ละครเวที : ความบันเทิงใหม่ของคนไทย ในช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

ละครคณะวิจิตรเกษม

ในช่วงก่อนสงครามไม่นาน “คณะวิจิตรเกษม” ของนายบัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ เป็นคณะละครที่มีชื่อเสียง คณะละครนี้ได้สร้างความทรงจำถึงละครแบบใหม่ให้กับคนร่วมสมัยเป็นอย่างมาก

จากประวัติของบัณฑูรย์ หรือ “เซียวก๊ก” (2460-2509) เล่าว่า ในช่วงสงคราม ด้วยเหตุจากภาพยนตร์ใหม่ขาดแคลน เขาจึงคิดตั้งคณะละครคณะวิจิตรเกษมขึ้นเข้าแสดงในโรงหนังแทนภาพยนตร์ที่ขาดแคลนหนังใหม่ๆ ความแปลกใหม่ที่คณะวิจิตรเกษมให้วงการคือการใช้นักแสดงชายจริงหญิงแท้เล่นให้ตรงตามเพศตัวละครซึ่งต่างจากละครร้องก่อนหน้านี้

แก้ว อัจฉริยกุล (2458-2524) หรือ “แก้วฟ้า” ผู้จัดละครเวที นักเขียนเขียนบท และเป็นผู้ประพันธ์เพลงคนสำคัญได้เล่าถึงภูมิหลังในการจัดตั้งคณะวิจิตรเกษมและสไตล์การแสดงละครในช่วงก่อนสงครามของบัณฑูรย์ว่า บัณฑูรย์ริเริ่มจัดตั้งคณะละครขึ้น โดยประยุกต์บทประพันธ์จีนมาแสดงเป็นละครให้คนจีนในไทยชม

บัณฑูรย์บอกแก่เขาว่า “เวลานี้คนไทยอพยพไปอยู่นอกเมืองกันหมด อยู่แต่คนจีน เราต้องเล่นเรื่องจีนให้คนจีนที่อยู่ดู และคนไทยที่ไม่อพยพก็ดูได้ อย่างน้อยๆ คนไทยที่ไม่รู้เรื่องจีน เขาก็มาดูคนไทยแสดงได้”

การแสดงครั้งนั้น บัณฑูรย์ตั้งเป้าให้กลุ่มคนจีนแถวเยาวราช สำเพ็ง ราชวงศ์เป็นกลุ่มผู้ชมหลัก ด้วยเหตุที่คนจีนไม่ค่อยอพยพออกจากพระนคร ด้วยห่วงกิจการค้า พวกเขาจึงน่าจะต้องการความบันเทิงเพื่อความหย่อนใจด้วย บัณฑูรย์บอกแก้วฟ้าว่า “เราเก็บเงินจากคนจีนสำเพ็งก็พอแล้ว” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

หลังจากบัณฑูรย์ขายไอเดียการแสดงละครแบบใหม่ให้แก้วฟ้าแล้ว ทั้งคู่ก็พากันไปดูงิ้วแถวเยาวราช ไม่แต่เท่านั้น บัณฑูรย์ยังพาครูงิ้วมาสอนแก้วฟ้าให้มีความซาบซึ้งในอุปรากรจีนด้วย จากนั้น บัณฑูรย์ก็พาแก้วฟ้าไปพักที่โรงแรมตงเสียม ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวเพื่อให้แก้วฟ้าทำความฝันของเขาให้เป็นจริง ด้วยการเขียนบทละคร ออกแบบฉาก ตลอดจนซ้อมท่าทางตัวละคร

เมื่อแก้วฟ้าเขียนบทเสร็จแล้ว เขาทั้งสองพากันที่โรงภาพยนตร์แคปปิตอลเพื่อเช่าเวทีแสดงละครตามที่ต้องการ แต่ปรากฏว่า ผู้จัดการโรงนั้นไม่มั่นใจเลยว่าละครชายจริงหญิงแท้ของบัณฑูรย์จะทำเงินได้มากกว่าหนังญี่ปุ่นฉายอยู่ แม้มันจะซบเซาก็ตาม จึงเรียกเงินประกันโรง 8 หมื่นบาทจากบัณฑูรย์ บัณฑูรย์กลับไปหาเงินและนำเงินไปวางประกันตามคำขอ แต่ปรากฏว่า เมื่อไปถึงผู้จัดการกลับปฏิเสธแทน ด้วยไม่มั่นใจในละครดังกล่าว แต่บัณฑูรย์ยังคงมั่นใจในความคิด จากนั้น บัณฑูรย์ไปติดต่อขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร ผู้จัดการเฉลิมกรุง เมื่อขุนสวัสดิ์ฯ ฟังไอเดียไม่นานก็ดีดมืออนุญาตให้ละครชายจริงหญิงแท้ของบัณฑูรย์เข้าแสดงที่เฉลิมกรุงทันที

