ยุทธการ 22 สิงหา อุณหภูมิ การเมือง เมษายนร้อน ระอุปฏิกิริยา พิจิตร กุลละวณิชย์

สาระนิยาย Psy ฟุ้ง

 

ยุทธการ 22 สิงหา

อุณหภูมิ การเมือง เมษายนร้อน

ระอุปฏิกิริยา พิจิตร กุลละวณิชย์

 

นับแต่ “วิดิโอลิงค์” ไปยังที่ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมา การรุกจากแดนไกลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แน่วแน่และมั่นคง

ปลายหอกพุ่งเข้าสู่เป้าหมายเดียว นั่นก็คือ ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ยิ่งเข้าสู่เดือนเมษายน 2552 การปลุกเร้ายิ่งรุนแรง เข้มข้น

เห็นได้จาก “วิดิโอลิงค์” ในวันที่ 3 เมษายน เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมาร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 เมษายน ส่วนที่ไม่สามารถเดินทางมายังหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ให้ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด

พร้อนทั้งยืนยันในข้อหาเรียกร้องเดิม 1 นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับมา 1 ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน 1 เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. 1 คืนสิทธิทางการเมืองให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ

เป็นคำขาดที่รัฐบาลต้องปฏิบัติโดยจะไม่มีการเจรจาใดทั้งสิ้น

วันที่ 5 เมษายน “วิดีโอลิงค์” พาดพิงไปยังองคมนตรี โดยระบุว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นเวลา 8 ปี ทั้งยังกล่าวหาด้วยว่า

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยากเป็นนายกรัฐมนตรีเลยต้องไปวางแผนจนเกิดการยึดอำนาจ

พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ “ยังจำได้ไหม” วันที่ 9 กันยายน 2528 เป็นเหตุการณ์ที่นัดกันแล้วไม่มาตามนัด

ทั้งระบุด้วยว่า นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร

“ประชาธิปไตยพัฒนาไปไกลแล้ว แต่คนแบบนี้ยังคิดแบบโบราณ องคมนตรีทั้งหลายอย่าผูกขาดความจงรักภักดี”

ยิ่งมองผ่านหนังสือ “19-19 ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พฤษภาคม 2553” อันประมวลและเรียบเรียงโดย อุเชนทร์ เชียงแสน ชัยธวัช ตุลาธน ผ่านแต่ละภาพของ ทรงวุฒิ พัฒนศิลาพร แห่งสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน”

ยิ่งมีความชัดเจน

 

ชัดเจนตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ขบวนรถจักรยานยนต์เสื้อแดงนำหน้าผู้ชุมนุมจากสนามหลวงเคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินเพื่อไปปักหลักชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล

ตามด้วยภาพผู้ชุมนุมใช้รถเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกนำมาตั้งไว้เป็นเครื่องกีดขวางรอบทำเนียบรัฐบาล

ภาพของหญิงเสื้อแดงแสดงอาการไม่พอใจตำรวจที่นำกำลังมาดูแลรักษาความปลอดภัยพร้อมกับยกป้ายที่เขียนประกาศอย่างเด่นชัด “2,000 บาท คืนไป ทักษิณคืนมา”

แต่บรรยากาศการชุมนุมโดยรวมยังไม่มีความตึงเครียด

ภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงนั่งฟังการปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก และด้านข้างถนนนครปฐมจนแน่นขนัด

เป็นจำนวนเรือนหมื่น มิใช่เรือนร้อยหรือเรือนพัน

เป็นภาพ นายอดิศร เพียงเกษ ปราศรัยท่ามกลางพายุฝนในเดือนเมษายนที่ตกกระหน่ำลงมา ขณะที่ผู้ชุมนุมหน้าเวทียังคงเหนียวแน่น ส่งเสียงโห่ร้องให้กำลังใจกันอย่างคึกคัก

ขณะเดียวกัน รูปของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกนำมาแปะไว้บนพื้นถนนให้ผู้ชุมนุมเหยียบ

หรือแม้กระทั่งกระทืบเพื่อระบายความรู้สึกคับแค้นใจของพวกเขา

 

นอกเหนือจากการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม และทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายน ต้องยอมรับว่าเนื้อหาการโจมตีดำเนินไปด้วยความเข้มข้น

เป็นความเข้มข้นโดยแวดล้อมอยู่กับการเปิดโปงไปยังบทบาทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเครือข่าย

เป็นเครือข่ายที่ดำรงตำแหน่งเป็น “องคมนตรี”

ขณะเดียวกัน เป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริงก็คือ ก่อให้เกิดผลสะเทือนและตกกระทบไปยังสถานะของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นความร่วมมือระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ นายเนวิน ชิดชอบ

อย่าได้แปลกใจที่ในช่วงสายของวันที่ 14 มีนาคม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จังหวัดปทุมธานี กว่า 300 คนชุมนุมขับไล่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและคณะขณะเดินทางมามอบนโยบายรัฐบาลที่วิทยาลัยการปกครอง คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

หลังเสร็จสิ้นภารกิจคณะของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกอบด้วยขบวนรถกว่า 10 คันขับเคลื่อนออกมาก็ถูกกลุ่มเสื้อแดงปิดขวางทางออก กำลังตำรวจต้องเข้ามาผลักดันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดขบวนรถสามารถผ่านออกไปได้

แต่กลุ่มเสื้อแดงซึ่งไม่พอใจได้ขว้างปาทั้งขวดน้ำและไข่ไก่ใส่ท้ายขบวนรถของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนเปรอะเปื้อนไปทั่ว

ขณะชุลมุนในระหว่างขบวนรถกำลังขับเคลื่อนออกไปได้เกิดเสียงดังคล้ายระเบิดและมีกลุ่มควัน เป็นเหตุให้ช่างไฟฟ้าสื่อสาร สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ส่งสถานีโทรทัศน์ NBT ถูกสะเก็ดระเบิด

วันรุ่งขึ้นตำรวจสามารถจับกุมกลุ่มผู้ปาไข่ได้ 4 ราย แต่ไม่สามารถหามือปาระเบิดปิงปองได้

นี่ย่อมเป็น “สัญญาณ” แห่งความรุนแรงที่จะตามมา

 

การเปิดประเด็นเรื่อง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปล่อยผ่านโฟนลิงค์บนเวทีที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม และวิดีโอลิงค์บนเวทีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม เริ่มพ่นพิษส่งแรงสะเทือน

ไม่เพียงแต่ได้รับการปฏิเสธอย่างทันทีจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

หากแม้กระทั่ง พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ก็มิอาจอยู่นิ่งเฉย

วันที่ 3 เมษายน พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงกลาโหม ในลักษณะอันเป็นการตั้งคำถาม

“สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ล่วงล้ำพระราชอำนาจอย่างไร การทำบุญในวัดพระแก้วทำได้หรือไม่ เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วโทรศัพท์มาพูดออกผ่านทีวีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโทรศัพท์มากระซิบข้างหูก็จะกลับมา พระองค์ท่านเป็นเพื่อนเล่นของเขาหรือ

สิ่งนี้ทำไมไม่มีใครเอาเรื่อง

ถือเป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว เราต้องจี้ให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่

ยังมีกรณีอื่น เช่น เคยได้ยินเกาะเคย์แมนมั้ย นายราล์ฟ แอล. บอยซ์จูเนียร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมาพบผม ประโยคแรกที่ถามคือนายกรัฐมนตรีของไทยไปยุ่งอะไรกับเกาะเคย์แมนซึ่งเป็นเกาะที่ฟอกเงินไม่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น

สื่อต้องไปตรวจสอบดูว่าเกาะเคย์แมนเป็นอย่างไร เอาเงินไปฝากไว้”

 

การตั้งคำถามจาก พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มอบหมายให้ทนายความเข้าแจ้งความที่ สน.พระราชวัง ดำเนินคดีกับ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ในข้อหาหมิ่นประมาท

สะท้อนให้เห็นอุณหภูมิที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับในทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการเป็นลำดับของการต่อสู้เพื่อหักโค่นกันและกัน

ทุกสายตาเฝ้ารอสถานการณ์ในวันที่ 8 เมษายน 2552 ด้วยความระทึก