ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกองทัพเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหน่วยทหารรักษาพระองค์ และหน่วยทหารในพระองค์ ใหม่ รวม 67 หน่วย เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567
ความเปลี่ยนแปลงแรก เกิดขึ้นทันทีในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายทหารชั้นนายพลที่เป็นทหารคอแดง ที่ไม่ได้อยู่ในกองทัพภาคที่ 1 และ ฉก.ทม.รอ.904 จะกลับมาเป็นทหารคอเขียว ตามเดิม
โดยเฉพาะ 3 พลเอก ทั้ง ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. และบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงศ์ มะละคำ รองปลัดกลาโหม
และรวมถึงรอง เสธ.ตั้ง พล.ท.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล รอง เสธ.ทบ. พล.ต.เทพพิทักษ์ นิมิตร ผบ.พล.ร.2 รอ. ที่ถูกย้ายไปเป็นรอง ผบ.รร.นายร้อย จปร. ในการโยกย้ายตุลาคมที่ผ่านมา และ เสธ.อาร์ม พล.ต.โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ อดีต ผบ.พล.ม.2 รอ. ที่ถูกขยับมาเป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ. ที่กลับมาเป็นทหารคอเขียว
ก่อนหน้านี้ เริ่มมีสัญญาณมาแล้วว่า นายพลคอแดงที่พ้นหน้าที่จาก ฉก.ทม.รอ.904 ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นคอเขียวปกติ มาก่อนแล้ว เช่น บิ๊กรุณ พล.อ.กันตพจน์ เศรษฐารัศมี อดีต ผบ.พล.ม.2 รอ. ที่ขยับพ้น ฉก.ทม.รอ.904 มาเป็นรอง เสธ.ทบ. บิ๊กช้าง พล.อ.เอกรัตน์ ช้างแก้ว ประธานที่ปรึกษา ทบ. ที่เคยเป็น ผบ.พล.1 รอ.
รวมถึงการที่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เมื่อขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.คอแดง คนที่ 3 ของ ทบ. และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คนที่ 3 ต่อก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำ ทม.รอ. จึงไม่ได้ติด “อาร์มดำ” ของ ทม.รอ. แต่ยังติดอาร์มสี ของ พล.ร.2 รอ. เท่านั้น
การเปลี่ยนสภาพจากทหารคอแดง มาเป็นทหารคอเขียว คือการเปลี่ยนยูนิฟอร์ม เครื่องแบบ และเครื่องหมายต่างๆ ป้ายวรรณะ ตำแหน่ง เข็มต่างๆ โดยเฉพาะการถอดอาร์มสีต่างๆ ของกองพลที่ขึ้นกับ ฉก.ทม.รอ.904 ที่แขนซ้ายออก เช่น อาร์มสีน้ำเงินแดง ของ พล.1 รอ. อาร์มสีม่วง ของ พล.ร.2 รอ. และอาร์มสีของ พล.ม.2 รอ.
รวมทั้งชุดเขียวปกติ ที่ต้องมาใช้หมวกหม้อตาล หรือเบเร่ต์ดำเช่นเดิม และการกลับมาใช้ชุดขาวใหญ่ แทนชุดพระราชฐาน ทม.รอ. ที่สวมหมวกโมฬีแหลม มาใส่หมวกหม้อตาล ตามเดิม
รวมทั้งการไม่ได้สวมชุดนายทหารพิเศษรักษาพระองค์ ที่เป็นสีต่างๆ ประจำหน่วยรักษาพระองค์ เพราะหน่วยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนขึ้นอยู่ใน ฉก.ทม.รอ. 904 แล้วทั้งสิ้น
ดังนั้น ในพิธีสวนสนาม และถวายสัตย์ปฏิญาณ 3 ธันวาคมนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพจึงจะไม่ได้สวมชุดทหารรักษาพระองค์ที่เป็นสีต่างๆ เช่นที่เคย
พล.อ.พนา สวมชุดพรางสนาม เวสต์มอร์แลนด์ หมวกเบเร่ต์ดำแทนชุดพรางคอแดง ทม.รอ. ที่เคยสวมหมวกแก๊ปลายพราง ทม.รอ. ไปตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ลพบุรี และศูนย์การบินทหารบกที่อาจจะดูแปลกตา
แต่ พล.อ.พนา ก็เคยเป็นทหารคอเขียวมาก่อน และเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นทหารคอแดงตอนเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่มีสัญญาณ ให้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง ของ ทม.รอ. 3 เดือน เมื่อฝึกจบ ก็ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คอแดงทันที
เหตุผลหนึ่ง คาดว่า เพราะเป็นลูกชายของ พล.อ.ปรีชา แคล้วปลอดทุกข์ อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งเคยเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พร้อมมีสัญญาณชัดในช่วงนั้นว่า พล.อ.พนา จะขึ้น 5 เสือ ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็เป็นจริงตามนั้น