โดยละครเรื่องแรกของคณะที่เข้าแสดงที่เฉลิมกรุง ชื่อเรื่อง “นางบุญใจบาป” โดยนำพงศาวดารจีนเรื่องซ้องกั๋ง อันเป็นเรื่องราวของชุมชนโจรแห่งเขาเหลียงซาน ตอนบู๊สง ผู้ฆ่าเสือด้วยมือเปล่า มาดัดแปลงเป็นละคร โดยเขียนบทชูโรงให้เมียบู๊สงมีความโดดเด่น โดยละครเรื่องนี้กำกับการแสดงโดยแก้วฟ้านั่นเอง

การแสดงครั้งแรกของคณะวิจิตรเกษมนั้นประสบความสำเร็จมาก มีผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม สร้างรายได้ให้คณะและเฉลิมกรุงเป็นอันมาก

ดังแก้วฟ้าเล่าว่า “พอถึงวันกำหนดการแสดง ผมยังจำติดตาว่าคนเข้าคิวซื้อบัตรเข้าชมละครครั้งนี้ยาวเหยียดออกมานอกโรงจนถึงรางรถรางนอกบาทวิถี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวจีนในสำเพ็งเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเป็นคนไทยเสียครึ่งต่อครึ่ง” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

ทั้งนี้ นักแสดงชุดแรกที่แสดงเรื่องนางบุญใจบาป ประกอบด้วย วสันต์ สุนทรปักษิณ ม.ล.รุจิราภา และมารศรี อิศรางกูร อบ บุญติด สนิธ เกษธนัง สำราญ เหมือนประสิทธิเวช และสวง ทรัพย์สำรวย (ล้อต๊อก) โดยสนิธแสดงเป็นโบ้ตั้ว ชายพิการหลังค่อม (อนุสรณ์งานศพนายสนิธ เกษธนัง, 2515) โดยมีเกร็ดภูมิหลังว่า รุจิราภาเป็นคนตั้งชื่อคณะละครนี้ว่า “คณะวิจิตรเกษม” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ และแก้ว อัจฉริยกุล

ต่อมา คณะยังได้เข้าแสดงที่โอเดียน และเฉลิมนคร ด้วยเรื่องที่แสดงดัดแปลงมาจากเรื่องนางไซซี และนางเตียวเสี้ยน อันเป็นหญิงงามนามกระเดื่องในพงศาวดารจีน โดยมีการตั้งชื่อใหม่ให้เป็นไทยเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมทั่วไปด้วย เช่น นางไซซีตั้งเป็นเรื่อง “หญิงผู้พลิกแผ่นดิน” ทั้งนี้ ไซซีเป็นหญิงสาวงามในสมัยชุนชิว และชื่อของนาง หมายถึงความงาม ถึงขนาดมัจฉาต้องจมวารีทันทีเมื่อได้ยลโฉมของนาง

สำหรับละครเวทีเรื่อง “หญิงผู้พลิกแผ่นดิน” นี้ เป็นละครเรื่องดังที่ผู้คนครั้งนั้นจดจำได้มาก ซึ่งมีพระเอกและนางเอกชุดแรกของคณะร่วมแสดง ประกอบด้วย ม.ล.รุจิราภา และมารศรี อิศรางกูร รวมทั้งนักแสดงคนอื่นๆ เช่น สนิธ เกษธนัง สวง ทรัพย์สำรวย (ล้อต๊อก) สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม และเสน่ห์ โกมารชุน เป็นต้น (บัณฑูรนุสรณ์, 2510; ใหญ่ นภายน, 2548, 146)

