ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
ประเทศไทยได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬา ซีเกมส์ 2025 ครั้งที่ 33 ในปีหน้า 2568 ช่วงระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2568 ซึ่งนับเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 7 ของไทย
และถือเป็นการกลับมาจัดอีเวนต์กีฬาระดับอาเซียนรายการนี้อีกครั้งในรอบ 18 ปี นั้บตั้งแต่ครั้งล่าสุดในการจัดซีเกมส์ 2007 ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2550
ซีเกมส์ 2025 จะเป็นการกอบกู้ภาพลักษณ์ในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของประเทศไทยให้กลับคืนมา หลังจากก่อนหน้านี้ถูก สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ยกเลิกการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2024 ครั้งที่ 6 เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ
ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ได้
สําหรับกีฬาซีเกมส์ 2025 จะจัดภายใต้คอนเซ็ปต์ “กรีนซีเกมส์” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยจะกระจายเมืองเจ้าภาพออกไปจัด 3 จังหวัดหลักคือ กรุงเทพฯ, ชลบุรี และสงขลา
รวมทั้งยังจะเพิ่มเชียงใหม่ในการจัดฟุตบอลอีกจังหวัด ที่สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีด้วย เพื่อสร้างความตื่นตัวการเป็นเจ้าภาพไปทั่วประเทศ
ขณะที่ชนิดกีฬาที่จะชิงชัยจะมีทั้งหมด 50 ชนิดกีฬา รวม 569 เหรียญทอง มีดังนี้
1.กีฬาทางน้ำ 2.กรีฑา 3.ยิงธนู 4.แบดมินตัน 5.บาสเกตบอล 6.เรือแคนูและกรรเชียง 7.จักรยาน 8.ขี่ม้า 9.ฟันดาบ 10.ฟุตบอลและฟุตซอล
11.กอล์ฟ 12.ยิมนาสติก 13.แฮนด์บอล 14.ฮอกกี้ 15.ยูโด 16.รักบี้ 17.เรือใบ 18.ยิงปืน 19.เทเบิลเทนนิส 20.เทควันโด
21.เทนนิส 22.ไตรกีฬา 23.วอลเลย์บอล 24.มวยปล้ำ 25.ไอซ์สเก๊ต 26.ไอซ์ฮอกกี้ 27.ปัญจกีฬา 28.ยกน้ำหนัก 29.เบสบอลและซอฟต์บอล 30.บิลเลียดและสนุ้กเกอร์
31.มวยสากล 32.ฟลอร์บอล 33.อีสปอร์ต 34.มวย, 35.เน็ตบอล 36.ปันจักสีลัต 37.เปตอง 38.เซปักตะกร้อ 39.สควอช 40.โบว์ลิ่ง
41.เอ็กซ์ตรีม 42.คาราเต้ 43.ยูยิตสู 44.คริกเก็ต 45.วูซู 46.กาบัดดี้ 47.เทคบอล 48.คิกบ็อกซิ่ง 49.วูดบอล และ 50.หมากรุกสากล
ส่วนกีฬาพื้นบ้าน 3 ชนิด ได้แก่ กีฬาทางอากาศ, ชักเย่อ และจานร่อน
สหพันธ์ซีเกมส์ ระบุว่า ซีเกมส์ 2025 ที่ประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับการแข่งซีเกมส์ให้มีมาตรฐานอย่างที่ควรเป็น เพื่อพัฒนาชาติอาเซียน ต่อยอดไปสู่การชิงชัยในเวทีที่ใหญ่กว่าอย่างเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิก ซึ่งมีชิงชัย 50 ชนิดกีฬา 569 เหรียญทอง กีฬาทั้งหมดล้วนเป็นสากลที่มีบรรจุในโอลิมปิก และเอเชี่ยนเกมส์ทั้งนั้น ส่วนกีฬาพื้นบ้าน ที่ไม่ใช่กีฬาสากลรอบนี้ กำหนดให้มีแค่ 3 ชนิดเท่านั้น
“บิ๊กแน็ต” ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะซีอีโอสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ระบุว่า จำนวน 50 กีฬาที่จัดนั้น เป็นกีฬาที่อยู่ในแคททะกอรี 1 และ 2 เท่านั้น เป็นกีฬาอยู่ในโอลิมปิกและเอเชี่ยนเกมส์ทั้งสิ้น รวมถึงเอเชี่ยนอินดอร์ฯ
ส่วนกีฬาในแคททะกอรีที่ 3 ซึ่งเป็นกีฬาพื้นบ้านจะมีได้ไม่เกิน 4 ชนิดกีฬา ซึ่งเราไม่ได้เสนอบรรจุกีฬาที่ไม่ใช่กีฬาสากลที่ไม่มีในโอลิมปิกและเอเชี่ยนเกมส์
“อย่างที่ซีเกมส์ก่อนหน้านี้หลายๆ ครั้งได้บรรจุกีฬาเข้าไปมากเกินความจำเป็น ซึ่งก็แน่นอนว่านับจากนี้ ตั้งแต่ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซีเกมส์ก็จะกลับมาเข้าระบบมาตรฐานของกีฬา เป็นเวทีแห่งการเริ่มต้นไปสู่การแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่กว่าไม่ว่าจะเป็นเอเชี่ยนเกมส์ หรือโอลิมปิกเกมส์ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม แม้กีฬาส่วนมากจะเป็นกีฬาสากลแทบทั้งสิ้น แต่คำถามคือ จำนวนทั้งหมด 50 ชนิดกีฬานั้นมากเกินความจำเป็นหรือไม่สำหรับกีฬาซีเกมส์
เพราะบางชนิดกีฬาไม่สามารถต่อยอดไปได้สุด รวมทั้งการจัดกีฬาเยอะขนาดนี้ และกระจายไปหลายจังหวัดจะทำออกมาได้อย่างมาตรฐานหรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องการครองเจ้าเหรียญทองเท่านั้น…
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ในซีเกมส์ 2007 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ได้เพิ่มชนิดกีฬาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเป็น 43 ชนิดกีฬา หลังจากนั้นก็กลายเป็นโมเดลให้กับเจ้าภาพครั้งต่อไปยัดจำนวนชนิดกีฬาเข้ามา เพื่อหวังที่จะครองเจ้าเหรียญทอง ซึ่งซีเกมส์ที่มีการจัดชนิดกีฬามากที่สุดเป็นการจัดซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จัดถึง 56 ชนิดกีฬา
แน่นอนว่าในซีเกมส์ 2019 เจ้าภาพฟิลิปปินส์ครองเจ้าเหรียญทองไปอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าถึง 149 เหรียญทอง 117 เหรียญเงิน 121 เหรียญทองแดง
เช่นเดียวกับซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม เจ้าภาพก็ครองเจ้าเหรียญทองที่ 205 เหรียญทอง 125 เหรียญเงิน 116 เหรียญทองแดง
และซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา เจ้าภาพก็ครองเจ้าเหรียญทองที่ 136 เหรียญทอง 105 เหรียญเงิน 114 เหรียญทองแดง
จากซีเกมส์ 2007 มาจนถึงซีเกมส์ 2025 กินเวลายาวนานถึง 18 ปี แต่คอนเซ็ปต์ของซีเกมส์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปกับการหวังครองเจ้าเหรียญทองของชาติเจ้าภาพ พร้อมประกาศศักดาในย่านอาเซียน
แต่กับการพัฒนาก้าวไปสู้ในระดับเอเชีย และระดับโลก ยังไม่สามรถต่อยอดการพัฒนา และพิสูจน์ศักยภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมในบรรดาหลายๆ ชาติของอาเซียน
มหกรรมกีฬาซีเกมส์ควรจะเป็นเวทีในการเน้นการพัฒนากีฬาสากลของชาติอาเซียนใช่หรือไม่ และการจัดชิงชัยมากถึง 40-50 ชนิดกีฬาเป็นแนวทางในการพัฒนาได้จริงหรือไม่ คำตอบก็พอจะเห็นได้ชัดเจนในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับผลงานของนักกีฬาจากชาติอาเซียนในเวทีระดับทวีปอย่างเอเชี่ยนเกมส์ และระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์
มองในมุมกลับกันหากเราไม่จัดบางชนิดกีฬาในซีเกมส์ ก็จะเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนากีฬาชนิดนั้นที่อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก
แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีวิธีการในการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ หรือก็อาจจะเลือกบางชนิดกีฬาที่น่าสนใจบรรจุเข้าชิงชัยในซีเกมส์ แต่ก็ไม่ควรดึงเข้ามาทั้งหมดจนรวมแล้วชิงชัยมากถึง 50 ชนิดกีฬา มันเยอะเกินความเป็นจำเป็น
กลายเป็นความย้อนแย้งของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่ต้องการจะเป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดไปถึงเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ แต่กลับจัดชิงชัยชนิดกีฬากันมโหฬารขนาดนี้ สวนทางกับการที่สหพันธ์ซีเกมส์บอกว่าก่อนหน้านี้จัดกีฬาเกินความจำเป็น แต่ซีเกมส์ครั้งนี้กลับยัด 50 กีฬา จนกลายเป็นซีเกมส์ที่จัดชนิดกีฬามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ในกีฬาซีเกมส์ 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดชิงชัยถึง 50 ชนิดกีฬา รวม 569 เหรียญทอง ก็หวังว่าไทยเราจะแสดงศักยภาพในการจัดอีเวนต์กีฬาระดับอาเซียน เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมา
และที่สำคัญจะต้องครองเจ้าเหรียญทองให้ได้เท่านั้น ตามคอนเซ็ปต์ของการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์
มิเช่นนั้นแล้วจะถือว่าเป็นความล้มเหลวด้วยประการทั้งปวง •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022