ฟองสบู่งานวิ่งแตก

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

งานวิ่งถนนในเมืองไทยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ.2560-2562 จากหลายปัจจัยประกอบกัน

ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้ก็คือกิจกรรมการวิ่งระดมทุนของ “ตูน บอดี้สแลม” อาทิวราห์ คงมาลัย ผ่านโครงการ “ก้าวคนละก้าว 10 วัน 400 ก.ม.”

โดยเริ่มต้นวิ่งจากใต้สุดปลายด้ามขวานที่ อ.เบตง จ.ยะลา ไปจรดเหนือสุดแดนสยามที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้กว่า 1,300 ล้านบาท มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 700 ล้านบาทถึงเกือบเท่าตัว

การออกวิ่งระดมทุนในครั้งนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสความนิยมวิ่งขึ้นแบบทวีคูณ ก่อนชะงักงันทันทีทันใดเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ.2563 ส่งผลให้งานวิ่งทั้งหมดไม่สามารถจัดได้ และเลื่อนยาวไปนาน 1-2 ปี ทำให้ผู้จัดงานวิ่งล้มหายตายจากไปส่วนหนึ่ง และยกเลิกการจัดงานไปอีกส่วนหนึ่ง

ในฝั่งของนักวิ่งเองก็ประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่หายไปจากการล็อกดาวน์อันยาวนาน ทำให้หลังจากที่สถานการณ์คืนกลับมาเป็นปกติแล้ว ปริมาณของนักวิ่งก็หายไปเป็นจำนวนมาก

 

ในช่วงสองปีที่งานวิ่งถนนบูมขึ้นมาแบบสุดๆ เกิดเป็นกระแสความนิยมการวิ่งถนนซึ่งมีหลายระยะตั้งแต่ฟันรันยันฟูลมาราธอน ทำให้มีปริมาณนักวิ่งสูงขึ้นฉับพลัน จนผู้จัดงานวิ่งขยายขนาดงานวิ่งของตนเพื่อรองรับความต้องการ

ในขณะเดียวกันก็มีผู้จัดหน้าใหม่เห็นโอกาสทองในการทำกำไรจึงกระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้อีกเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทออร์แกไนเซอร์ที่เดิมรับจ้างจัดงานอีเวนต์ประเภทอื่นก็หันมาสู่วงการวิ่งถนนด้วย ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใดของทั้งปริมาณนักวิ่งและผู้จัดงานวิ่ง

การขยายตัวมากและเร็วเกินไปเนื่องจากกระแสที่เกิดขึ้นชั่วคราวแบบวูบวาบ ทำให้ราคาค่าสมัครงานวิ่งพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว เพราะมีต้นทุนสูงขึ้น และมีความคาดหวังคุณภาพที่สูงขึ้น

ที่สำคัญคือในระหว่างที่กระแสยังไม่ตกนั้นตลาดมีดีมานด์มากพอ คือมีคนความต้องการสมัครวิ่งมากกว่าจำนวนที่งานวิ่งสามารถรองรับได้ เมื่อดีมานด์ต่ำกว่าซัพพลาย ราคาค่าสมัครจึงสามารถขยับขึ้นไปได้เรื่อยๆ

ในที่สุดงานวิ่งก็มีราคาค่าสมัครที่สูงเกินกว่าความคุ้มค่า เมื่อราคาค่าสมัครวิ่งระยะมินิมาราธอนจากเดิมในสมัยที่งานวิ่งไม่บูมจะอยู่ที่ 200-300 บาทเท่านั้น บางงาน 100-150 ก็มี

งานวิ่งถนนในช่วงปี พ.ศ.2550-2554 มีอยู่ตลอดทั้งปีก็จริง แต่ก็มีปริมาณน้อยกว่าปัจจุบันมาก ในช่วงเวลานั้นงานวิ่งส่วนใหญ่จะจัดถึงแค่ระยะมินิมาราธอน (10.5 ก.ม.) ในงานจะมีระยะสั้นๆรวมอยู่ด้วย เรียกว่า fun run เช่น 5 ก.ม. เป็นต้น