ดังจากความทรงจำของสง่า อารัมภีร นักดนตรีร่วมสมัยเล่าเสริมถึงคณะละครนี้อีกว่า ในราวเดือนตุลาคม 2486 ขณะที่ฤดูหนาวกำลังมาเยือนพระนคร น.อ.ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ผอ.กองภาพยนตร์ทหารอากาศ ผู้จัดการศาลาเฉลิมกรุงได้ร่วมงานกับคุณบัณฑูร องค์วิศิษฐ์ เจ้าของคณะวิจิตรเขษม ร่วมเสนออุปรากรจีน เรื่อง “หญิงผู้พิชิตแผ่นดิน” ที่ชาวบ้านทั้งคนไทยและคนจีนย่านถนนเจริญกรุง เยาวราช ราชวงศ์ ทรงวาด พาดสาย เรียกละครนี้ว่า เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทั้งนี้ ตามพงศาวดารจีน นางเตียวเสี้ยนมีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก นางมีฉายาว่า “จันทร์หลบโฉมสุดา” อันหมายถึง นางผู้มีความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบให้แก่ความงามของเธอ

การแสดงเรื่อง “หญิงผู้พิชิตแผ่นดิน” ใช้ผู้กำกับฯ ถึง 3 คน คือ “แก้วฟ้า” “มารุต” และ “เนรมิต” มีดนตรีจากวงทหารอากาศร่วมบรรเลงเต็มวง โดยมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น เช่น รุจิราภา เล่นเป็นลิโป้ ยุวนุช ฤกษ์ยามดี เล่นเป็นนางเตียวเสี้ยน สวง ทรัพย์สำรวย เล่นเป็นตั๋งโต๊ะ (อนุสรณ์งานศพ ม.ล.รุจิราภา, 2527, 32)

อุปรากรณ์จีน เครดิตภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการเล่าความทรงจำในช่วงสงครามไว้ว่า ช่วงสงคราม “ในช่วงนี้แหละที่ข้าพเจ้าพบหนุ่มร่างเตี้ยคนหนึ่ง เขาแสดงความสนใจในเรื่องการระเมงละครเป็นอย่างยิ่ง เขาผู้นี้คือ คุณบัญฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ หรือเซียวก๊กในหมู่คนที่สนิทสนมกัน” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

แก้วฟ้าเล่าว่า การแสดงเรื่อง นางบุญใจบาป ของคณะวิจิตรเกษมถือเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงละครแบบชายจริงหญิงแท้ และเป็นครั้งแรกที่มีการรวมดาราจากละครย่อย นักพากย์และที่อื่นๆ จากนั้น คณะละครแบบชายจริงหญิงแท้ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ดาราละครเวทีก็กำเนิดขึ้นเป็นเงาตามด้วยเช่นกัน (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

ต่อมาภายหลังสงครามสิ้นสุดแล้ว เฉลิมไทยของบัณฑูรย์เป็นที่นิยม คณะละครทั้งหลายต่างมาปักหลักแสดงกันที่เฉลิมไทยแทน ในขณะที่โรงอื่นๆ เปลี่ยนไปฉายภาพยนตร์กันหมด แต่ในที่สุด กระแสละครเวทีก็โรยลงโดยละครอำลาเรื่องสุดท้ายของเฉลิมไทยก่อนหันไปฉายภาพยนตร์แทน (2496) คือเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” กำกับการแสดงโดย ส.อาสนจินดา

จากความทรงจำของ สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนและผู้จัดละครเวที เล่าว่า ภายหลังสงครามจบสิ้นลงแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2490 เป็นช่วงที่การแสดงละครเวทีเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จากนั้น จึงซบเซาลงด้วยภาพยนตร์ใหม่ๆ จากฮอลลีวู้ดเข้ามาแทนที่ (อนุสรณ์งานศพ ม.ล.รุจิราภา, 2527, 31)

บัณฑูรย์กับแก้วฟ้า เครดิตภาพ : โรม บุนนาค
บู๊สง ผู้ฆ่าเสือด้วยมือเปล่า จากพงศาวดารจีนเรื่องซ้องกั๋ง
สนิธ เกษธนัง กับวสันต์ สุนทรปักษิณ เครดิตภาพ : เอนก นาวิกมูล และหอภาพยนตร์แห่งชาติ
ภาพนางไซซีและนางเตียวเสี้ยนจากจินตนาการ
ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สมควร กระจ่างศาสตร์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์