MatiTalk รมว.มาริษ เสงี่ยมพงษ์ เปิดวิชั่นวางเป้าการต่างประเทศ ‘ยุคแพทองธาร’ มุ่งเชิงรุก เป้าหมายชัด ทำไทยผงาดเวทีโลกอีกครั้ง

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

MatiTalk รมว.มาริษ เสงี่ยมพงษ์

เปิดวิชั่นวางเป้าการต่างประเทศ ‘ยุคแพทองธาร’

มุ่งเชิงรุก เป้าหมายชัด

ทำไทยผงาดเวทีโลกอีกครั้ง

 

“นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ต้องเป็นนโยบายที่ต้องกลับมาสู่มือของประชาชนหรือกลับมาสร้างความอยู่ดีให้กับประชาชน” มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ MatiTalk พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ถึงเป้าหมายนโยบายต่างประเทศที่จะต้องดำเนินการเชิงรุกอันจะทำให้มีบทบาทด้านต่างประเทศมากขึ้น เปรียบประหนึ่งทำให้ไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์โลกอีกครั้ง อย่างที่หลายๆ คนเสนอและสนับสนุนให้ผู้นำกระทรวงบัวแก้วดำเนินการ

รมว.ต่างประเทศระบุว่า การต่างประเทศของไทยในยุคจากนี้ไปมีเป้าหมายอยู่ 2 ประการ

ประการแรก นโยบายการต่างประเทศเพื่อประชาชนที่ต้องจับต้องได้

ประการที่สอง ต้องเป็นนโยบายเชิงรุก ทั้ง 2 ประการจะต้องมีเป้าหมายชัดเจนที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและต้องส่งผลไปถึงประชาชน

ผมพูดในหลายๆ โอกาสว่าในศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของเอเชีย ซึ่งนี่เป็นคำพูดของท่านนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย การจะไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ ต้องมีจุดเชื่อมโยง คือ ประชาชน วิสัยทัศน์ (vision) ตรงนี้ก็ทำให้กระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบันต้องมาพิจารณากันใหม่ว่า การต่างประเทศของประเทศไทยที่สำคัญคือ “การต่างประเทศเพื่อประชาชนและนโยบายเชิงรุก”

ดังนั้น ในศตวรรษที่ 21 Foreign policy กับ Public policy เกือบจะเป็นนโยบายเดียวกัน เพราะว่า Public policy หรือนโยบายสาธารณะ ถือเป็นนโยบายเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน การทำมิติเดียวคือมิติภายในประเทศไม่ยั่งยืนอีกต่อไป ต้องมีมิติของการต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริม

ฉะนั้น เมื่อเราสามารถจำแนก (identify) กันได้อย่างนี้ว่าเป็นการต่างประเทศเพื่อประชาชน

Public policy จะต้องถูกกำหนดให้มีบทบาทสำคัญใน Foreign policy เป้าหมายสำคัญเพื่อนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและดำเนินนโยบายเชิงรุก เพราะในโลกปัจจุบันเป็นยุคที่มีความแตกแยก (Fragmented World) มีความพยายามที่จะใช้ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และมีความพยายามที่จะให้มีการเลือกข้าง (polarization)

ในโลกปัจจุบันมีอยู่ 2 ขั้ว คือ ขั้วของตะวันตกซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และขั้วตะวันออกซึ่งมีรัสเซีย จีน อินเดียเป็นผู้นำ ดังนั้น ประเทศไทยเราไม่ใช่มหาอำนาจ เราเป็นประเทศเล็กไม่สามารถที่จะอยู่ได้บนพื้นฐานท่ามกลางความขัดแย้ง และไม่สามารถที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้ ต้องพยายามมองจุดยืนของตัวเองเพื่อให้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งตรงนี้ให้ได้

สำคัญที่สุดเราจะต้องดำเนินนโยบายที่สามารถเข้ากันได้ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เป็นกลางอีกต่อไปแล้ว ต้องดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นศัตรูแต่เป็นเพื่อนกับทุกประเทศ