พล.อ.พนา จึงเป็น ผบ.ทบ.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การปรับโครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 คนแรก ที่ได้เป็น ผบ.ทบ. คอแดง คนที่ 4 ของ ทบ. แต่เป็น ผบ.ทบ.คอแดง แค่ 1 เดือน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นทหารคอเขียว ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567
โดยมีนัยสำคัญคือจากนี้ไป ผบ.ทบ.จะกลับมาเป็นทหารคอเขียวตามเดิม เหมือนเมื่อก่อน ยุคที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก
แต่อย่างไรก็ตาม จะมีสถานภาพพิเศษตรงที่ว่า คนที่เป็น ผบ.ทบ.มักจะมาจากคนที่เคยเป็นทหารคอแดง เนื่องจาก ผบ.ทบ.ส่วนใหญ่มักเคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 มาก่อน ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 1 ยังเป็นทหารคอแดงและเป็น ผบ ฉก.ทม.รอ.904
แต่เมื่อใดที่พ้นจากแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นมาเป็น 5 เสือกองทัพบก ก็จะพ้นจากการเป็นทหารคอแดง กลับคืนสู่การเป็นทหารคอเขียวตามเดิม
ขณะที่ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่เริ่มเป็นทหารคอแดง เมื่อครั้งเป็นพลตรี ผบ.พล.1 รอ. จนตอนนี้ นับเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คอแดงคนที่ 2 และเป็น ผบ.ทหารคอแดงมาแล้ว 1 ปี 1 เดือน ก่อนเปลี่ยนเป็นทหารคอเขียว ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 เช่นกัน ถือเป็น ผบ.ทหารสูงสุดในยุคเปลี่ยนผ่านจากที่เป็นทั้งคอแดง จนกลับสู่คอเขียว
ที่ต่างมีนัยสำคัญว่า จากนี้ไปผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะกลับมาเป็นทหารคอเขียวตามเดิม โดยมีบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ทหารคอเขียว ตท.24 ที่ข้ามจากผู้ช่วย ผบ.ทบ. มาเป็นรองบัญชาการทหารสูงสุด จ่อไว้แล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดปัญหาในห้วง 7 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ ฉก.ทม.รอ.904 การถือกำเนิดของทหารคอแดงในกองทัพบก ที่ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์ในการได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ. จนทำให้ทหารคอเขียวคนอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดงหมดอนาคต
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายของกองทัพบก โดยคอแดงนอก ทบ. และ ฉก.ทม.รอ.904 โดย ผบ.ทบ.จะมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย มีอิสระมากขึ้นเพราะไม่ต้องเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกองทัพภาคที่ 1 หรือ ฉก.คอแดง นั้นก็ยังถูกมองว่า อยู่นอกเหนืออำนาจและการควบคุมของ ผบ.ทบ.
แต่อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง ฉก.ทม 904 ในปี 2560 นั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่างทหารคอแดงกับทหารคอเขียว แต่เพียงแค่ต้องการให้หน่วยทหารรักษาพระองค์ต้องถวายงาน ไม่ใช่เป็นแต่ชื่อ หรือได้แต่แต่งกายชุดเต็มยศรักษาพระองค์ โดยไม่ได้ถวายงาน เช่นที่เคยเป็นมา
จึงกำหนดให้หน่วยทหารรักษาพระองค์ ต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตร ที่มีความเหมาะสมกับการถวายงาน เมื่อสำเร็จการฝึกจะได้รับการพิจารณาเป็นรายบุคคลให้ปฏิบัติหน้าที่ จึงจัดตั้งหน่วย ฉก.ทม.รอ.904 รองรับกำลังพลที่ผ่านการฝึกและได้รับการพิจารณา เพื่อให้ ฉก.ทม.รอ.904 ถวายงาน
เมื่อเริ่มจัดตั้งหน่วย ฉก.ทม.รอ.904 นี้ มีเพียงกำลังพล พล.1 รอ. และ พล.ม.2 รอ.ที่เข้ารับการฝึกเท่านั้น โดย ผบ.หน่วย ทม.รอ.คนแรก คือ ผบ.พล.1 รอ . บิ๊กบี้ พล.ต.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ในเวลานั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การถวายงานและการปฏิบัติงานร่วมกับ ทม.รอ.เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ในช่วงการเปลี่ยนรัชกาล จึงกำหนดความสัมพันธ์ให้ ทม.รอ.เป็นหน่วยบังคับบัญชาทางยุทธการ (Operation Command) ต่อ ฉก.ทม.รอ.904 จึงจัดตั้งหน่วยและบรรจุกำลังพลครั้งแรก นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของ ทบ.
