33 ปี ชีวิตสีกากี (98) | คำตอบทั้งปีทั้งชาติ ‘ไม่มีความสามารถก็ย้ายไปที่อื่น’

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน หรือพลขับรถร้อยเวรหาดใหญ่ที่อยู่กับผมยาวนานหลายปี มี จ.ส.ต.สุทธิ ดอกจำปา, ส.ต.อ.อับดุล เบ็ญนุ้ย, ส.ต.อ.มานิตย์ หมัดอาดัม จ.ส.ต.ไพสิทธิ์, ส.ต.ท.ภิญโญ ปลอดดี, ส.ต.ท.ประวิช ชิตมณี ส.ต.ท.สุเทพ สุขยะฤกษ์, พลฯ สุธน พวงแก้ว

และยังมีอาสาสมัครคนสำคัญที่อยู่เทศบาลเมืองหาดใหญ่ มาช่วยเหลือผมตลอดหลายปี คือ เผชิญ แสงจันทร์

ตำรวจแทบทุกคนในโรงพักหาดใหญ่รู้จักเผชิญเป็นอย่างดี ไว้วางใจได้ และซื่อสัตย์มาก ถ้าว่างมักจะติดตามผมไปช่วยยกรถจักรยานยนต์ที่เกิดเหตุชนกันนำขึ้นกระบะท้ายของรถร้อยเวรคดีจราจร แล้วนำกลับมายังโรงพัก

งานสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่องของผม คือเมื่อออกเวรจากนายร้อยเวรสอบสวนคดีจราจรแล้ว ต้องนัดหมายให้คู่กรณีที่รถชนกันในช่วงเข้าเวร มาให้ปากคำเพื่อสอบสวนทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย และเจรจาเรื่องค่าเสียหายทางแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าปลงศพ ค่าสินไหมทดแทนจากการบาดเจ็บจนทุพพลภาพ บาดเจ็บจนไม่สามารถทำงานได้ บาดเจ็บเล็กน้อย

พูดคุยเรื่องการประเมินราคาค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถที่เสียหาย ทรัพย์สินอื่นที่เสียหายจากการถูกรถชน เช่น บ้านถูกรถชนจนพังยับเยิน อุปกรณ์ของทางราชการเสียหายที่จะต้องชดใช้ เช่น ไฟส่องสว่างข้างทาง

ผมมีเหตุการณ์ปวดหัวมากกรณีหนึ่ง เรื่องน่าจะจบง่ายๆ กลับไม่จบ รถก็ไม่ชนโดนกัน ไม่มีรถเสียหาย ไม่มีคนเจ็บ แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เจรจากันหลายครั้ง เสียทั้งเวลา ทั้งต้องอดกลั้นสงับอารมณ์ไม่ให้เสีย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

เป็นเรื่องที่รถสิบล้อขับไปกระแทกกรงนกเขา ที่มีคนนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์และถือกรงนกเขาอยู่ และไม่รู้ไปเกิดเหตุท่าไหนก็ไม่ทราบ รถสิบล้อไปเบียดกระแทกกรงนกเขาจนทำให้แตกเสียหาย นกเขาบินออกจากกรงหายไป

เจ้าของนกเขาเรียกค่าเสียหายสูงมาก จนผมเองก็ตกใจ ทำไมจึงแพงขนาดนั้น รถสิบล้อเมื่อได้ยินก็ไม่ยอมจ่ายให้ แต่เจ้าของนกเขายืนยันว่า นกเขาตัวที่บินหายไปนี้ เป็นนกเขาชวาที่ชนะเลิศการแข่งขัน เป็นแชมป์หลายสนาม มีราคาซื้อขายแพงมาก แต่เจ้าของนกเขาต้องการแค่ 5 หมื่นบาท ทั้งๆ ที่ราคาจริงเป็นแสนบาท

ผมเสียเวลากับการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีนี้มากเหลือเกิน แต่ในที่สุดก็ต้องหาจุดที่เหมาะสมตกลงกันให้ได้ คือให้ใกล้เคียงกับความพอใจของคู่กรณี

ผมทำหน้าที่ได้เท่านั้น

 

ส่วนการกำหนดตัวบุคคลที่จะมาเจรจาต้องมีผลในทางกฎหมาย เช่น พ่อแม่ต้องมาแทนผู้เยาว์

แต่ละวันจะมีนัดคู่กรณีเอาไว้หลายราย รายการนัดนั้นผมจะนัดรายที่ไม่หนักมากก่อน เพราะใช้เวลาเจรจาไม่นานเรื่องก็จบลงได้ และทำให้ไม่ไปกินเวลานัดของรายต่อไป