สิ่งสำคัญที่สุดผมมองว่า อีกขั้วหนึ่งซึ่งจะมีบทบาทมากคือขั้วของ global south ประเทศกำลังพัฒนา เพราะฉะนั้น เราต้องการมีบทบาทนำ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่เราจะทำอย่างไรในฐานะเป็นประเทศเล็กและเป็นหนึ่งในสมาชิกของประเทศกำลังพัฒนา การที่จะไปขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศกำลังพัฒนามีความแตกต่างกันทั้งในระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค่านิยม วัฒนธรรม

ดังนั้น การที่จะรวมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบันจะต้องมีประเทศที่เป็นแกน (Core) ของกลุ่ม และนั่นคือ Emerging Economy (เศรษฐกิจเกิดใหม่) ซึ่งจะเป็นตัวหลักผลักดันบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาให้ก้าวเข้ามาอยู่ในบริบทของประชาคมโลกให้ได้ เพื่อไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องสูญเสียความยุติธรรม เพราะในปัจจุบันหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตกอยู่ในมือของมหาอำนาจ

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องการมีบทบาทนำมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ บนพื้นฐานของการมีบทบาทนำที่จะใช้แต้มต่อทางการเมืองร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาในฐานะที่เรากำลังเป็น Emerging Economy

 

สําหรับกรอบความร่วมมือในมิติของการต่างประเทศ มีอยู่ 2 ประเภท คือ ทวิภาคีและพหุภาคี

ในส่วนทวิภาคีไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เมื่อเราเป็นประเทศที่ไม่มีศัตรู เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ของทวิภาคีค่อนข้างครอบคลุมและมีผลสะท้อนในกรอบของทวิภาคีค่อนข้างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้าน

อีกด้านหนึ่งคือด้านพหุภาคี อยากให้เห็นว่านโยบายของเราเริ่มเปลี่ยน (shift) ในอดีตเรามีบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีกับประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยมีความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนมาเป็นเวลาช้านาน แล้วก็ยังคงจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไปอีกในอนาคตไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็ไม่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม โลกเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง โลกเริ่ม fragmented ดังนั้น นโยบายหรือการต่างประเทศของไทยก็ค่อยๆ เปลี่ยน จากประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจแล้วก็ประเทศทางตะวันตก ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นความสัมพันธ์แบบพหุภาคี (collective approach)

 

ผมมองว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญใน BRICS ซึ่ง BRICS เป็นแกนหลักของประเทศกำลังพัฒนา

ผมได้ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของ BRICS ซึ่งได้ไปยืนยันบทบาทของประเทศไทยที่ต้องการเป็นผู้ที่มีบทบาทนำและความร่วมมืออย่างเข้มข้น (Active participation) กับประเทศที่เป็น Emerging Economy เพื่อพยายามจะร่วมมือกับทุกประเทศ

ไม่ได้ต้องการไปเอาเปรียบใคร แต่ว่าต้องการเป็นตัวประสานผลประโยชน์และขับเคลื่อนให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของโลก รวมทั้งกำหนดระเบียบโลกให้มีความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ตกอยู่ในมือของแค่ประเทศมหาอำนาจหรือกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

เมื่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ได้เข้าไปมีส่วนในการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลก

สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งผมได้พูดในเวทีของ BRICS มากที่สุดก็คือ เรื่องของ Financial Architect ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีโอกาสได้นำชี้แจงความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาอย่างพวกเราด้วย เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

 

หากย้อนไปความสัมพันธ์แบบพหุภาคี (collective approach) แรกเริ่มเลยคือในปี 1967 ประเทศไทยเป็น founder ของอาเซียน อาเซียนได้เริ่มมีบทบาทและมีความสำคัญในช่วงนั้น จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน collective approach หรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็น Family เดียวกัน ในกลุ่มประเทศทั้งหลายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคืออาเซียน เราก็จำเป็นจะต้องแสดงบทบาทนำในทุกๆ กรอบ

