ทรัมป์กับยุคสมัย แห่งความโกลาหลรอบที่สอง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ทรัมป์กับยุคสมัย

แห่งความโกลาหลรอบที่สอง

 

ฉากแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกปรากฏตัวหลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2024 คือการขึ้นเวทีปราศรัยที่เต็มไปด้วย “ฝรั่ง” ผิวขาวผมบลอนด์โดยไม่มีคนเอเชีย, คนผิวดำ, คนผิวเหลือง หรือคนเชื้อสายละตินอเมริกาเลย

นาทีที่ทรัมป์ทำแบบนี้คือการสื่อสารว่าสหรัฐหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรอย่างชัดเจน

แม้สหรัฐจะมีอดีตประธานาธิบดีที่ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 หลายคน แต่ทรัมป์กลับเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกในรอบ 120 ปีที่ชนะเลือกตั้งหลังจาก “เว้นวรรค” เพราะแพ้เลือกตั้งหรือไม่ลงเลือกตั้ง (Non-consecutive Terms) ซึ่งแสดงให้เห็น “กระแส” การเมืองบางอย่างที่ก่อตัวในอเมริกา

ภายใต้เวทีปราศรัยที่มีแต่คนขาวใส่สูทราคาแพงราวกับมาจากสหรัฐยุคก่อนขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิพลเมือง ทรัมป์ประกาศว่าเขาจะซ่อมแซมอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ราวกับว่าอเมริกายุคนี้ตกต่ำแล้ว และนาทีที่ทรัมป์ทำแบบนี้คือการสื่อสารว่าโลกจะเจอกับสหรัฐแบบไหนด้วยเช่นกัน

ด้วยวิธีที่ทรัมป์ปรากฏตัวเมื่อรู้ว่าชนะระดับประธานาธิบดี, ส.ส.และวุฒิสภา ทรัมป์บอกกับโลกไปแล้วโดยปริยายว่าสหรัฐยุค “คนขาวเป็นใหญ่” (White Supremacy) จะเข้มข้นขึ้น, นโยบายชาตินิยมสหรัฐจะเฟื่องฟูขึ้น

เช่นเดียวกับความแข็งกร้าวต่อการเมืองภายนอกประเทศจะรุนแรงขึ้นเช่นกัน

 

ทรัมป์คือสัญลักษณ์ของการเมืองสุดโต่งแบบ “อนุรักษนิยม” ในอเมริกา

ชัยชนะของทรัมป์จึงเปิดประตูให้ฝ่ายชาตินิยมและอนุรักษนิยมมีอำนาจเหนือประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 อีกครั้ง

ขณะที่บทบาทสหรัฐในโลกมีแนวโน้มกลับไปเป็นแบบ Isolationism หรือเอาตัวเองรอดเพียงชาติเดียว

เมื่อคำนึงว่าทรัมป์คืออดีตประธานาธิบดีที่หาเสียงเลือกตั้งมาแล้ว 9 ปี ขณะที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เพิ่งหาเสียงเพียงแค่ 16 สัปดาห์ ผลเลือกตั้งที่จบด้วยชัยชนะของทรัมป์ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงจบแบบนั้น แต่คำถามมีอยู่ว่าชัยชนะของทรัมป์นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

พูดง่ายๆ ทรัมป์ชนะเพราะฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐเข้มแข็ง หรือเพราะฝ่ายเดโมแครตอ่อนแอลง

ย้อนไปหนึ่งวันก่อนวันลงคะแนน โพลแทบทุกสำนักพบว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริสจากพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำทรัมป์สูสีจนจะชนะเลือกตั้งแบบฉิวเฉียด ยิ่งกว่านั้นคือคะแนนใน 7 รัฐสะวิงโหวตก็จะจบด้วยชัยชนะของแฮร์ริส จนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะปิดฉากแบบเฉือนกันแค่นิดเดียว

ผมเคยพูดถึงการเลือกตั้งไทยปี 2566 ว่าเป็นเรื่องของ Realignment หรือ “เปลี่ยนขั้วย้ายข้าง” ซึ่งคนเคยเลือกเพื่อไทยหันไปเลือกคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลจนทั้งคนและพรรคชนะถล่มทลาย

และในการเลือกตั้งสหรัฐปี 2024 แนวโน้ม Realignment ก็เป็นเรื่องที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

 

โดยปกติแล้วพรรคเดโมแครตจะมีคะแนนนิยมสูงในหมู่ “คนรุ่นใหม่” ทางการเมือง แต่โพลบางสำนักพบตั้งแต่ก่อนลงคะแนนว่าประชาชนกลุ่มอายุ 18-29 ปีจะเลือกรองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตไม่ถึงครึ่ง

ขณะที่ความนิยมต่อนางแฮร์ริสในกลุ่มประชากรสูงวัยกลับสูงกว่าที่ผ่านมา

ถ้าทิศทางการลงคะแนนเป็นไปตามโพลสำนักนี้ การเลือกตั้งสหรัฐปี 2024 ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการ “เปลี่ยนขั้วย้ายข้าง” ที่ “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเท่ากับในอดีต ส่วนผู้สนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งปีนี้อาจเป็นไปได้ทั้งมากขึ้นหรือเท่ากับการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เมื่อเทียบผลเลือกตั้ง 2016 ที่ฮิลลารี คลินตัน ได้คะแนนเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนสูงสุด ( Popular Vote) ส่วนทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเพราะชนะคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งแทนประชาชน (Electoral Vote)

ชัยชนะของทรัมป์ในปี 2024 ก็สะท้อนความเติบโตของทรัมป์อย่างเห็นได้ชัดเจน

 

ทันทีที่การนับคะแนนเลือกตั้งในมลรัฐต่างๆ เสร็จสิ้นลง รายงานข่าวของ New York Times ระบุว่าคะแนนเสียงของทรัมป์เพิ่มขึ้นแทบทุกรัฐเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ทรัมป์แพ้ไบเดนอย่างย่อยยับ ยิ่งกว่านั้นรัฐที่เคยถือว่าเป็น Safe Zone ของฝ่ายเดโมแครตก็มีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป

Blue States หรือ “รัฐสีน้ำเงิน” คือคำที่คนสหรัฐใช้เรียกรัฐซึ่งเชื่อว่าจะเลือกพรรคเดโมแครตตลอดกาล

แต่ในการเลือกตั้งปี 2024 รัฐกลุ่มนี้อย่างเดลาแวร์, โรดไอส์แลนด์ และเวอร์มอนต์ ก็หันไปเลือกพรรครีพับลิกันด้วย และแม้แต่นิวยอร์กกับนิวเจอร์ซีย์ก็มีคนเลือกแบบนี้เพิ่มขึ้น 10%

ชัยชนะของทรัมป์คือชัยชนะของกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งในสหรัฐที่สามารถระดมเสียงประชาชนจน “กินรวบ” ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร สหรัฐอเมริกาในยุคทรัมป์จึงเป็นสหรัฐที่จะ “เลี้ยวขวา” มากขึ้นแน่ๆ เพราะ “กระแส” ประชาชนที่เปลี่ยนไปและการเข้าถึงอำนาจเหนือรัฐบาล

ทรัมป์ในวัย 78 คือชายแก่ที่สุดที่เป็นประธานาธิบดีอเมริกา แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าความแก่คือความอนุรักษนิยมที่ทรัมป์จะพาสังคมสหรัฐและสังคมโลกเลี้ยวขวาไปด้วย

เพราะชัยชนะของทรัมป์มาจากการสร้างภาพว่าตัวเองคือผู้นำที่เข้มแข็งในโลกที่ผันผวนเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่ถดถอยเท่านั้นเอง

 

ทรัมป์ปราศรัยหลังชนะเลือกตั้งว่านี่คือวันที่คนสหรัฐกลับมา “ควบคุม” ประเทศของตัวเอง คำพูดนี้สร้างวาทกรรมว่าสหรัฐก่อนหน้านี้ถูก “ควบคุม” ด้วยคนซึ่งไม่ใช่คนผิวขาวฝ่ายขวาจนประเทศย่อยยับ สหรัฐยุคทรัมป์จึงเป็นการเมืองสุดโต่งที่จะกำจัดศัตรูทั้งในและนอกประเทศอย่างแน่นอน