แต่บางรายเจรจาหลายรอบหลายครั้งก็ยังตกลงกันไม่ได้ จะเสียเวลามาก

หรือบางครั้งอาการของคนเจ็บยังไม่ทุเลา ยังโคม่า การเจรจาก็ไม่คืบหน้า ต้องคอยต่อไป

เวลาที่มีในช่วงที่ไม่ต้องเข้าเวรจึงหมดไปกับภาระมากมายเหล่านี้ บางวันยืดเยื้อจนไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินข้าวกลางวัน เพราะผมเกรงใจคู่กรณีที่มานั่งรอนานๆ บางคนมาจากต่างจังหวัดไกลๆ หรืออยู่คนละภาค จะต้องรีบกลับ และเกือบจะแทบทั้งหมดพบเจอเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเสียใจเมื่อมีคนที่รักได้จากไปและจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว

สมาชิกบางครอบครัวกลายเป็นคนทุพพลภาพตลอดชีวิต ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม บางคนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นกลายเป็นคนตาบอด หรือพิการแขนขาขาด

เมื่อมีอุบัติเหตุก็มีการบาดเจ็บ ผมไปถึงที่เกิดเหตุเร็ว ก็จะเห็นคนที่ได้รับบาดเจ็บในที่เกิดเหตุมีเลือดไหลแดงฉานเต็มหน้าเต็มตัว ทั้งร่างเหมือนอาบไปด้วยเลือด

ผมได้เข้าไปช่วยอุ้มร่างที่อาบไปด้วยเลือดนั้นขึ้นรถร้อยเวร แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตได้ทันท่วงที

เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ผมเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ บางเวรออกเวรตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า แต่การเจรจากับคู่กรณียังติดพัน จนเวลาล่วงเลยไปเกือบค่ำ ลืมกินข้าวทั้งวัน เพราะห่วงใย อยากให้ความทุกข์ของคู่กรณีจบสิ้นลงไปเร็วๆ ผมจึงเอาใจใส่ จนลืมเรื่องของตัวเองไปเลย

ยิ่งมีคู่กรณียิ่งต้องมีความยุติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่มีการเอนเอียงเข้าข้างเป็นอันขาด หากสถานการณ์การเจรจาเริ่มหนักขึ้นจนทำท่าจะรุนแรง ผมจะใช้ความรู้ความสามารถของผมอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้ทุกฝ่ายเยือกเย็นลง อย่าใช้อารมณ์

ผมต้องคอยกำกับควบคุมให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น และเมื่อตกลงกันได้หรือไม่ได้ ผมจะจัดทำบันทึกลงในสมุดบันทึกเล่มใหญ่ของผมซึ่งมีหลายเล่ม แล้วให้คนที่มาเจรจาและพยานลงชื่อ จากนั้นจึงไปเข้าคิวเพื่อลง ป.จ.ว.ไว้เป็นหลักฐาน อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย แล้วเจรจากับคู่กรณีรายต่อไปตามนัด และลงบันทึกในสมุดบันทึกเล่มใหม่

บางครั้งรายแรก ยังคอยลง ป.จ.ว.อยู่เลย ผมเจรจาเสร็จไป 3 รายแล้ว ใช้สมุดบันทึกของผมเล่มที่สามเสร็จแล้ว คู่กรณีรายต่อไปมารอแล้ว จึงต้องงัดสมุดบันทึกเล่มที่ 4 ออกมาใช้บันทึก

เมื่อนึกถึงสภาพจะเห็นว่า แต่ละวันมีกรณีรถชนมากมายขนาดไหนในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ เมื่อช่วงเวลานั้น

 

ทุกวันที่ผมนัดคู่กรณี ผมไม่เคยผิดนัด ผิดเวลา ไม่ไปสาย หรือไปช้า แต่จะไปก่อนเวลา ผมจะตรงเวลาสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับคู่กรณีกับทุกคนและกับทุกฝ่าย จะตรวจสอบและติดตามจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยทุกคดีไป

ผมจะไม่เป็นคนเหลวไหลแต่จะเอาใจใส่กับการนัด ผมจะจัดการจนถึงเรื่องสุดท้าย คือ คู่กรณีจะต้องนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เกิดเหตุกลับไป ไม่ว่าจะเหลือเป็นเพียงเศษซากแล้วก็ตาม ผมจะไม่ยอมให้ทิ้งไว้ที่โรงพักเป็นอันขาด เพราะโรงพักไม่มีสถานที่มากมาย