ต่อมา เมื่อมีการปรับเปลี่ยนกำลังพลใน ฉก.ทม.รอ.904 จากการหมุนเวียนกำลังพล จึงมอบหมายให้ ผบ.ทบ.ออกคำสั่งบรรจุ หรือพ้นหน้าที่ ฉก.ทม.รอ.904 โดย กห.มอบอำนาจให้ ทบ.สามารถออกคำสั่งกำลังพล ทร. ทอ.ใน ฉก.ทม.รอ.904
โดยที่ผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ได้พัฒนาจาก ผบ.พล.1 รอ. ขึ้นไปตามตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ที่ได้รับตำแหน่งใน ทบ.ที่สูงขึ้น จน ผบ.ทบ.เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904
ช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ที่พ้นตำแหน่งจากหน่วยทหารรักษาพระองค์แล้ว ยังไม่พ้นหน้าที่ในการถวายงานเป็นรายบุคคล จึงยังอยู่ในหน่วย ฉก.ทม.รอ.904 ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์แท้จริง ที่ต้องการให้หน่วยทหารรักษาพระองค์ถวายงาน เมื่อไม่ใช่หน่วยทหารรักษาพระองค์ก็พ้นไป เว้นเฉพาะรายบุคคลเท่านั้น
จึงส่งผลให้คนเป็น ผบ.ทบ.ไม่เกี่ยวกับคอแดง คอเขียว ตั้งแต่แรก แต่เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดคอเขียว-คอแดง เพราะเหตุที่กองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 กองทัพภาคที่ 4 และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ไม่มีแม่ทัพภาค หรือคนที่มีอายุราชการเหลือหลายปีพอที่จะขึ้นมาเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ได้ ส่วนใหญ่จึงมาจากแม่ทัพภาคที่ 1
ในเวลานี้ทุกอย่างกำลังกลับเข้าสู่แผนและตามเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้ง ฉก.ทม.รอ.904 คือเมื่อใครพ้นจากหน้าที่ในการถวายงานแล้วก็ต้องกลับไปเป็นทหารคอเขียวตามเดิม
นอกจากนั้น ยังมีไฟเขียวให้ปรับหน่วยกำลังที่ขึ้นกับ ฉก.ทม.รอ.904 ใหม่ จนมีคำสั่งออกมารวม 63 หน่วย และหน่วยในพระองค์ใหม่อีก 4 หน่วย รวมเป็น 67 หน่วย
ที่สำคัญคือ มีการถอดกรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ (รพศ.3 รอ.) ออกจากการเป็นหน่วยคอแดง โดยให้กลับไปเป็นทหารคอเขียว แต่หมวกเบเร่ต์แดง ตามสไตล์รบพิเศษเช่นเดิม ที่จะทำให้หน่วยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยกำลังรบของกองทัพบกได้เต็มที่
ขณะที่กองทัพเรือ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ยังคงเป็น นย.คอแดง และหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ยังคงเป็นหน่วยรักษาพระองค์ ยังเป็น อย.คอแดงต่อไป
นอกจากนี้ ยังสถาปนาหน่วยทหารในพระองค์ อีก 4 หน่วย ในส่วนทหารม้า ของกองทัพภาคที่ 2 และ และทหารราบ กองทัพภาคที่ 3
คือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เชียงราย กรมทหารม้าที่ 6 ในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ กองพันทหารม้าที่ 6 กรมทหารม้าที่ 6 ในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และกองพันทหารม้าที่ 14 กรมทหารม้าที่ 7 ในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชริบทราบรมราชินีนาถ ขอนแก่น เพื่อไว้รองรับพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ถือเป็นการเปิดตำนานของทหารเหนือรักษาพระองค์ ทหารอีสานรักษาพระองค์ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากในอดีตเคยมีมาแล้ว ในส่วนของ พล.ร.6 และยกเลิกไป
ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าการเปลี่ยนแปลงเฉพาะในเชิงกายภาพ การแต่งเครื่องแบบยูนิฟอร์ม เท่านั้นหรือไม่ เพราะในที่สุดแล้ว ทหารคอแดงก็ยังคงเป็นเหล่าพิเศษ อีกทั้งกองทัพภาคที่ 1 ก็ถูกมองว่าคือ ขุมกำลังปฏิวัติหลักของกองทัพบก และแม่ทัพภาคที่ 1 ก็คือคนที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.นั่นเอง
เพราะในที่สุดแล้ว ผบ.ทบ.คนต่อๆ ไป ก็ต้องเคยเป็นทหารคอแดงมาก่อนนั่นเอง
จากนี้ไป กองทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพน้อยที่ 1 รองแม่ทัพภาคที่ 1 และรองแม่ทัพน้อยที่ 1 จะเป็นตำแหน่งที่รวมดาวรุ่ง ทบ.คอแดง ที่ถูกวางตัวไว้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คอเขียวนั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022