ต่อมาความสนใจในการวิ่งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากแรงกระตุ้นหลายครั้ง

ที่เด่นชัดคือจากภาพยนตร์เรื่อง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เรื่องราวที่แตกต่างกัน และหนึ่งในสามเรื่องนั้นเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอน ดังนั้น จึงใช้ชื่อเรื่องว่า “42.195” ตามระยะทางของการวิ่งฟูลมาราธอนนั่นเอง นำแสดงโดย “นิชคุณ หรเวชกุล” จากวง 2PM ซึ่งในวันนั้นกำลังโด่งดังสุดขีด กับ “สู่ขวัญ บูลกุล” อดีตผู้ประกาศข่าว

ความสำเร็จของภาพยนตร์ทำให้เกิดความคึกคักขึ้นมาในแวดวงวิ่ง แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่เป็นฟองสบู่แบบที่เห็นในยุคหลังการวิ่งระดมทุนของตูน บอดี้สแลม และความคึกคักดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นยาวนานข้ามปี

สังเกตเห็นได้จากปริมาณงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นช้าๆ ราคาค่าสมัครก็ไม่ได้สูงไปกว่าเดิมมากนัก โดยทั่วไปแล้วนักวิ่งสามารถสมัครวิ่งมินิมาราธอนได้ในราคาไม่เกิน 500 บาท

คือเริ่มขยับจาก 200-300 มาสู่ 300-400 แบบค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนั้น ยังสามารถไปสมัครวิ่งที่หน้างานในเช้าวันแข่งขันได้ เพราะงานวิ่งส่วนใหญ่มีจำนวนผู้สมัครไม่เต็มเพดานที่ตั้งไว้ และมียอดรวมของนักวิ่งในงานไม่ได้สูงมาก ประมาณ 500-2,000 คน

ดังนั้น การบริหารจัดการจึงเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนไม่สูง และแทบไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมารองรับการแข่งขัน

 

ตูน บอดี้สแลม เริ่มมาปรากฏกายให้เห็นในงานวิ่งต่างๆ หลังจากภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน บางงานก็ลงในระยะมาราธอน แต่ไม่ได้ทำเวลาดีมากนัก

นักวิ่งในยุคนั้นจึงคุ้นเคยกับภาพพี่ตูนตอนเป็นนักวิ่งแนวหลังของงานใหญ่บางงาน เช่น กรุงเทพมาราธอน จอมบึงมาราธอน เป็นต้น

ช่วงเวลานั้นมีพี่ตูน และดารา นักร้อง นักแสดงคนอื่นจำนวนเพียงหยิบมือเดียวที่หมั่นออกมาวิ่งตามงานอยู่บ่อยๆ ต่างกับปัจจุบันที่ดาราครึ่งค่อนวงการล้วนแล้วแต่เคยมาออกงานวิ่งด้วยกันทั้งนั้น

ก่อนที่ปลายปี พ.ศ.2559 ตูนจะเริ่มจัดวิ่งระดมทุนครั้งแรกในโครงการ “ก้าวคนละก้าว 10 วัน 400 ก.ม.” จากกรุงเทพฯ สู่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพานในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม และสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ 85 ล้านบาท เกิดเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญที่นำมาสู่โครงการวิ่งระดมทุนที่ใหญ่กว่าเดิมในเวลาต่อมา

และสร้างทำให้วงการวิ่งเฟื่องฟูขึ้นได้ภายในปีเดียว

และในที่สุดก็นำมาสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ทว่าไม่เป็นธรรมชาติ

 