ยิ่งถ้าร้อยเวรไม่เอาใจใส่ ยิ่งทำให้ที่จอดรถและบริเวณรอบโรงพักกลายเป็นสุสานของรถทันที คนทั่วไปจะเห็นเสมอคู่กับโรงพัก ถือเป็นการประจานร้อยเวร ขาดความรับผิดชอบ ไม่จัดการ พอคู่กรณีเจรจาเสร็จก็จบ ไม่สนใจว่าใครจะนำรถกลับไปหรือไม่ จึงมีการปล่อยทิ้งซากรถเต็มโรงพักแทบจะทุกแห่ง เป็นสัญลักษณ์ความไม่เอาไหนของผู้บริหารโรงพัก

การเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีจราจร ผลัดละ 24 ชั่วโมง ถ้าโชคดี ช่วงดึกๆ หลังเที่ยงคืนไปแล้ว มีเหตุรถชนกันน้อย หรือบางทีก็ไม่มีเลย ร้อยเวรจะนอนพักผ่อนบนเตียงพับแบบผ้าไนล่อน ในห้องทำงาน แล้วได้ตื่นตอนเช้าเข้าเวรต่อไป

แต่ถ้าคืนนั้นเกิดมีเหตุรถชนกันดึกๆ ช่วงตี 1 หรือตี 2 เมื่อนักเที่ยวยามราตรีกำลังกลับหลังจากได้ดื่มเต็มที่จากสถานบริการ การชนจะรุนแรง จนมีโอกาสเสียชีวิตสูง ร้อยเวรแทบจะไม่ได้นอนเลย เมื่อถึงเวลา 8 โมงเช้า ร้อยเวรคนใหม่จะมารับเวรต่อ

ผมใช้โรงพักหาดใหญ่เป็นที่หลับนอน เมื่อเข้าร้อยเวร นานเกือบถึง 4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2530 ถึง พ.ศ.2534

 

สําหรับนามเรียกขานทางวิทยุ

สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ ใช้ “อินทรี 1”

นายตำรวจทุกนาย ใช้ “อินทรี” หากอยู่ฝ่าย ป. ขึ้นด้วย “2”

อยู่ฝ่าย ส. ขึ้นด้วย “3” ส่วนฝ่าย จร. ใช้ “6” ขึ้นต้น

โรงพักหาดใหญ่ ใช้แทนว่า “อาทิตย์ 1”

ศูนย์วิทยุ ใช้ “ศูนย์ 1”

ต่อมามีการเปลี่ยนนามเรียกขานใหม่หมด ใช้ชื่อสถานที่แทน

ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ใช้ “สงขลา 1”

สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ ใช้ “หาดใหญ่ 1” พ.ต.ท.กมล โพธิยพ เป็น สวป.สภ.อ.หาดใหญ่ ตั้งแต่แรกๆ ที่ผมย้ายมา และยังใช้นามเรียกขานว่า “อินทรี 2”

การทำงานของตำรวจจะสื่อสารกันด้วยวิทยุ เป็นช่องทางเดียวที่รวดเร็วฉับไว ตำรวจทุกคนจึงต้องเปิดวิทยุและเฝ้าฟังตลอดเวลา

เกือบทั้งหมดจะจัดซื้อวิทยุด้วยเงินส่วนตัวมาใช้ในกิจการหลวง และนำมาใช้บริการประชาชน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ผมเห็นว่า รัฐบาลในเวลานั้นเอาเปรียบตำรวจทุกเรื่องในการใช้งานตำรวจ เรียกว่าใช้อย่างเดียว ไม่ดูแลเอาใจใส่ใดๆ เลย เรื่องจำเป็นก็ปล่อยทอดทิ้งไม่สนใจไยดี ปล่อยให้ตำรวจดิ้นรนไปจัดหากันเอาเอง

ถ้าตั้งคำถามไป คำตอบที่ได้รับจะเป็นว่า “เมื่อไม่มีความสามารถก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น” และเป็นเช่นนี้ทั้งปีทั้งชาติ ไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น

เหมือนจงใจให้ตำรวจต้องทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องยอมไปติดหนี้บุญคุณกับผู้ที่ช่วยเหลืองบประมาณ แล้วถ้าเกิดเรื่องก็รับผิดชอบกันเอาเอง แต่ถ้าได้หน้ามาทันที เป็นผลงานของกู (รัฐบาล)

ผมเห็นเช่นนี้มาตลอดในการบริหารงานดูแลตำรวจ