ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐ) ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน และ กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ท่ามกลางกระแสตื่นตัวจากชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์กว่า 82 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 244 ล้านคนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังถือเป็นการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ เพราะโพลหลายสำนักคาดการณ์ก่อนการเลือกตั้งว่า ทรัมป์กับแฮร์ริสต่างก็มีคะแนนนิยมเบียดกันอย่างสูสี และเชื่อว่าน่าจะชี้ขาดผล “แพ้-ชนะ” กันที่สะวิงสเตต
ผลปรากฏว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้สำเร็จ โดยได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Votes ทะลุ 270 เสียง
ชนะในรัฐสมรภูมิอย่างนอร์ธแคโรไลนา จอร์เจีย เพนซิลเวเนีย ฟลอริดา เท็กซัส ฯลฯ ทำให้ทรัมป์หวนคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังจากเคยพ่ายแพ้ต่อโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020
ขณะเดียวกันทรัมป์ยังกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 แบบที่ไม่ต่อเนื่องกันอีกด้วย ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ และมูลค่าของบิตคอยน์ต่างก็ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์และนักลงทุนเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนชัยชนะของทรัมป์
ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ วัย 78 ปี ประกาศชัยชนะต่อหน้าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยให้คำมั่นว่าจะนำ “ยุคทอง” มาสู่สหรัฐ
“ผมอยากขอบคุณชาวอเมริกันสำหรับเกียรติอันพิเศษที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 และคนที่ 45 เราจะช่วยกันปกป้องประเทศของเรา เราจะแก้ไขทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศของเรา เราจะแก้ไขพรมแดนของเรา
“เราสร้างประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลบางอย่าง เราจะเอาชนะอุปสรรคที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ ฟื้นฟูอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นี่จะเป็นยุคทองของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง” ทรัมป์กล่าว
ขณะที่ผู้นำประเทศต่างๆ ก็ได้ออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของทรัมป์ในครั้งนี้ด้วย นำโดย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล วิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีฮังการี เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
รวมทั้ง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนด้วย
แต่ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่าการที่ทรัมป์กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งก็ได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนทั่วโลกเช่นเดียวกัน เนื่องจากนโยบายทางการเมืองที่มีความสุดโต่งในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การจัดการผู้อพยพ สงครามในยูเครน และตะวันออกกลาง ซึ่งเขาพร้อมเดินหน้าชนได้ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยที่ไม่ฟังเสียงค้านสังคมโลก
สอดคล้องกับมุมมองของ ศ.ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล อดีต รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการพิเศษ เกาะติดนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ US Election Watch 2024 ผ่านสื่อเครือมติชน
ศ.ดร.กันตธีร์มองว่า การมาของทรัมป์จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความเกลียดชังระหว่างชาวอเมริกันกับผู้อพยพ รวมทั้งประเด็นเหยียดสีผิวเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่มีความกลัวกันว่าจะมีการใช้ความรุนแรง สิ่งที่เขากลัวกันก็คือทรัมป์จะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนอเมริกันกับคนผิวสีมากขึ้น การที่อเมริกามีการฆ่ากัน มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ตรงจุดนี้จะทำให้มันแย่ลง”
“เพราะทรัมป์ได้สร้างความเกลียดชังกับผู้คนที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาแบบผิดกฎหมาย กลายเป็นว่าใครที่ไม่ใช่คนอเมริกันดั้งเดิม ก็อาจจะโดนด้วยเหมือนกัน เพราะเขาบอกว่าประเทศสหรัฐถูกยึดโดยคนต่างชาติที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย”
“พูดแบบสร้างภาพว่าคนที่มาจากต่างประเทศ น่าจะเป็นคนผิดกฎหมายทั้งนั้น ซึ่งมันไปไกลมาก ดังนั้น คนเอเชียก็ต้องระวัง”
“และเท่าที่ทราบคือข้าราชการหลายท่านในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แสดงเจตนาที่จะลาออกถ้าทรัมป์เข้ามา เพราะทรัมป์ได้ประกาศแล้วว่าเขาจะแก้แค้น”
“ใครที่ไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ ไม่สนับสนุนทรัมป์ถือว่าเป็นศัตรู และเขาพยายามหาวิธีทางตามข้อกฎหมายเพื่อไล่คนเหล่านี้ออก เพราะเมื่อครั้งที่แล้วที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีคนลาออกไปเยอะพอสมควร ซึ่งครั้งนี้เขาก็เตรียมลาออกกันเยอะ” ศ.ดร.กันตธีร์กล่าว
ขณะเดียวกัน อดีต รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย เชื่อว่าถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้ว เขาก็อาจจะเปลี่ยนโฉมประเทศสหรัฐอเมริกาไปโดยสิ้นเชิง อาจจะกลายเป็นเผด็จการหรือไม่อย่างไร เพราะครั้งที่แล้วสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในทำเนียบขาว ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่พยายามยับยั้งในสิ่งที่ทรัมป์จะทำ โดยที่สร้างความเสียหายต่อสหรัฐมากเกินไป
แต่ตอนนี้ทรัมป์มีเจตนาชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่แบบนั้นอีกต่อไป เพราะทีมงานของเขาจะเป็นทีมที่สั่งการได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น กระทรวงต่างๆ ก็จะมีคนของทรัมป์เข้าไปอยู่ด้วย และจะไม่มีใครเข้ามายับยั้งทรัมป์ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง
“ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องก็คือระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดโอกาสให้อาชญากรที่ได้รับการตัดสินแล้วว่ามีโทษจริง และยังมีคดีอีกมากมาย สามารถที่จะลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีได้ ซึ่งประเทศอื่นๆ ในโลก ส่วนมากจะไม่ยอมให้คนลักษณะนี้เข้ามาแข่งขันได้”
“ทรัมป์เป็นคนแรกที่ใช้การเลือกตั้งมาฟอกความเป็นอาชญากร ทำให้ตัวเองขาวสะอาด ซึ่งตรงจุดนี้ก็เป็นอันตรายสำหรับประชาธิปไตย และมันจะยากในอนาคตที่ว่าสหรัฐจะกลายเป็นประเทศที่ไปสั่งสอนประเทศอื่นในเรื่องของประชาธิปไตยได้อย่างไร”
“ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดคือยุโรป เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์ก็ได้ทำให้นาโตอ่อนกำลังลงไปเยอะแล้ว และเขาก็ได้ประกาศหลายครั้งว่าอาจจะถึงขั้นถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกนาโตด้วย”
“ยูเครนก็น่าจะโดนบีบให้มีการตกลงในลักษณะที่มีประโยชน์สำหรับรัสเซีย และวลาดิมีร์ ปูติน มากพอสมควร ส่วนภูมิภาคของเราทั้งเรื่องเศรษฐกิจการค้า ทรัมป์ก็ได้พูดในที่สาธารณะแล้วว่าจะมีการขึ้นกำแพงภาษี 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสินค้าทุกชนิดจากทุกประเทศ”
“แต่ว่าจีนจะขึ้นมากกว่า อาจจะขึ้นอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ หรือบางอย่างก็อาจจะพุ่งขึ้นต่อไปได้ และที่ต้องระวังคือคนไทยที่มาสหรัฐ จะมีความตึงเครียดในลักษณะเหยียดผิวมากขึ้น” ศ.ดร.กันตธีร์เผย
เช่นเดียวกับ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งมีประสบการณ์เคยเป็นนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ที่แสดงความคิดเห็นว่า จุดสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งคือความเป็นผู้นำแบบเก่า เปลี่ยนความคิดคนรุ่นใหม่จากเสรีนิยมให้กลายมาเป็นอนุรักษนิยม
“แคมเปญหนึ่งของทรัมป์น่าสนใจ ทรัมป์พูดว่าไม่ว่าจะเลือกเขาหรือไม่เลือกก็ตาม แต่เราจะปกป้องคุณ คือเป็นผู้นำแบบเก่าเลย เหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผมรับผิดชอบเอง ให้คุณปลอดภัยในอ้อมแขนผม ปรากฏว่ามันเวิร์กสำหรับเด็กรุ่นใหม่ในรัฐที่เป็นสะวิงสเตต”
“กลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นเสรีนิยมมากขึ้น กลับกลายเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น แต่ยังไม่ได้สรุปนะ ผมสันนิษฐานว่ามันก็แผ่ซ่านไป เพราะรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเด็กพวกนี้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ คำถามคือแล้วรุ่นลูกจะยังอาศัยได้อยู่หรือเปล่า หรือต้องไปร่อนเร่ที่ไหนในโลกเพื่อเอาตัวรอด”
“หลายปีที่ผ่านมาสหรัฐถูกมองว่าตกต่ำ มันจึงเกิดคำว่า Make America Great Again ทำสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะช่วงหลังๆ จุดที่อเมริกาตกลงมามากคือเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ เรื่องการขโมยเทคโนโลยี และพัฒนาเทคโนโลยีมันควบคู่กันไป แต่เท่าที่ผมสังเกตอเมริกาพ่ายทั้งคู่ ทั้งเรื่องการขโมยและพัฒนาเทคโนโลยี”
“คนอเมริกันมีความขัดแย้งภายในสูงมาก ดูจากเหตุการณ์การยิงกัน ยิงกันในโรงเรียน ยิงกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามันเกิดขึ้นถี่มาก เหมือนกับว่าคนอเมริกันเกลียดกันเอง เพราะมองว่าคนนี้ได้มาก หรือคนกลุ่มนั้นได้มากกว่า ทำให้ความอ่อนแอมันเกิดขึ้น”
“และเรื่องระบอบการปกครอง จีนบอกว่าเอาทุนนิยมมาเลี้ยงเป็นลูก แล้วเอาคอมมิวนิสต์กำกับไว้อีกทีโดยพรรคการเมือง”
“แต่อเมริกาไม่ใช่ มันกลับข้างกัน ทุนนิยมคือตัวกำหนดตลาด และกำหนดรัฐบาลด้วยว่าจะเล็กจะใหญ่ ผมว่าครั้งนี้มันเป็นการตัดสินตรงนั้นด้วยนะว่ารัฐบาลใหญ่หรือรัฐบาลเล็ก คุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้นหรือไม่” จักรภพกล่าวทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022