ช่วงเวลาระหว่างภาพยนตร์รัก 7 ปี ดี 7 หนเข้าฉาย จนถึงก่อนโครงการก้าวคนละก้าว ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นด้วย เข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดียช่วงต้นที่ทุกคนมีบัญชี facebook รองลงมาคือ Instagram ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภาพถ่ายงานวิ่งขึ้น เพราะนักวิ่งในงานจากเดิมที่ต้องสั่งซื้อรูปภาพจากการค้นหาภาพตัวเองตามบอร์ดที่ติดในงานวิ่ง เริ่มสามารถตามหาภาพถ่ายของตัวเองผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย

เมื่อคนที่ไปวิ่งเห่อภาพของตัวเองแล้วนำมาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้พฤติกรรมในการออกไปวิ่งแล้วนำภาพวิ่งของตัวเองมาลงโซเชียลมีเดียแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง

ภาพงานวิ่งต่างๆ เกิดเป็นไวรัลโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งชักพาให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่เห็นเข้ามาสู่โลกของงานวิ่งตามมาด้วย ส่งผลให้วงการวิ่งขยายตัว

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงยังมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วยิ่งกว่าเดิมหลังโครงการก้าวคนละก้าว เพราะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ยิ่งทำให้กระแสนี้พุ่งแรงขึ้น เช่น เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าซึ่งทำให้นักวิ่งสามารถหาภาพของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และในปริมาณมหาศาล

เครื่องมือนี้ดึงทั้งนักวิ่ง ผู้จัดงานวิ่ง และช่างภาพให้หลั่งไหลเข้ามาสู่ระบบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และทำให้งานวิ่งกลายเป็นกิจกรรมสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนเป็นวิธีการระดมทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ที่แพร่หลายที่สุดในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภาพที่กำลังเลือนหายไป เนื่องจากงานวิ่งอยู่ในช่วง “ขาลง” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังโควิด-19 สวนทางกับค่าสมัครงานวิ่งที่ค้างเติ่งอยู่บนดอย จากการที่พุ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแต่ไม่สามารถหาทางลงมาอยู่ในระดับปกติได้

ทุกวันนี้จึงเห็นงานวิ่งส่วนใหญ่เก็บค่าสมัครระยะมินิมาราธอน 500 บาทขึ้นไป มีตั้งแต่ 600, 700 ไปจนถึงเกิน 1 พันบาท ซึ่งนักวิ่งส่วนใหญ่ตระหนักดีว่าเกินจุดคุ้มค่าไปไกลเกินมาก ทำให้ไม่สามารถสมัครวิ่งบ่อยๆ ได้

เมื่อเป็นเช่นนั้นนักวิ่งเก่าจึงเริ่มหายไป ในขณะเดียวกันนักวิ่งใหม่ก็ไม่เข้ามา ปริมาณของนักวิ่งในระบบหดตัวลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับปริมาณของผู้จัดงานวิ่งที่ไม่ได้ลดลงมากนัก

เมื่อประกอบกันเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะการว่างงาน ผลประกอบของบริษัทห้างร้านต่างๆ ย่ำแย่ เงินในกระเป๋าของผู้คนมีน้อยลง ความผันผวนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น พฤติกรรมของนักวิ่งที่แห่กันไปตามสนามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอื่นตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ที่พัก ค่าอาหาร ค่าภาพถ่าย และอุปกรณ์กีฬา ก็เป็นต้องยุติลงไปด้วย

แล้วหันไปสู่การบันทึกสถิติต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น เกิดการกระตุ้นให้ฝึกซ้อม และแข่งขันกันเองระหว่างชุมชนนักวิ่งในกลุ่มเดียวกัน หรือชุมชนที่ใช้แอพพลิเคชั่นเดียวกันโดยไม่ต้องพึ่งพางานวิ่งอีกต่อไป

ทำให้งานวิ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีคนสมัครน้อยลงมาก และประสบปัญหาขาดทุนอยู่บ่อยครั้ง

จนสรุปได้ว่าฟองสบู่งานวิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปี ระหว่าง 2560-2563 ได้แตกไปแล้ว