ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ขยับอะไรในทางอำนาจไม่ค่อยถนัดนัก
1. พรรคแกนนำรัฐบาลอำนาจน้อยลง ผลจากโครงสร้างการเมือง-การปฏิรูปกฎหมายรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
2. อำนาจต่อรองพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ผลจากโครงสร้างการเมืองหลังรัฐประหาร ออกแบบให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นมาอย่างยากลำบาก เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เสถียรภาพน้อย
1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พิสูจน์เรื่องนี้ไปแล้ว ว่าทำงานยากลำบากแค่ไหน ต่อให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาปากท้อง พยายามลดปัญหาทางการเมืองต่างๆ แล้วก็ตาม
2 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลแพทองธาร ก็กำลังทำงานอยู่ใน “โครงสร้างปัญหาเดิม”
นโยบายเรือธงหลายเรื่องโดยเฉพาะทางการเมืองถูก “เตะสกัด” ตั้งแต่บรรดาเทคโนแครตนักวิชาการขาประจำ ยันพรรคร่วมรัฐบาล
การเรียนรู้ปัญหา พบเจออุปสรรคตลอดปีกว่าๆ ของรัฐบาลเพื่อไทย จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร เห็นชัดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า แกนนำเพื่อไทยล้วนเห็นภาพตรงกันว่านโยบายทางการเมืองสำเร็จยาก เพราะพลังของฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลงยังเข้มแข็ง จ้องจับผิด และพร้อมนำทุกปัญหาไปยกระดับเป็นวาระล้มรัฐบาลได้เสมออย่างไม่ต้องฟังเหตุฟังผล
เหลือเพียงนโยบายเศรษฐกิจที่จะมีโอกาสผลักดันให้สำเร็จได้
รูปธรรมคือกรณีการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง ทำให้กลไกเศรษฐกิจกลับมากระปรี้กระเปร่าขึ้นอีกนิด ที่ผลโพลออกมาชี้ชัดว่าช่วยขยับคะแนนนิยมให้ตัวนายกฯ และพรรคเพื่อไทย
เป็นที่มาของ “โครงการทางเศรษฐกิจใหม่ๆ” ที่รัฐบาลแพทองธารเร่งเครื่องผลักดันต่อเนื่องพร้อมๆ กันในขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ “นโยบายบ้านเพื่อคนไทย” นำที่ดินของรัฐมาสร้างบ้านราคาถูกให้คนไทยเช่าอาศัยระยะเวลา 99 ปี แก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ขาดศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าหวยเกษียณปูพื้นฐานให้คนมีเงินใช้ในบั้นปลาย
พร้อมๆ ไปกับการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ พุ่งเป้าไปที่ส่วนอุตสาหกรรมอนาคต การสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ การผลักดันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ขณะที่นโยบายสังคมก็เดินหน้า ล่าสุด แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติโดยอนุมัติล็อตใหญ่ 4.8 แสนคน
แถมยังอุดช่องว่างการถูกเอาไปโจมตีเป็นที่เรียบร้อย ว่าไม่ใช่การไปเที่ยวแจกสัญชาติใคร ปล่อยให้คนมาสวมรอยง่ายๆ แต่คือคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ลงหลักปักฐานเมืองไทยนานแล้ว แต่ผลจากระบบราชการที่ล่าช้าทำให้พวกเขาไม่ได้รับสัญชาติเพราะต้องรอคิวกันหลายสิบปี ครม.นี้จึงมาปลดล็อกปัญหานี้
เรื่องนี้ได้รับการชื่นชมแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศ เอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านสิทธิในเมืองไทยมานาน กระทั่งอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ยังออกปากชม
นั่นคือยุทธศาสตร์การทำงานของรัฐบาลวันนี้ เรื่องที่เป็นจุดอ่อนอย่างการเมือง ขอยอมกลืนเลือด นิ่งไว้ก่อน และขยับหาโอกาสใหม่ๆ กับนโยบายสังคม-เศรษฐกิจ
เป็นที่มาของผลสำรวจคะแนนนิยมนักการเมืองประจำเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของสวนดุสิตโพล นายกฯ แพทองธาร ขึ้นอันดับ 1 เพิ่มจากเดือนกันยายน สวนทางกับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่คะแนนนิยมลดลง
แน่นอน จะเอาทั้งคู่มาเปรียบเทียบกันก็ไม่ยุติธรรม เพราะนายณัฐพงษ์อยู่ในบทบาทฝ่ายค้าน เพียงแต่ในสถานการณ์การเมืองที่บีบคั้นพรรคเพื่อไทยวันนี้ในแง่หนึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังเชื่อว่า น.ส.แพทองธารสามารถนำรัฐบาลเพื่อไทยไปจนตลอดรอดฝั่งได้ และยังไม่เชื่อตามที่ฝ่าย “อริเก่าของรัฐบาลเพื่อไทย” พยายามจุดกระแส
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคสมัยรัฐบาลเพื่อไทย
1. เครื่องไม้เครื่องมือไม่เอื้ออำนวย การใช้อำนาจเป็นไปอย่างยากลำบาก งบประมาณมีน้อยไปจนถึงไม่มี
2. ต้องแก้ปัญหาอุดรอยรั่วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อน โดยเพราะปัญหาหนี้สาธารณะ งบประมาณผูกพันต่างๆ
3. โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ที่เป็นตัวฉุดรั้งโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา
4. ปัญหาการเมืองที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะเทคโนแครตฝ่ายจารีตนิยมที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองกับรัฐบาลเพื่อไทย (ไทยรักไทยในอดีต)
5. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นยิ่งกว่าในอดีต ราคาพลังงานสูงลิบ
นั่นคืออุปสรรคเบื้องต้นของรัฐบาลเพื่อไทย คำถามต่อมาคือ รัฐบาลเพื่อไทยจะฝ่าหลุมดำวิกฤตเศรษฐกิจไปได้อย่างไร
ในวันที่ยังดึงเงินจากที่อื่นมาเข้ากระเป๋าได้น้อย ไม่ต้องเป็นนักธุรกิจก็รู้ว่าต้องเริ่มจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตัวเองก่อน โดยเฉพาะค่าพลังงานที่ปัจจุบันดึงเงินออกจากกระเป๋าคนไทยสูงมาก
จึงเป็นที่มาของการพูดถึงพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาใต้ทะเล ที่ว่ากันว่ามีปริมาณพลังงาน น้ำมันระดับมหาศาล มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านล้านบาท
แน่นอนว่าปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่มีแค่ไทยกับกัมพูชา เพราะกับมาเลเซีย เวียดนามเราก็มี แต่ก็สามารถเจรจาตกลงกันได้
แต่กรณีของกัมพูชามีความพิเศษ ผลจากบาดแผลชาตินิยมที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะจากกรณีเขาพระวิหารที่ขบวนการการเมืองฝ่ายขวาไทยจุดประเด็นเรื่องนี้จนนำไปสู่สงคราม
ลุกลามมาจนถึงปัจจุบันในสมรภูมิโซเชียลมีเดียมักพบการปะทะคารมระหว่างนักท่องเน็ตชาวไทยและกัมพูชา ในทุกๆ ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน
เมื่อน้ำมันถูกราดกับพื้น ก็รอเพียงคนมาจุดกองไฟ
ช่วงแรกของการพูดถึงกรณีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน จึงถูกโยงไปที่ประเด็นเกาะกูด อาจตกเป็นของกัมพูชา จนสร้างความฮือฮาขึ้นในโซเชียล
แถมถูกนำมาขับเน้นทางการเมือง กองทัพบ้านป่ารอยต่อฯ แกนนำพรรคพลังประชารัฐออกมาร่วมขย่ม การเดินหน้าเอ็มโอยู 44 ทำให้ไทยเสียดินแดน
แต่รอบนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลแก้เกมไว เพราะมีบทเรียนจากกรณีเขาพระวิหาร จึงคิดมาอย่างดีว่าต้องเจอกับอะไร
กระทรวงการต่างประเทศทำงานอย่างรวดเร็ว อธิบายที่มาที่ไป พร้อมคำยืนยันยังไงเกาะกูดก็ไม่มีทางเป็นของกัมพูชาไปได้ กรณีเอ็มโอยู 44 เป็นเพียงแค่การเสนอกรอบการเจรจาว่า ทั้งสองชาติจะหาทางออกเรื่องนี้ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุย
ถ้ามองในเชิงโอกาส ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ของรัฐบาลเพื่อไทยกับผู้นำกัมพูชาเป็นไปด้วยดี ไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะจะปิดเกมพื้นที่ทับซ้อนได้ดีเท่านี้
ยิ่งการที่การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ไม่มีภาพ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ทำงานคอยตรวจสอบรัฐบาลอยู่ ความกังวลเรื่องความเสียเปรียบของไทยก็ลดน้อยลง
นั่นทำให้โจทย์การปลุกระดมต่อต้าน ไปจนถึงการหวังล้มรัฐบาลต้องขยับไปสู่วาระใหม่ๆ เช่น การไม่ไว้ใจรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งก็กำลังถูกขับเน้นมากขึ้นจากนี้จากฝ่ายบ้านป่าฯ
เรื่องนี้ต้องให้เครดิต กษิต ภิรมย์ อดีต รมต.ต่างประเทศ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ใครก็รู้ว่ากษิตมีจุดยืนอย่างไรกับทักษิณ ชินวัตร แต่เขาออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ว่าถึงเวลาที่จะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์กันให้ลงตัว ด้วยเหตุด้วยผล ดีกว่าใช้ความรุนแรงต่อกัน
ที่สำคัญอย่างดึงเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นการเมืองชาตินิยม หรือคลั่งชาติว่าไทยจะเสียเกาะกูด ยืนยันว่ากรอบ MOU 44 ไม่ใช่ผู้ร้าย ยังไงก็ต้องคุยกัน
นอกจากรัฐบาลเพื่อไทยจะทันเกม ขบวนการการเมืองจารีตนิยมมากขึ้นกรณีเกาะกูด ยังเดินเกมเรื่องนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างรอบคอบ
เพราะโดยพื้นฐานพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่กับนโยบายการเมืองของพรรคเพื่อไทยช่วงหาเสียงไม่สู้จะสอดคล้องกัน
กรณีรัฐธรรมนูญ กรณีประชามติ กรณีบ่อนกาสิโน นโยบายกัญชา กรณีนิรโทษกรรม “คือบทเรียน” ตลอดปีที่ผ่านมา
กรณีเอ็มโอยู 44 พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อไทยจึงเดินเกมอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุย ทำความเข้าใจ เคลียร์ใจกันให้จบบนโต๊ะ
จากนั้นจึงออกมายืนพร้อมหน้าแถลงจุดยืนทางนโยบายในนามรัฐบาลอย่างชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อ รับฟังเสียงท้วงติง พร้อมถูกตรวจสอบ ยืนยันจะไม่ไให้ทยเสียประโยชน์อย่างเด็ดขาด
การทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนใครในประเด็นต่างๆ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาลแพทองธารจากนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022