คำถามที่ไม่มีใครรู้คือสหรัฐเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่คนผิวสีและคนทุกชนชั้นต้องการสังคมแบบเปิด (Open Society) เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง จะเกิดอะไรหากทรัมป์ทำให้ระบบการเมืองเรียวแคบจนอยู่ภายใต้คนผิวขาวขวาจัดสุดโต่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไรเลย?

เดาได้ไม่ยากว่านโยบายเศรษฐกิจยุคทรัมป์จะเดินหน้าสู่การลดดอกเบี้ยและลดภาษีเพื่อเอาใจคนผิวขาวที่ร่ำรวยตามปรัชญาของฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐอเมริกา

ยิ่งกว่านั้นคือการตั้งกำแพงภาษีหรือกีดกันการค้า (Protectionism) ก็จะทวีความเข้มข้นเพื่อปกป้องธุรกิจรายใหญ่ในสหรัฐด้วยเช่นกัน

คนสหรัฐนับล้านกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและบทบาทในการเมืองโลกของจีน และแน่นอนว่าสหรัฐยุคทรัมป์น่าจะทำทุกทางเพื่อลดอิทธิพลจีนลง

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐจนโลกเดินหน้าสู่ความตึงเครียด หรือ “สงคราม” อย่างที่หลายคนกังวล

สหรัฐยุคทรัมป์จะบีบให้จีนปรับตัวโดยย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากำแพงภาษีและการกีดกันการค้า

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของจีนแน่ๆ เช่นเดียวอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน

 

นโยบายเอาตัวรอดหรือ Isolationism จะทำให้สหรัฐยุคทรัมป์ยุ่งกับโลกน้อยลง นั่นเท่ากับว่าบทบาทสหรัฐในยูเครน, ในพม่า, ในเอเชีย, ในตะวันออกกลาง, ในปัญหาโลกร้อน ฯลฯ ก็จะลดลงด้วย ตัวอย่างเช่น ทรัมป์ประกาศต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าโดยอ้างว่าทำให้คนงานสหรัฐตกงานแต่คนจีนรวย

ทรัมป์เป็นผู้นำที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางประชาธิปไตยโดยตัวเองไม่เคยเชื่อประชาธิปไตย ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์มาจากการใช้สำนวนโวหารปลุกระดมจนคนเลือกเพราะความกลัวปัญหาต่างๆ ขณะที่นโยบายของทรัมป์ไม่มีที่ว่างให้หลักการความเสมอภาค, เสรีภาพ และภราดรภาพเลย

ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ Star Wars ที่พูดถึงการต่อสู้ระหว่าง “จักรวรรดิ” ของผู้นำกับ “สาธารณรัฐ” ขอประชาชน ทรัมป์ก็เปรียบได้กับตัวละครอย่างดาร์ธ เวเดอร์ หรือซิธ ลอร์ก ที่ได้อำนาจเพราะการปลุกปั่นความเกลียดชังและความกลัวการไร้ระเบียบในสังคมจนคนยอมรับการใช้อำนาจแบบเผด็จการ

ทรัมป์เป็นตัวอย่างของ “ด้านมืดในระบบประชาธิปไตย” หรือ Dark Side Of Democracy ที่คนบางคนเข้าสู่อำนาจด้วยการปั่นกระแสความกลัว, ความเกลียด, ความหวาดระแวง, ความวิตกต่อความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ แล้วใช้อำนาจที่ได้มานั้นไปในทิศทางที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย

สหรัฐภายใต้ยุคทรัมป์ตกอยู่ในสภาพที่ประชาชนเผชิญการกลับมาของจักรวรรดิแบบ The Return of the Empire ที่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยจะถูกทำลายทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

เตรียมตัวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความโกลาหลที่ทรัมป์จะทำให้เกิดทั้งในและนอกประเทศอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว 4 ปี