ก.ตร.เพิ่ม ‘กลุ่มสายงานบริหาร’ ผกก.-ผบช. และ หน.สถานี 5,600 นายได้อานิสงส์

ผลพวงจากคำวินิจฉัยคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มีตำรวจร้องทุกข์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย เนื่องจากการจัดเข้ากลุ่มสายงาน

นั่นคือผู้ร้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกลุ่มสายงานหนึ่ง แต่เมื่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติ และได้ออกคำสั่ง ทำให้ถูกปรับเปลี่ยนไปอยู่อีกสายงานหนึ่งทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่งเดิม

ทำให้กระทบสิทธิ ไม่สามารถแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือสับเปลี่ยนโยกย้ายได้

ที่ประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ ได้พิจารณาวาระการดำเนินการตามคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.ดังกล่าว

มติกำหนดให้ ระดับผู้กำกับการ (ผกก.) ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) และหัวหน้าสถานี ราว 5,600 นาย อยู่ในกลุ่มสายงานบริหารเพิ่มเติมได้ทุกนาย โดยไม่จำกัดว่ามาจากสายงานใดก่อนหน้านี้

ถือเป็นการใช้อำนาจของ ก.ตร.ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่ได้ห้ามกำหนดตำแหน่งให้อยู่ในหลายสายงานได้

 

ปกติกลุ่มสายงานบริหาร มีเฉพาะตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร. และ ผบ.ตร.เท่านั้น

ทั้งๆ ที่ถ้าตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 กำหนดให้ “ผบช.” มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการกองบัญชาการนั้นๆ อยู่แล้ว

เช่นเดียวกับตำแหน่ง ผบก. กำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการกองบังคับการ

อีกทั้งการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในตำแหน่งระดับ “ผบช.-รอง ผกก.” กฎหมายให้อำนาจพิจารณาทั้ง 5 สายงาน (บริหาร-อำนวยการ-สืบสวนสอบสวน-ป้องกันปราบปราม-วิชาชีพเฉพาะ)

ไม่ได้ยกเว้นกลุ่มสายงานใดกลุ่มสายงานหนึ่งเอาไว้

ดังนั้น “ผบช.-รอง ผกก.” ก็ควรจะต้องถูกกำหนดอยู่ใน “กลุ่มสายงานบริหาร” จึงสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565

 

ปรากฏว่า มติ ก.ตร.วันนั้นได้ส่งให้อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานได้พิจารณาให้เกิดความรอบคอบอีกทีหนึ่ง

ต่อมา อนุฯ ก.ตร.ชุด พล.ต.อ.เอก ได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน แล้วได้เห็นชอบตามมติ ก.ตร.ดังกล่าว

พล.ต.อ.เอกได้ขยายความว่า ก.ตร.เห็นชอบปรับปรุงระบบสายงานตำรวจ “ก้าวสำคัญสู่ความเป็นธรรม”

“หลังจากมีเสียงเรียกร้องจากข้าราชการตำรวจจำนวนมากเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปี 2566 นอกเหนือจากคำวินิจฉัยเยียวยาเฉพาะรายแล้ว ก.พ.ค.ตร.ได้มีคำวินิจฉัยให้มีการปรับปรุงระบบสายงานและจัดให้ข้าราชการตำรวจเข้าสู่กลุ่มสายงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ผมและ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง เห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย”

พล.ต.อ.เอกบอกว่า ล่าสุด ก.ตร. โดยการเสนอของ ผบ.ตร.ได้พิจารณาและเห็นชอบตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. โดยมีมติให้เพิ่มกลุ่มสายงานบริหาร สำหรับข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้กำกับการขึ้นไปถึงผู้บัญชาการ เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายในอนาคตมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น

การตัดสินใจครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการ ก.ตร.กฎหมาย และสำนักงานกำลังพลที่ได้ร่วมกันพิจารณา

และเห็นพ้องต้องกันว่า “การปรับปรุงระบบสายงานดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายและหลักการบริหารงานบุคคลที่ดี”

ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ บอกว่า ผลของการปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ข้าราชการตำรวจทุกนายจะได้รับโอกาสในการเติบโตในสายงานอย่างเท่าเทียมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดตำแหน่งให้สอดคล้องกับความสามารถและประสบการณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร สร้างขวัญและกำลังใจการปฏิบัติต่อข้าราชการตำรวจอย่างเป็นธรรม

จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

 

อย่างไรก็ตาม มีอีกมุมหนึ่งสะท้อนว่า การเพิ่มกลุ่มสายงานบริหารนั้น เป็นการขยายสเป๊กตำแหน่ง เพื่อเอื้อการแต่งตั้งโยกย้ายให้กับข้าราชการตำรวจในระดับผู้บัญชาการบางคนหรือไม่

ได้รับคำตอบจากกูรู ก.ตร.ท่านหนึ่งว่า แม้จะมีข้อดีที่ผู้บังคับบัญชาได้ใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางขึ้น แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต้องเป็นไปตามดุลพินิจที่อยู่ในกรอบกฎหมาย มาตรา 77 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

การแต่งตั้งโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเหมาะสม

ถ้าแต่งตั้งไปแล้วไปกระทบสิทธิใคร ผู้ที่ได้กระทบสิทธิสามารถร้องทุกข์ ก.พ.ค.ตร.ได้

ถ้าวินิจฉัยว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้แต่งตั้งยึดตามกฎหมาย ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผิดวินัย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะสงสัยว่า มติเพิ่ม “กลุ่มสายงานบริหาร” ให้กับ 5,600 นายในครั้งนี้ จะมีการใช้ดุลพินิจที่เป็นธรรมและเป็นดาบสองคมหรือไม่ ให้ติดตามและตรวจสอบ โดยมีปลายทางอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร.