ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล
ย้อนเหตุการณ์กลับไปช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้นำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง มาเป็นจุดขายชูเป็นนโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งและเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน
ฉะนั้น เมื่อจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว แน่นอนว่าประชาชนย่อมคาดหวังว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเร่งเดินหน้าผลักดันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ตามที่พรรคให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง
โดยช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการตั้งคณะกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
ท้ายที่สุดตกผลึกออกมาเป็นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองที่เสนอ
ทั้งนี้ ประตูบานแรกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นขึ้นเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยปลดล็อกเงื่อนไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ 2 ชั้น (Double Majority) กลับไปใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้น (Simple Majority) สำหรับการหาข้อยุติเรื่องที่จัดทำประชามติ
แต่ทว่า เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ โดยให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority)
แน่นอนว่าการที่สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. เห็นต่างกับ ส.ส. ย่อมทำให้กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติล่าช้าออกไปและส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน โดยเฉพาะการทำประชามติพร้อมไปกับการเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องรอผลสรุปของกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ทางออกจะยึดหลักเกณฑ์การทำประชามติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะใช้เสียงข้างมากสองชั้น ตามที่ ส.ว.เสนอ หรือว่าใช้เสียงข้างมากปกติตามที่ ส.ส.เสนอ
ถ้าตกลงกันได้แนวโน้มน่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ทัน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ต้องพักร่างกฎหมาย 180 วัน เพื่อรอให้ ส.ส.ยืนยันร่างกฎหมายฉบับเดิมเข้าไปใหม่
ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้
ประกอบกับนายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกมาฟันธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงเกิดขึ้นไม่ทันในสมัยรัฐบาลนี้ เมื่อรวมเวลาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทันในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน
แต่มองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะทำประชามติพ่วงไปด้วยก็จะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าให้ทันกับรัฐบาลชุดนี้จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อใช้ในช่วงเดือนเมษายน 2570 แต่การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีกฎหมายลูกอีก
ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทัน และการเลือกตั้งทั่วไป ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามและประเมินสถานการณ์ กระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งระบบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานนโยบายที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้
ล่าสุด นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาระบุว่า ขณะนี้ฝ่ายบริหารของเพื่อไทยกำลังตั้งวงคิดกันอยู่ว่าจะมีซีนาริโอ 2-3 อย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ
1. ถ้ากฎหมายประชามติจำเป็นต้องรอ 180 วัน แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจทำไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าจะทำให้เสร็จต้องเร่งรัดขั้นตอนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นวิธีที่ยากลำบาก ก็กำลังคิดว่าหากเป็นแนวทางนี้จะเดินอย่างไร
2. คือกฎหมายประชามติเสร็จเร็ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา แบบนั้นจะทำให้จัดทำประชามติได้เร็วไม่เสียเวลา 180 วัน แบบนั้นก็มีแนวโน้มได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทัน
“หรือแนวทางที่ 3. เรากำลังคิดว่าจะมีวิธีการอื่นใดหรือไม่ ที่จะทำรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องรอกฎหมายประชามติฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้มีแนวคิดถึงการทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ แต่ต้องหารือกับหลายฝ่าย” นายชูศักดิ์ระบุ
ส่วนการทำประชามติ 2 ครั้งจะขัดกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์ระบุว่า ถ้าดูคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญ มีถึง 6 เสียงที่บอกว่าทำ 2 ครั้งก็พอ แต่สภาไม่กล้าฟันธง กลัวจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหารือกันว่าสุดท้ายควรเป็นอย่างไร
“ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำ เราพยายามเต็มที่ เป็นเรื่องที่เราตั้งใจ นโยบายก็ออกมาชัดเจนว่าต้องเร่งรัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในเป้าหมายที่เราอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแค่เราได้วางสถานการณ์เอาไว้ 3 แบบ ไม่ใช่ว่าเราล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายชูศักดิ์ระบุ
ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม ที่ต้องตกลงเรื่องการลดเงื่อนไขเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติได้หารือไม่ ถ้าตกลงกันได้เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้ทัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ จนต้องพักร่างกฎหมายไว้ 180 วัน ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้
“ไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทย เพราะทำเต็มที่แล้ว พรรคไม่ได้ยึกยักกระบวนการแก้ไข พรรคเพื่อไทยพยายามทำทุกทางแก้รัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้ การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราก็ทำแต่ก็มีปัญหาติดขัด ขณะนี้ขอให้รอการพิจารณา กมธ.ร่วมก่อนว่าจะพอตกลง ผ่อนปรนลดเงื่อนไขการทำประชามติได้หรือไม่” นายวิสุทธิ์ระบุ
ส่วนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรค พท.พลิกเกมจากที่ที่ประชุมสภาโหวตคว่ำร่างรายงานผลการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรรม มาเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่ยุ่งกับการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อรอพิจารณาร่วมกับอีก 4 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หากดูจากท่าทีของพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ไม่ได้ปิดประตู ยังมีความตั้งใจเดินหน้าผลักดันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จตามเป้าหมาย
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ท้าทายว่าพรรคเพื่อไทย จะก้าวผ่าน ทำได้สำเร็จหรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022