เหรียญหลวงพ่อเพชรรุ่นแรก วัดไทรโยค สมุทรสงคราม พระเกจิชื่อดังลุ่มน้ำแม่กลอง

“หลวงพ่อเพชร ปัญญาวชิโร” หรือ “พระอธิการเพชร” วัดไทรโยค ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เจ้าของอมตวาจา “อยากได้ไปหยิบเอา” พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าลุ่มน้ำแม่กลอง

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียง คือ “เหรียญรุ่นแรก”

จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2482 ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย รูปใบสาเกแบบมีหูในตัว ไม่ได้จดบันทึกจำนวนไว้

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือน นั่งเต็มรูป ด้านบนรูปเหมือนเป็นอักขระขอม อ่านได้ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา” ด้านล่างรูปเหมือนเป็นอักษรไทยว่า “หลวงพ่อวัดไทรโยค ปุญฺญชรเพ็ชร พ.ศ.๒๔๘๒”

ด้านหลัง แกะเป็นลวดลายมณฑปครอบ บรรจุอักขระขอมว่า “อะระหัง ติตัง วิปัสสนา นิพพานัง อาระ ราโหติ”

ในการปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ นิมนต์พระเกจิอาจารย์ดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นประธานในพิธี, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่ออ่วม วัดไทร, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ, หลวงพ่อเลี้ยง วัดเกาะใหญ่, หลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ, หลวงพ่ออาน วัดกลางบางแขยง และหลวงพ่อเหรียญ วัดลาดหญ้า เข้าร่วมปลุกเสก

สร้างขึ้นหลังหลวงพ่อเพชรมรณภาพไปแล้วกว่า 10 ปี เมื่อคราวหล่อรูปเหมือนขนาดเท่าจริงไว้เป็นที่สักการะ สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว สำหรับเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมทำบุญในงานดังกล่าว

ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหาอย่างยิ่ง

เหรียญหลวงพ่อเพชร รุ่นแรก

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 12 ปีชวด ตรงกับ พ.ศ.2395 ที่บ้านวัดกลาง ต.บางแขยง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

เมื่ออายุ 13 ปี บรรพชาที่วัดกลางใต้ ต.ไทรโยค (ต.บางกุ้งในปัจจุบัน) อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

ศึกษาเล่าเรียนวิชากับพระอธิการดอน เจ้าอาวาส เป็นระยะเวลา 1 พรรษา จากนั้นจึงไปเรียนพระปิยัติธรรมกับพระมหาขำ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ

ครั้นมีอายุครบ 20 ปี กลับมาอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดกลางใต้ เมื่อวันอังคารขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2415 มีพระอธิการกลัด วัดบางพรหม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเที่ยง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการนุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดกลางใต้ เป็นเวลา 2 พรรษา จากนั้นได้ติดตามพระอธิการเที่ยง ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามจีน (วัดตรีจินดาวัฒนาราม) แต่อยู่ได้ไม่นานนัก ก็กราบลาเดินทางเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ยังสำนักเดิม คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

จนเมื่อพระอธิการเที่ยงมรณภาพ จึงเดินทางกลับมาร่วมงานฌาปนกิจ ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงาม ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงนิมนต์ให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2435

หลวงพ่อเพชร ปัญญาวชิโร

วัดไทรโยค เดิมชื่อว่า “วัดสามจีน” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ด้านข้างติดปากคลองไทรโยค อีกด้านของวัดติดริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง และด้วยเหตุที่ตั้งวัดอยู่ตรงบริเวณปากคลองไทรโยค ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดไทรโยค”

เหตุที่ชื่อว่าวัดสามจีนด้วยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เป็นวัดที่ชาวจีน 3 คนพี่น้องได้สร้างถวายในบวรพุทธศาสนา มีประวัติความเป็นมาว่าไว้ว่า มีชาวจีน 4 คนพี่น้อง เกิดที่เมืองเจียงจิวฮู้ มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน

เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต จึงได้ลงเรือสำเภาเดินทางเข้ามาเมืองไทยเพื่อหางานทำ เมื่อแรกมาถึงนั้นได้อาศัยวัดเป็นที่พักพิง ก่อนขยับขยายมาปลูกบ้านเรือนใน ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ประกอบอาชีพเพาะถั่วงอกขายจนร่ำรวยมีเงินทอง

ใน 4 คนพี่น้องนี้ คนที่ 2 มีชื่อไทยว่า ด้วง อุปสมบทที่วัดบางสะแก แล้วย้ายมาจำพรรษาที่วัดกลางใต้ ส่วนอีก 3 คนยังคงประกอบอาชีพต่อไป และทำนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ด้วยความศรัทธาและรำลึกเสมอว่าเมื่อแรกมาเมื่อไทยนั้นได้อาศัยวัดเป็นที่พักพิง

ว่ากันว่าเพราะความที่ทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนาจนเป็นที่พอพระหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุน”

ต่อมาชาวจีนทั้ง 3 คนร่วมกันสร้างวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2378 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2381 จากนั้นจึงได้นิมนต์พระอธิการด้วงพี่ชายคนรองมาเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดสามจีน”

เรื่อยมาในสมัยที่พระครูสุตสาร หรือหลวงพ่อเล็ก ปุสสเทโว เป็นเจ้าอาวาส จึงเปลี่ยนชื่อวัดอีกครั้งว่า “วัดตรีจินดาวัฒนาราม” จวบจนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาส ก็พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง และได้ชื่อว่าเป็นผู้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน และพระปริยัติธรรม เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียง มักได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์และแสดงธรรมอยู่บ่อยๆ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ลูกศิษย์ที่ศึกษาร่ำเรียนวิชาด้วยในกาลต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดังหลายรูป เช่น พระครูสมุทรสุธี (สุพจน์ ธัมมสโร) วัดกลางเหนือ, พระครูบุญสิริวัฒน์ (ไป๋) วัดปรกรังสฤษดิ์, พระอธิการพับ วัดบางกล้วย, พระครูพิชิตสมุทรการ (ศักดิ์ ฐิตธัมโม) วัดไทร เป็นต้น

มีเรื่องเล่าในส่วนของวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมานั้น ตะกรุด ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่สร้างขึ้นเป็นลำดับแรก เพราะวัตถุในการสร้าง ตลอดจนขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากมาย เหมือนการสร้างพระเครื่อง

สำหรับตะกรุดเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะใส่ไว้ในบาตรน้ำมนต์ขนาดใหญ่ โดยกล่าวไว้ว่า “ของกูทำไว้ดี ใครอยากได้ไปหยิบเอา” ซึ่งผู้ที่มาขอตะกรุดจมีจำนวนมาก โดยแต่ละคนต้องควานมือลงไปหยิบในบาตรน้ำมนต์เอาเอง แต่บางคนไม่สามารถหยิบขึ้นมาได้ ทั้งที่ในบาตรนั้นใส่ตะกรุดไว้หลายดอก นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

ปกครองวัดเรื่อยมา จนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2473 สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]