ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
หลังการหายตัวไปอย่างลึกลับของ น.ส.มยุรี ยอดพะเนา หรือน้องหลิว สาวโรงงานวัย 19 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ครอบครัวยอดพะเนาต้องรอคอยนานถึง 12 ปี กว่าที่จะได้รับความยุติธรรม
“ไปเคาะที่รูปเขา บอกเขาว่า หลิวเอ้ย ให้พ่อให้แม่ชนะเขาบ้างนะลูก จุดธูปต่อหน้าพระว่าขอให้เราชนะคดี คิดอยู่ในใจเสมอว่า เขาทำอะไรไว้ก็ขอให้เขาได้รับกรรมไป ชีวิตคนที่เสียไป ก็ขอให้เราได้อะไรกลับมา ให้เราได้ทำบุญให้เขาบ้าง ตั้งแต่แจ้งคนหายกับกระจกเงา แล้วตามจนเจอศพน้องหลิว ว่าเขาตายไปแล้ว มันก็ดีกว่าเราไม่รู้อะไรเลย แต่ก่อนรอแต่คำตอบว่าลูกหายไปไหน แต่พอรู้คำตอบพ่อแม่ก็จะได้รู้ว่าเขาไม่อยู่แล้ว ไม่ต้องรอเขาแล้วลูกไม่ได้กลับมาบ้านแล้ว” คำพูดที่แม่ของน้องหลิวพูดไว้ก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำตัดสิน จำคุกตลอดชีวิต นายจุมพล สุภาพงษ์ หรือ “ผอ.ตุ๊” ผู้ต้องหา
ย้อนไปเมื่อเช้าวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 น.ส.มยุรี ยอดพะเนา หรือน้องหลิว ขณะนั้นอายุ 19 ปี เพิ่งเดินทางจากบ้านที่ ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว มาทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน เกิดหายตัวไปอย่างลึกลับ
ครอบครัวเดินทางมาตามหาตัว แต่ก็พบเพียงว่าน้องหลิวขี่รถจักรยานยนต์มาจอดไว้ที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาคลองรั้ง เป็นจุดสุดท้ายก่อนหายตัวไป ขณะที่ข้าวของเครื่องใช้ของน้องหลิว ภายในห้องหอพัก ใกล้นิคมอุตสาหกรรม 304 ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีร่องรอยการรื้อค้น
ทางครอบครัวพยายามออกติดตามหา โดยสอบถามจากเพื่อนสนิทและเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน แต่ไม่มีใครรู้ ต่อมามีเบอร์แปลกส่ง SMS ไปยังเพื่อนสนิทของน้องหลิว ว่าไม่ต้องเป็นห่วง น้องหลิวไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งทางครอบครัวเชื่อเช่นนั้นมาตลอด
ประกอบกับอุปนิสัยน้องหลิวที่เป็นคนช่วยเหลือตัวเอง เอาตัวรอดด้วยตัวเองมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น จึงได้แต่หวังว่าน้องหลิวจะติดต่อกลับทางบ้านเมื่อหน้าที่การงานหรือชีวิตส่วนตัวลงตัว
ผ่านไปถึงปี 2562 ก็ไม่มีวี่แวว ครอบครัวเห็นว่าน้องหลิวขาดการติดต่อไปนานแล้ว จึงพยายามอีกครั้งในการติดตามหา โดยครั้งนี้ได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปทางมูลนิธิกระจกเงาให้ช่วยติดตาม
โดยมูลนิธิกระจกเงาได้ประสานตรวจสอบข้อมูลกับทางราชการ ไม่พบว่าน้องหลิวมีการมาทำบัตรประชาชนใหม่ ไม่พบความเคลื่อนไหวในระบบบัตรทอง/ประกันสังคม และที่สำคัญไม่พบการเดินทางออกนอกประเทศ
จึงมีการตั้งประเด็นเรื่องน้องหลิวอาจเสียชีวิตแล้ว เป็นศพนิรนามอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาลงพื้นที่ประสานงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว พื้นที่รอยต่อจุดที่หายไป โดยตระเวนไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เกือบ 10 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ในรัศมี 200 ก.ม.จากจุดสุดท้ายที่หายไป เพื่อขอดูข้อมูลศพนิรนามเพศหญิงในห้วงปี 2555-2558
กระทั่งปลายปี 2563 พบข้อมูลศพนิรนามทั้งหมด 3 ศพ ทั้งหมดถูกฆาตกรรมและนำศพไปทิ้งอำพราง แต่มีอยู่ 1 ศพที่ใกล้เคียงน้องหลิวที่สุด โดยเฉพาะห้วงเวลาที่พบศพใกล้กับช่วงที่น้องหลิวหายตัวไป ศพดังกล่าวยังมีรอยสักที่ข้อเท้า คล้ายกับรอยสักของน้องหลิว
