ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศสเปน เผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ หลังเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักทางภาคตะวันออกของประเทศ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปกับสายน้ำ ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วหน้า มีทั้งผู้คนที่ติดอยู่ในรถ ติดอยู่ในบ้านเรือน และอาคารต่างๆ
6 วันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้ 217 ราย ในจำนวนนี้ อยู่ที่แคว้นบาเลนเซีย ถึง 213 ราย และเจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าคนหาผู้สูญหายอีกจำนวนมาก
โดยหลังเกิดเหตุหลายวัน สมเด็จพระราชาธิบดี เฟลิเป ที่ 6 แห่งสเปน พร้อมด้วยราชินีเลตีเซีย ได้เสด็จเยือนเมืองไปปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
แต่ทั้งสองพระองค์ก็ต้องพบกับความโกรธแค้นของประชาชน ที่พากันขว้างปาโคลนและสิ่งของต่างๆ ใส่ทั้งสองพระองค์ และนายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรี พร้อมกับการตะโกนด่าว่า อันแสดงถึงความไม่พอใจของการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ล่าช้าของทางการสเปน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางการสเปนเองกำลังระดมกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมถึงอาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับโคลนจำนวนมากที่อยู่ตามท้องถนน
เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ในสเปนนี้ เริ่มต้นขึ้นจากพายุกระโชกแรงที่เกิดขึ้นเหนือแม่น้ำมาโกรและตูเรีย และในร่องน้ำโปโย ทั้งหมดทำให้เกิดกำแพงน้ำขนาดใหญ่ที่เอ่อล้นตลิ่ง ทำให้ผู้คนไม่ทันระวังตัว ในขณะที่ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันกันอยู่ในช่วงเย็นวันอังคารจนถึงเช้าวันพุธ
เพียงชั่วพริบตา น้ำโคลนก็ท่วมถนนและทางรถไฟ และยังไหลเข้าไปในบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ในเมือง รวมทั้งตามหมู่บ้านทางตอนใต้ของเมืองบาเลนเซีย ผู้คนที่ขับขี่อยู่บนท้องถนนต้องปีนไปอยู่บนหลังคารถ ส่วนผู้คนที่อยู่ตามบ้านก็ต้องรีบหนีขึ้นที่สูง
ขณะที่สำนักงานอากาศแห่งชาติของสเปน แจ้งว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือที่เมืองชีวา ที่มีฝนตกหนักกว่า 8 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นฝนตกหนัก “ผิดปกติ” ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ในเขตชานเมืองตอนใต้ของเมืองบาเลนเซียนั้น ไม่มีฝนเลย ก่อนที่จะเจอกับกำแพงน้ำที่เอ่อล้นคลองระบายน้ำ
ทางการได้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังมือถือของประชาชนเกี่ยวกับความรุนแรงของน้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้น และขอให้ผู้คนอยู่ในบ้าน
แต่ตอนนั้นหลายคนก็อยู่บนท้องถนนแล้ว ออกไปทำงานแล้ว บางคนก็จมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่ลุ่ม หรือโรงจอดรถใต้ดิน ที่กลายเป็นกับดักแห่งความตายไปเรียบร้อย
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับสเปน และพบว่า น่าจะมีความเชื่อมโยง 2 ประการ ที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
ประการแรกคือ อากาศที่อบอุ่นกักเก็บฝนเอาไว้ก่อนที่จะปล่อยมันออกมา
อีกประการคือ ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากกระแสลมกรด ซึ่งเป็นกระแสลมที่พัดพาระบบอากาศไปทั่วโลก และก่อให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรงเลวร้ายขึ้น
โดยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและนักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สาเหตุโดยตรงของน้ำท่วม เรียกว่าระบบพายุความกดอากาศต่ำที่ถูกตัดขาด ซึ่งเคลื่อนตัวมาจากกระแสลมกรดที่มีคลื่นสูง และหยุดชะงักผิดปกติ
นักอุตุนิยมวิทยาบอกว่า ระบบดังกล่าวนั้น เพียงแค่เคลื่อนตัวเหนือภูมิภาค ก่อนที่จะทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ในสเปนเรียกว่า DANA เป็นคำย่อภาษาสเปนสำหรับระบบดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออากาศเย็นเจอกับอากาศอุ่นมากใกล้พื้นผิวทะเล ซึ่งเมื่อรวมกับความชื้นและพลังงานจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่จะอบอุ่นมากหลังฤดูร้อน
ผลที่เกิดตามมาก็คือ ฝนฟ้าคะนองและฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
แคโรนา โคนิก จากศูนย์ความเสี่ยงและความยืดหยุ่นของอุทกภัยแห่งมหาวิทยาลัยบรูเนล แห่งลอนดอน บอกว่า ยังมีเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยอุณหภูมิพื้นผิวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่าน โดยอยู่ที่ 28.47 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนี้ เกิดขึ้นหลังจากสเปนต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งที่ยาวนานเมื่อปี 2022 และ 2023 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า วัฏจักรของภัยแล้งและน้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของสเปน เคยเจอกับพายุฤดูใบไม้ร่วงมาแล้ว และทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้ แต่ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ผู้สูงอายุในเมืองไปปอร์ตา บอกว่า เหตุน้ำท่วมฉับพลันครั้งล่าสุดนี้ถือว่ารุนแรงกว่าเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2500 ถึง 3 เท่า โดยครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 81 ราย และนำไปสู่การเปลี่ยนเส้นทางน้ำของแม่น้ำทูเรีย
โดยบาเลนเซียเผชิญกับ DANA มาแล้ว 2 ครั้งใหญ่ คือเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ครั้งแรกคือปี 1982 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 30 ราย และอีก 5 ปีต่อมา ก็ต้องเจอกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักอีก
และอีกครั้งคือเดือนสิงหาคม 1996 ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ตามเส้นทางแม่น้ำกาลเลโก เมืองเบียสคาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 87 ราย
หลังจากนี้ คือการเดินหน้าช่วยเหลือประชาชน หลังการเข้าไปช่วยล่าช้าอย่างมาก
รวมไปถึงการปรับปรุงระบบแจ้งเตือนที่ล่าช้าเกินไป จนทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022