อาเซียนเองเกิดขึ้นโดยมีประเทศไทยเป็นจุดกำเนิดของประเทศอาเซียน Bangkok Declaration ลงนามไว้เมื่อปี 1967 ประเทศไทยมีบทบาทนำในอาเซียน แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราเรียนรู้ด้วยตัวเราเองว่าการที่จะนำการเมืองเข้ามาแต่เพียงอย่างเดียวไปไม่รอด ดังนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้า และเป็นการเปลี่ยนพาราไดม์ (paradigm) ที่ทำให้ประเทศอาเซียนมีความเข้มแข็งร่วมกันอย่างแท้จริง

ปัจจุบันอาเซียนคือประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศอาเซียนด้วยกันทั้งหมด เรียกว่า “each and every Asean” ถัดจากความร่วมมือทางด้านการเศรษฐกิจอาเซียน เรื่อยมาถึงความร่วมมือในด้านสังคม

หากถามว่าเราจะกลับมามีบทบาทสำคัญของอาเซียนได้อย่างไร เรื่องของ sustainable development ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพอย่างเต็มที่ ประเทศไทยยังคงมีบทบาทนำมากในเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาทาง sustainable development ถือเป็นบทบาทสำคัญที่ประเทศไทยภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธารจะใช้ในการสร้างบริบทของการเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน

ขณะเดียวกันสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะมีบทบาทนำมากที่สุดก็คือ เรื่องของการบูรณาการทางสังคม (integrate) ของประชาคมอาเซียนให้เข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างแท้จริง การที่สังคมประเทศอาเซียนจะยั่งยืน ในปัจจัยทั้งหลายก็ต้องรองรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งความมั่นคงของมนุษยชาติ (human security) ประเทศไทยมีบทบาทหนักมากในเรื่องของภาคสังคม

ในส่วนของ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญคือไทยและอินเดีย เพราะฉะนั้น เราถึงใช้ศักยภาพที่เรามีกับประเทศอินเดียไปขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในกรอบเล็กๆ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของ BIMSTEC นำไปสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืนมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เพราะฉะนั้น นโยบายภายใต้การนำของท่านนายกฯ แพทองธารก็คือทวิภาคีที่สำคัญ

กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้การต่างประเทศที่ไปสร้างความร่วมมือทวิภาคีนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนในกรอบของพหุภาคี ซึ่งเป็นเรื่องของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง มี 5 ประเทศ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีการร่วมมือกันมานานแล้วในกรอบของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงโดยดึงเอาความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงมาวางแผนร่วมกันกับ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ดังนั้น สิ่งที่กำลังจะทำกันต่อไปและผมได้ริเริ่มคือ การเจรจากับประเทศที่เป็นสมาชิกแม่โขง เมื่อเรามีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงมากมายเหลือเกิน มีประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการเข้ามาเล่นเข้ามามีส่วนช่วยเหลือ เราจะมาประชุมร่วมกันเพื่อที่จะขยายหลักการ (principle) และการดำเนินการ (activity) ทั้งหมดเพื่อให้ไปแก้ปัญหาของประเทศไม่ใช่เฉพาะของประเทศไทยประเทศเดียว อย่างเช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง โดยมีประเทศที่เป็นหุ้นส่วน รวมทั้งยังมี Mekong River Commission ซึ่งมีองค์ความรู้ในเรื่องบริหารจัดการน้ำรวมทั้งเรื่องฝุ่นควัน รวมทั้งปัญหาอื่นๆ อย่าง transboundary crimes (อาชญากรรมข้ามพรมแดน) เพราะฉะนั้น ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงจะมีบทบาทสำคัญและมีความสำคัญกับประเทศไทย ในการแก้ปัญหาเรื่องของ transboundary crimes ยาเสพติดเรื่อง Human trafficking ออนไลน์ scamหรือปัญหาที่นอกจากอาชญากรรม คือปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเผาทำลายวัตถุทางการเกษตร

ชมคลิป

https://www.youtube.com/@MatichonWeekly