ต่อมามีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากมารดาของน้องหลิว เพื่อนำไปตรวจเทียบกับดีเอ็นเอศพนิรนามทั้ง 3 ศพ ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้เก็บตัวอย่างกระดูกของศพไว้
เมื่อนำมาเทียบดีเอ็นเอกัน พบว่าศพหญิงนิรนามที่พบเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 บริเวณไร่อ้อย หมู่ 13 ต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตรงกับดีเอ็นเอของมารดาน้องหลิว
โดยวันที่พบ ศพมีสภาพเน่าอืด ใบหน้าเปลี่ยนรูป ไม่มีเอกสารติดตัว จึงถูกนำส่งไปผ่าชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ พบบาดแผลจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนหลายจุด จากนั้นถูกส่งไปฝังที่สุสานแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรีนานกว่า 8 ปี เป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
แต่เมื่อครอบครัวไปติดตามที่สุสานก็พบกับความเศร้าที่ว่าร่างของน้องหลิวถูกนำไปฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากผ่านมานานถึง 8 ปี ก่อนมีการทำพิธีขุดล้างป่าช้าเพื่อเคลียร์ศพไร้ญาติ
หลังได้ข้อมูลว่าผู้ตายเป็นใคร ญาติขอให้ตำรวจรื้อคดีขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มทำการสืบสวนอย่างเงียบๆ เพราะเกรงว่าคนร้ายจะไหวตัว
ซึ่งจากข้อมูลก่อนที่น้องหลิวจะหายตัวไป เจ้าตัวเพิ่งมีปัญหาทะเลาะพยายามเลิกรากับชายคนสนิท ซึ่งผลการสอบสวนสาวไปถึง ผอ.โรงเรียนรายหนึ่งในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีส่วนพัวพันในเชิงชู้สาวและเคยเป็น ผอ.โรงเรียนที่น้องหลิวเคยศึกษาอยู่
ผอ.คนนี้เป็นคนหน้าตาดี มีอุปนิสัยชอบเล่นอาวุธ พกพาอาวุธปืนติดตัวเสมอ มีนิสัยเจ้าชู้ ชอบความรุนแรง นำมาสู่การสืบสวนของชุดสืบสวนตำรวจสอบสวนกลาง สภ.วัฒนานครและสืบจังหวัดสระแก้ว
พล.ต.ท.ปัญญา ปิ่นสุข ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (ผบก.พฐก.) พล.ต.ต.ณัฐพงศ์ สัตยานุรักษ์ ผบก.ภ.จว.สระแก้ว พ.ต.อ.สุมรภูมิ ไทยเขียว รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (รอง ผบก.ทล.) พ.ต.อ.สาธิต มิตรรัก ผกก.สภ.วัฒนานคร (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งในขณะนั้น) นำชุดสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
กระทั่งสามารถออกหมายจับนายจุมพล สุภาพงษ์ หรือ “ผอ.ตุ๊” ในข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซ่อนเร้นย้ายหรือทำลายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเหตุอันควร” ก่อนจับกุมตัวได้ที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 18 กุมภพันธ์ 2564 เบื้องต้นนายจุมพลปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
นางสุรีวรรณ์ ยอดพะเนา มารดาน้องหลิว เผยข้อมูลหลังทราบว่าตำรวจจับ ผอ.ตุ๊ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมลูกสาวได้แล้วว่า หากย้อนกลับไปในอดีต ตอนที่ ผอ.ตุ๊เข้ามาที่บ้าน เขาก็มานั่งที่บ้านตามปกติ น้องหลิวก็ไม่ได้แนะนำว่าเขาเป็นใคร แต่น้องหลิวจะเล่าให้ฟังมากกว่า
หนักสุดที่รู้ว่าลูกสาวถูก ผอ.ตุ๊ทำร้ายก็คือ การใช้ปืนตบหน้าลูกสาว
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ศาลจังหวัดสระแก้วพิเคราะห์พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน สภ.วัฒนานคร รวบรวมนำส่งพนักงานอัยการจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีทั้งหลักฐานจากอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ ซองปืน ผลการตรวจดีเอ็นเอ และคำให้การของเพื่อนผู้เสียชีวิต
