ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย | ประจำวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2567
• จดจำ (1)
วันที่ 25 ตุลาคม 2567
นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันที่ “คดีตากใบ” หมดอายุความอย่างเป็นทางการ
โดยผู้ต้องหาไม่ได้ปรากฏตัวต่อศาลและไม่มีผู้ใดได้รับโทษ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย
และชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ฟ้องคดีแม้รู้ว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย
การกระทำนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนใต้และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อพลเมืองทุกคน
สำหรับกรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีตากใบ ที่หลบหนีคดีจนคดีขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว
สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลชนิดที่ว่าการหนีหมายจับคดีร้ายแรงของข้าราชการกลายเป็นเรื่องปกติ โดยไม่มีการต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ในอีกทางหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการกลับมาทำงานของข้าราชการรายนี้ เป็นการตบหน้าตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมของไทยเอง
เพราะที่ผ่านมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การติดตามตัวตามหมายจับ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น
การกลับมาเช่นนี้เป็นการยืนยันความเชื่อของชาวบ้านในข้อสงสัยว่าการหนีคดีเหล่านั้นจะมีการรู้เห็นเป็นใจของข้าราชการหรือไม่
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องดังนี้
1. ให้หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่หลบหนีคดีไป ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบทางวินัยเพื่อพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่คนใด รู้เห็นเป็นใจช่วยหนีคดีหรือไม่
และขอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งตรวจสอบเพื่อคลายข้อข้องใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และญาติของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการละเลย เพิกเฉย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
2. เรียกร้องให้รัฐริบเงินบำนาญของผู้ต้องหาที่ไม่ยอมมอบตัว และให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี ที่ยุติการส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ทำให้คดีสูญหายมาเกือบ 19 ปี และมาส่งสำนวนใหม่ในปีนี้ จนอัยการสูงสุดสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา
3. กรณีนี้ยังทำให้เห็นปัญหาของระบบยุติธรรมของไทยเรื่องอายุความในคดีอาญาที่เอื้อให้กับการลอยนวลพ้นผิด เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องอายุความในมาตรา 95
ข้าราชการหนีคดี ดังนั้น จึงเรียกร้องไปยังรัฐสภาและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหานี้เพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมแก่พลเมืองไทยในอนาคต
4. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตรการเรียนรู้สานเสวนาสมามิตรในประเด็นประวัติศาสตร์บาดแผลเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ดร.ขดดะรี บินเซ็น
นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้
ข้อเสนอในเชิง “หลักการ”
เกี่ยวกับปัญหาของระบบยุติธรรมของไทย
เรื่องอายุความในคดีอาญา
ที่เอื้อให้กับการลอยนวลพ้นผิด นั่นน่าสนใจ
น่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อที่จะคลายความ “จดจำ” อันไม่น่าจำนั้น
• จดจำ (2)
อิอิ กระผ้มกับเพื่อนห่านนี่แหละฮับ รุ่นแรกๆ จากกรุเลย
ที่ผจญภัยน้ำท่วมใจกลางกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เมื่อปี 2521 ก็เกือบๆ จะห้าสิบปีมาแล้ว
ตอนนั้นแอ๊กชั่นอยู่แถวสี่พระยา
ยุคกระโน้นฝนตกลงมาห่าสองห่า ถนนสี่พระยา ก็กลายเป็นคลองสี่พระยา ใช้เรือพายแทนรถได้
ก็คงต้องทำใจกันแหละฮับพระเดชพระคุณ
และในยุคปัจจุบัน คงต้องเจอกันทุกปี แบบคงจะไม่มีวันพลัดพรากจากกันไปได้
เพราะโลกร้อนขึ้น และมนุษย์ช่วยกันทำลายธรรมชาติกันอย่างไม่บันยะบันยัง ตัดไม้ทำลายป่ากันไม่หยุดยั้ง
เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ที่เจอกับอุทกภัยกันอย่างหนัก ชนิดไม่เคยเจอกันมาก่อน
รวมถึงอีกหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศอย่างที่เห็นกันและคงจะหนักกันขึ้นทุกๆ ปีแหละฮับ
และคงยากที่จะฟื้นธรรมชาติให้คืนกลับมาเหมือนเดิมได้อีก
คงต้องหันหน้ามาสู้ และหาทางป้องกันกันละฮับ
เฮ้อ ข้าพเจ้า 2 พระหน่อ กลุ้มจิ๊บเป๋ง
จากตูบและเพื่อนห่านฮับ
ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า
ความจดจำเรื่องน้ำท่วมในอดีต
ตามมาหลอกหลอนถึงปัจจุบัน
ดูจะน่ากลัว
และกลุ้ม “จิ๊บเป๋ง” อย่างที่ “ตูบกับห่าน” ว่า ยิ่งขึ้นทุกที
ด้วย “ธรรมชาติ” ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะน้ำ
หากแต่รวมทุก “ภัยธรรมชาติ”
พร้อมจะตอกย้ำความ “จดจำ” อันโหดร้าย
รุนแรงขึ้นทุกขณะ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022