างๆ จนทำให้คุณต้องเล่นดนตรีไปด้วย”


เราอดคิดไม่ได้ว่าผลงานศิลปะแสดงสดของพอยน์เชวาล นั้นไม่ต่างอะไรกับมารินา อบราโมวิช ในการข้ามขีดจำกัดและผลักพรมแดนและข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์นั่นเอง
“ผมคิดว่ามนุษย์เราต่างมีประตูอยู่ในตัวเอง ในชีวิตปกติของคุณ เรามีชีวิตอยู่ภายในตัวเอง การข้ามขีดจำกัดคือกุญแจที่ไขเปิดประตูที่ว่านี้ และมองออกไปข้างนอกตัวเอง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตอนแรกคุณอาจคิดว่ามันอาจเป็นอะไรที่อันตราย และไม่มีทางเป็นไปได้ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคุณยึดติดอยู่กับพื้นที่เดิมๆ แน่นอนว่าคุณต้องรู้สึกหวาดกลัว เมื่อมองออกไปข้างนอก แต่เมื่อคุณเปิดประตูออกไปพบแสงอาทิตย์ส่องสว่าง ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ความสัมพันธ์ใหม่ คุณจะรู้สึกว่ามันคุ้มค่า”
“ผมต้องการให้ผู้ชมสัมผัสถึงประสบการณ์แบบเดียวกับผม เวลาที่ผมเดินอยู่บนท้องฟ้า เพราะผมคิดว่าการเดินเหยียบเมฆบนท้องฟ้านั้นเป็นความฝันของคนทุกคน ไม่ใช่แค่ความฝันของผมเพียงคนเดียว ผมว่าทุกคนต้องเคยจินตนาการถึงการโบยบินไปบนท้องฟ้า พิสูจน์ได้ทั้งจากนิทานปรัมปรา ตำนานเทพปรกณัม ต่างๆ ที่เราเคยอ่านมา”
“สำหรับผม การเปิดประตูออกจากตัวเองไม่ใช่การหลบหนีออกจากตัวเอง แต่เป็นการค้นหาความเป็นจริง ไม่ต่างอะไรกับการจาริกแสวงบุญ การทำงานศิลปะของผมคือการเดินทางก้าวออกไปพบสิ่งที่แตกต่างในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตเช่นกัน”
ผลงาน Walk on Clouds ของ อับราฮัม พอยน์เชวาล จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พื้นที่แสดงงาน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น B2 เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น ปิดทำการวันจันทร์ (เข้าชมฟรี) ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพจาก ศิลปิน อับราฮัม พอยน์เชวาล, BAB2024 •
ป.ล. วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ ขอเชิญร่วมทัวร์เทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กับ MATICHON HOLIDAY TRIP SERIES BKK Art Biennale Trip นำชมตลอดทริปโดยผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สนใจสำรองที่นั่งที่ LINE โดยคลิก line.me/ti/p/zM-t9v3Y9w หรือค้นหาด้วย LINE ID : Matichonmic, สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ : คุณหญิง (09-2246-4140)
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022