มีความชัดเจนเชื่อได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง จึงมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องเป็นเงิน 1,700,000 บาท และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
กระทั่งเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ศาลจังหวัดสระแก้ว ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยวันดังกล่าว นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา นำนายสมศักดิ์ ยอดพะเนา อายุ 65 ปี ชาว อ.โคกสูง จ.สระแก้ว พ่อของน้องหลิว นำรูปของลูกสาว มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
ส่วนนายจุมพล หรือ ผอ.ตุ๊ สวมชุดนักโทษสีน้ำตาลอ่อน สวมแว่นกรอบดำ สวมหน้ากากอนามัยสีฟ้า เข้ารับฟังคำพิพากษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากเรือนจำจังหวัดระยอง ซึ่งขณะฟังคำสั่งศาล นายจุมพลมีสีหน้าเรียบเฉย แต่ส่วนใหญ่จะยืนก้มหน้า มีบางจังหวะที่โค้งคำนับและส่ายหัวบ้าง
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 20 นาที ระบุว่า นายจุมพล สุภาพงษ์ หรือ ผอ.ตุ๊ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง จำเลยในคดีกระทำผิดตามฟ้องจริง จึงมีคำพิพากษายืน ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องเป็นเงิน 1,700,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาก่อนหน้านี้
นายสมศักดิ์กล่าวภายหลังรับฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกดีใจที่ศาลให้ความยุติธรรม ส่วนค่าสินไหมไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ เนื่องจากจำเลยยังติดคุกอยู่ ต้องให้มูลนิธิกระจกเงาดำเนินการต่อ ก่อนที่นายสมศักดิ์จะไปเยี่ยมนางสุรีวรรณ์ ภรรยาผู้เป็นแม่ของน้องหลิว ที่ประสบอุบัติเหตุ นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เพื่อบอกถึงผลคดีในวันนี้ เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว
ด้านนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข บอกว่า ดีใจที่วันนี้ศาลได้พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างให้ครอบครัวผู้สูญหายที่กำลังเฝ้ารอบุตรหลานกลับบ้าน ได้มีโอกาสเจอคนในครอบครัว และบางรายอาจนำไปสู่การพิจารณาคดีเช่นเดียวกับคดีนี้
มูลนิธิกระจกเงายังเผยสถิติผู้สูญหายที่น่าตกใจว่า ในทุกๆ 4 ชั่วโมงจะมีคนหายออกจากบ้าน 1 คน ปัจจุบันพบตัวเลขผู้สูญหายทั้งสิ้น 18,887 คน พบตัวแล้ว 16,315 คน หรือคิดเป็น 86% ของการแจ้งเหตุ และมี 2,232 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม
ขณะที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เปิดเผยจำนวนการแจ้งคนหาย การพบคนนิรนามและศพนิรนาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยยอดสะสมจำนวนการแจ้งคนหายอยู่ที่ 201 คน คนนิรนาม 273 คน และศพนิรนาม 380 ศพ และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
คดีของน้องหลิว นับเป็นความสำเร็จในการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต แต่ยังมีศพนิรนามอีกหลายร้อยรายที่ยังคงรอคอยให้ความจริงปรากฏ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ละเลย เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความอยุติธรรม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022