ชัยชนะของ ‘ทรัมป์’ เหนือสหรัฐอเมริกา

Republican presidential nominee and former U.S. President Donald Trump pumps his fist while accompanied by his wife Melania at his rally, at the Palm Beach County Convention Center in West Palm Beach, Florida, U.S., November 6, 2024. REUTERS/Brian Snyder

ข้อเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นก่อนหน้าที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะปรากฏชัดเจน เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งอาจจะกินเวลาเนิ่นช้ากว่าปกติอยู่เล็กน้อ

เช่นเดียวกัน นี่ไม่ใช่การคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง หรือฟันธงว่า ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับ กมลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต ใครกันแน่คือผู้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

หากแต่เป็นการหยิบเอาบทความแสดงความคิดเห็นต่อสภาวการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาในยามนี้ ในมุมมองของ แมตธิว ชมิตซ์ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสาร คอมแพกต์ มาเล่าสู่กันฟังเป็นสำคัญ

 

ชมิตซ์เริ่มต้นข้อเขียนของตนเองไว้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะทรัมป์ได้ชัยชนะเหนือระบอบการเมืองอเมริกันไปเรียบร้อยมานานแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของนโยบายกว้างๆ สองประเด็น ที่เป็นหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทรัมป์มาโดยตลอดตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2016

นั่นคือ นโยบายด้านการค้าและนโยบายว่าด้วยผู้อพยพ

ทั้งสองประการดังกล่าว ไปไกลเกินกว่าเรื่องของการค้าเสรีหรือไม่เสรี เป็นโลกาภิวัตน์หรือไม่ หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่ว่า นโยบายหรือการดำเนินการทางการเมืองใดๆ ก็ดี ควรให้ความสำคัญสูงสุดต่อประชากรของประเทศตนเองเหนือกว่าประชากรของประเทศอื่นๆ อเมริกันต้องยิ่งใหญ่ รุ่งเรือง อยู่ดีกินดีเป็นลำดับแรกสุด ไม่จำเป็นต้องเหลือบแลใครๆ ที่ไหนอีก

ชมิตซ์ชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์ไม่เพียงทำให้อเมริกันส่วนใหญ่ได้ตระหนักว่า การค้าเสรีหรือการรองรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่เคยอ้างว่าเป็นที่มาของความรุ่งเรืองกันนั้น แท้จริงแล้วคือการทำร้าย บ่อนทำลายสหรัฐอเมริกา เกือบทศวรรษที่ผ่านมา

ทรัมป์อาศัยทั้งสองประเด็นนี้เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองในสหรัฐอเมริกา พลิกฟื้นพรรครีพับลิกันขึ้นใหม่ แถมยังบีบจนทำให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเดโมแครตต้องเคลื่อนตัวตามไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 ทรัมป์รื้อความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่สหรัฐทำกับเม็กซิโกและแคนาดาขึ้นมาเจรจาใหม่

ยกเลิกการทำความตกลงทีทีพีพี ที่เป็นความตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคแปซิฟิก

ตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์

ดำเนินมาตรการเพื่อ “จำกัด” ผู้อพยพเข้าสหรัฐ ทั้งน้อยใหญ่กว่า 400 มาตรการ

ทั้งหมดล้วนได้รับการโจมตีอย่างต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายเดโมแครต

แต่ 4 ปีหลังจาก โจ ไบเดน กลายเป็นประธานาธิบดีแทนที่ทรัมป์ แทนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน

ตรงกันข้าม หลายๆ นโยบายและมาตรการของทรัมป์ ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ท่าทีคัดค้านอย่างแข็งขันของเดโมแครต กลับพลิกผันไปในทางตรงกันข้ามในหลายครั้ง หลายกรณี

ไบเดนไม่เพียงคงกำแพงภาษีที่ทรัมป์ทำขึ้นสำหรับสินค้าจากจีนเท่านั้น ยังดำเนินหลายมาตรการเพื่อ “ตอบโต้” สิ่งที่ไบเดนเรียกว่า “พฤติกรรมทางการค้าเชิงปฏิปักษ์” ของจีนด้วยอีกต่างหาก

ผลก็คือ รัฐบาลไบเดนขยายกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนเพิ่มขึ้นไปอีกคิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์

 

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองอเมริกัน เชื่อว่า ถ้าหากแฮร์ริสได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แนวทางการใช้กำแพงภาษีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป แม้แฮร์ริสจะหาเสียงต่อต้านมาตรการตั้งกำแพงภาษีแบบครอบคลุม 10 เปอร์เซ็นต์ของทรัมป์ก็ตาม

ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า แฮร์ริสเองก็ไม่ใช่นักรณรงค์เพื่อการค้าเสรีแบบเต็มตัวอยู่แล้ว

ในอีกทางหนึ่ง เป็นเพราะว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่เห็นพ้องกับมาตรการนี้ ในการทำโพลเมื่อไม่นานก่อนหน้าการเลือกตั้ง ผู้ที่เห็นด้วยกับมาตรการกำแพงภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ มีสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์

ในแง่ของนโยบายผู้อพยพก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน โพลเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกัน ต้องการให้ปริมาณผู้อพยพ “ลดลง” สัดส่วนดังกล่าวนับว่าเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2021

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ มีผู้ที่ถือตัวเองว่าเป็นเดโมแครตสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นด้วยกับการเนรเทศผู้อพยพขนานใหญ่ที่ทรัมป์ใช้หาเสียงในครั้งนี้

สอดคล้องกับประเด็นหลักที่ แมตธิว ชมิตซ์ พยายามนำเสนอ นั่นคือ แนวทางใหม่ของทรัมป์จะยังคงอยู่ และดำเนินต่อไป ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหรือไม่

ด้วยเหตุที่ว่า ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ไม่ว่าจะเกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อเนื่องอย่างไร คนอเมริกันส่วนใหญ่ “ยอมรับ” และ “ชื่นชม” กับสิ่งที่ทรัมป์นำเสนอเอาไว้

ส่วนที่เหลือของโลก จะตีลังกาพลิกคว่ำคะมำหงายอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของสหรัฐอเมริกา!