ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“ริอาร์ ริซัลดี” เป็นหนึ่งในศิลปิน-คนทำหนังรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซียที่โดดเด่นน่าจับตา ด้วยการผสมผสานเรื่องราวของภูตผีปีศาจ-อำนาจเหนือธรรมชาติ, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, ผู้ใช้แรงงาน, กองกำลังกึ่งทหาร และธรรมชาติ มานำเสนอในผลงานภาพยนตร์และวิดีโอของตนเอง
เร็วๆ นี้ ริซัลดีเพิ่งสนทนากับ “ธีโอ โรลลาสัน” แห่ง https://inreviewonline.com/
นี่คือคำถาม-คำตอบบางส่วนที่น่าสนใจจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว
โรลลาสัน : หนังเรื่องแรกของคุณที่ผมได้ดู และสร้างความประทับใจให้ผมเป็นอย่างมาก ก็คือ “Notes from Gog Magog” (2022) ซึ่งเป็น “เรื่องผี” ที่ข้องเกี่ยวกับบรรษัทในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม โดยมีฉากหลังเป็นจาการ์ตาและเกาหลี คุณได้ไอเดียของหนังเรื่องนี้มาจากไหน?
ริซัลดี : ผมมีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในท่าเรือ ซึ่งเล่าเรื่องผีที่สิงอยู่ในเรือขนส่งสินค้าให้ผมฟัง ผมรู้สึกลุ่มหลงกับเรื่องผีที่ปรากฏตัวขึ้นในเรือส่งสินค้ามากๆ เพราะเรือดังกล่าวจะเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
ขณะที่ในความคิดของผมก่อนหน้านั้น ผีทุกตนจะมีพรมแดนทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง หมายความว่าผีที่ดำรงอยู่ในอินโดนีเซียจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
เพื่อนบอกผมว่า เรื่องผีแบบนี้เกิดขึ้นหลังจากมีกรณีการประสบอุบัติเหตุของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากบริเวณท่าเรือ มีคนถูกตู้คอนเทนเนอร์ทับ แล้วโดนโยนร่างทิ้งลงทะเล และอะไรอีกสารพัดสารเพ
ดังนั้น มันจึงมีเรื่องราวไม่แล้วเสร็จจำนวนมากค้างคาอยู่ในดวงวิญญาณของผู้คนที่ต้องล้มหายตายจากไป เพียงเพราะพวกเขาต้องมาขายแรงงานของตนเอง
หลายปีต่อมา ผมมีโอกาสไปเป็นศิลปินในพำนักที่กรุงโซล ระหว่างอยู่ที่นั่น ผมก็รู้สึกลุ่มหลงในเรื่องราวของ “ซัมซุง”
บรรษัทดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่ารัฐชาติหลายๆ แห่งเสียอีก และในประเทศเกาหลี พวกเขาก็ทำธุรกิจทุกอย่าง มีทั้งโรงพยาบาล มีธุรกิจรับจัดงานศพ พวกเขามีกระทั่งบริษัทผลิตภาพยนตร์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งซัมซุง (อี บย็อง-ช็อล) ยังมีประวัติว่าเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องเวทมนตร์อย่างมาก หรืออย่างน้อยที่สุด เขาก็เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์
เรื่องเหนือธรรมชาติคืออะไรบางอย่างที่ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมเกาหลี นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเริ่มเห็นสายสัมพันธ์ข้ามชาติระหว่างเรื่องผีในเรือขนส่งสินค้ากับเรื่องซัมซุง
ขณะที่ไปเป็นศิลปินในพำนักที่เกาหลี ผมมีเพื่อนที่ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่ในหน่วยงานที่ซัมซุงเรียกว่าเป็น “แผนกช่วยเหลือลูกจ้าง” โดยหลักการ มันคือแผนกที่จะมีจิตแพทย์มานั่งประจำการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำหน้าที่คอยสื่อสารทางโทรศัพท์กับคนงานในบริษัทที่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย
นอกจากนั้น คนในแผนกก็ยังต้องรับหน้าที่จัดเวิร์กช็อปด้านสุขภาพจิตให้กับพนักงานด้วย
ผมจึงเริ่มคิดต่อว่า ถ้าหากเรื่องผีที่ท่าเรือประเทศอินโดนีเซีย มีความเกี่ยวข้องกับ “การใช้ความรุนแรงทางกายภาพ” ที่บรรษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง มันก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ” เกิดขึ้น
คุณไม่จำเป็นต้องมาทำงานอยู่ในสายงานต่างๆ ของซัมซุงหรอก แต่คุณก็สามารถมีประสบการณ์ขนพองสยองเกล้า ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการได้รับผลกระทบทางจิตใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหามรุ่งหามค่ำ การมีแรงกดดันในเรื่องประสิทธิผลของงาน และอะไรอื่นๆ
โรลลาสัน : ผมรู้สึกสนใจถึงวิธีการที่คุณนำเรื่องผีมาสำรวจตรวจสอบสภาวะความเป็น “ปีศาจชั่วร้าย” ของระบบทุนนิยม ในทางวิชาการ เราสามารถย้อนแนวคิดดังกล่าวกลับไปได้ถึงงานของ “คาร์ล มาร์กซ์” ซึ่งเคยอภิปรายประเด็นนี้เอาไว้ แต่ผมสงสัยว่ากรอบความคิดทำนองนี้มีประโยชน์ต่อการทำหนังของคุณบ้างไหม?
ริซัลดี : จริงๆ แล้ว ผมไม่ค่อยสนใจประเด็นเชิงสัญลักษณ์ของปีศาจทุนนิยมมากนัก เพราะจุดสนใจเริ่มแรกของผมนั้นอยู่ตรงเรื่องผีที่มีอยู่จริงๆ และถูกบอกเล่าโดยผู้ใช้แรงงานที่มีตัวตนจริงๆ มีคนจำนวนมากที่ทำงานในสภาพอันไร้ความปลอดภัยเช่นนี้จริงๆ
เรื่องที่มีคนเห็นผี หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คือเผชิญกับความสะเทือนขวัญบางอย่าง มันมีแง่มุมของความเป็นจริงมากกว่าจะเป็นแค่เรื่องสัญลักษณ์
ตอนที่ผมคุยกับเพื่อนชาวเกาหลีซึ่งทำงานอยู่ในซัมซุง พอผมถามเธอว่า มีเรื่องผีอยู่ในอาคารบริษัทของคุณบ้างไหม? เธอก็ตอบทันทีว่ามี แถมยังบอกด้วยว่าเป็นผีที่อยู่ในห้องใต้ดินของบริษัท
ดังนั้น ในหนังของผม ผีจึงไม่ได้มีสถานะเป็นแค่สัญลักษณ์ แต่ผีมีตัวตนอยู่จริงๆ ในสังคมทุนนิยมทุกวันนี้ •
ที่มา A Cinematic Lingua Franca : An Interview with Riar Rizaldi https://inreviewonline.com/2024/09/30/a-cinematic-lingua-franca-an-interview-with-riar-rizaldi/
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022