“สมชาย เล่งหลัก” กระทบชิ่งเป็นลูกโซ่ นักร้อง จ่อยื่นร้อง “โมฆะ” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

มาสายดีกว่าไม่มา ในที่สุด “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ว.ของ “นายสมชาย เล่งหลัก” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ “หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาตามที่ กกต.เสนอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี”

ผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 “นายสมชาย เล่งหลัก” ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา เขต 9 พรรคภูมิใจไทย ถูก กกต.ระบุว่า รู้เห็นเป็นใจให้มีการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตน “กกต.” จึงเห็นว่า “นายสมชาย” เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง กกต.จัดทำคำวินิจฉัย และยกร่างคำร้องก่อนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

เส้นศูนย์สูตรของกรณีนี้ ตกเป็นข่าวเล็กๆ เท่าเม็ดถั่ว และเงียบเชียบ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 “ศาลฎีกา” ออกประกาศแจ้งคำสั่งศาลฎีกา ระหว่าง “กกต.” ผู้ร้อง กับ “นายสมชาย เล่งหลัก” ผู้ถูกร้อง เรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้ง” มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง “นายสมชาย เล่งหลัก” เป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันมีคำพิพากษา เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2566 “นายสมชาย” ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา เขต 9 สังกัดพรรคภูมิใจไทย มีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ด้วยปรากฏหลักฐานอันเชื่อได้ว่า รู้เห็นเป็นใจให้บุคคลทั้งสอง จัดเตรียมเพื่อจะให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง อันเป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “นายสมชาย” ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเป็นเวลา 10 ปี

คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล มาเดือนกว่าๆ ในที่สุด “กกต.” เพิ่งมีคำสั่งเคาะ ข่าวหลุดออกมา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม โดยระบุว่า “นายสมชาย เล่งหลัก” เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำวินิจฉัยและยกร่างคำร้องที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ห้องเครื่องที่ กกต.ชงให้ “นายสมชาย เล่งหลัก” เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ว.ในนามกลุ่ม 19 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาจากความผิดติดตัวจากการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ที่สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 9 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย แสดงว่า ตอนสวมบทเสือข้ามห้วยจากผู้สมัคร ส.ส.เมื่อสอบตกแล้วมาสมัคร ส.ว. ต้องไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะคุณสมบัติ เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/รัฐมนตรี หรือเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคสังกัดมาก่อน ทั้งหัวหน้าพรรค/เลขาธิการพรรค/นายทะเบียน/เหรัญญิก/กรรมการบริหารอื่นๆ

เคยสมัคร ส.ส.กับศึกเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มาก็จริง แต่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ในไม่กี่เดือนถัดมาได้ คุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม น่าจะลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองต้นสังกัดคือภูมิใจไทย อย่างถูกต้อง กกต.ต้องเอ็กซเรย์ด้วยความรอบคอบ ครบถ้วน กรณีคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามไม่น่าจะมีปัญหาอะไรตามมา

 

แต่ที่จะมีปัญหาก็คือ การเลือกตั้ง ส.ว.ชุดที่ 13 ดำเนินตามมาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือเคยทำงาน หรือทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยมีการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทุกคน สามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

การสมัคร และรับสมัคร หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวน และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวนสมาชิกวุฒิสภา ที่จะพึงมีจากแต่ละกลุ่ม การขึ้นบัญชีสำรอง และมาตรการอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ให้เป็นไปตาม “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา”

ซึ่งต่อมา กกต.มีประกาศราชกิจจาฯ ว่าด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แบ่งหมวดหมู่ผู้สมัครออกเป็น 20 กลุ่ม กำหนดเลือกตั้งออก 3 ระดับ คือ อำเภอ-จังหวัด และประเทศ มีการแบ่งสายใช้วิธีการเลือกไขว้ ผ่านมาทีละระดับ จน กกต.รับรองผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 โดยในล็อตสุดท้ายคือ “ระดับประเทศ” ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน ถูกแบ่งออกตามสาย ไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนเท่าๆ กัน ตัดตัวโค้งสุดท้าย เอาคนที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก เป็น “สมาชิกวุฒิสภา” และลำดับ 11-15 มีชื่อเป็นผู้สำรอง

ดังนั้น ไม่ว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ในระดับใด ไต่เพดานจากอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ก่อนจะเหลือ 200 คน เมื่อเป็นการเลือกกันเอง และเลือกไขว้ ทุกคะแนนมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีที่ “นายสมชาย เล่งหลัก” โดนแบน เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามไฟต์บังคับเป็นเวลา 10 ปี น่าจะมีผู้ยื่นร้อง เพราะ “นายสมชาย” ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ ไปลงคะแนนในขั้นตอนเลือกไขว้ให้กับบุคคลอื่น และผู้สมัครรายอื่นก็มาลงคะแนนให้ “นายสมชาย” คะแนนย่อมมีความสัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติ ไม่เหมือนกับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสาผู้แแทนราษฎร และคนหนึ่งคนใดโดนใบแดง ต้องโทษแบน พ้นจากสนามแม่เหล็กเป็นเวลาห้าปี หรือสิบปี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถกดปุ่มเลือกตั้งซ่อม และตามด้วยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้สมัครที่โดนใบแดงได้เลย เลือกตั้งมี ส.ส.ใหม่ได้โดยพลัน

แต่เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นการเลือกกันเอง ผูกพันกระทบชิ่งกันเป็นลูกโซ่

เชื่อว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปิดเกม กรณี “นายสมชาย เล่งหลัก” จะมีผู้สมัคร ส.ว.ที่ไม่ได้รับเลือก และนักร้อง ขาจร ขาประจำ ยื่นร้อง “โมฆะ” กันคึกคัก