ขอแสดงความนับถือ

ขณะที่โลกจะได้ผู้นำมหาอำนาจใหม่

หลังการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อ 5 พฤศจิกายนผ่านไป

จากนี้โลกต้องโบกมืออำลา โจ ไบเดน ที่จะพ้นจากตำแหน่ง

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ มี 2 คอลัมน์ ที่กล่าวถึง “โจ ไบเดน”

ทั้งบทบาทภายนอก คือ การเมืองระดับโลก

ทั้งบทบาทภายใน อันเกี่ยวเนื่องกับคนอเมริกาและชนกลุ่มน้อย

 

บทบาทการเมืองระดับโลก คอลัมน์ ยุทธบทความ ของ สุรชาติ บำรุงสุข

โฟกัสไปยัง “มรดกยุคไบเดน : สหรัฐกับโลกและสงครามยูเครน”

ย้อนกลับไปในช่วงของการแข่งขันหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020

โดนัลด์ ทรัมป์ ชูคำขวัญ “America First”

เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องภายในและประโยชน์ของอเมริกา แบบ “โดดเดี่ยวนิยม” (isolationism)

ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “America First”

แต่เป็น “America Alone” เสียมากกว่า

โจ ไบเดน จึงสร้างวาทกรรมเพื่อตอบโต้กับแนวคิดของทรัมป์

ภายใต้สโลแกน “America is back.” ขึ้น

เป็นประหนึ่งการประกาศ สหรัฐจะกลับมา “นั่งที่หัวโต๊ะ” ของเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง

 

America is back. ที่โจ ไบเดน ทำ อาทิ

– นำสหรัฐกลับเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO)

– นำสหรัฐกลับสู่ความตกลงปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของอากาศ (The Paris Agreement on Climate Change) ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศลาออก

– ตอกย้ำความสำคัญของนาโต เพิ่มเงิน และเพิ่มจำนวนสมาชิกของนาโต ให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการต่อต้านรัสเซียใน “สงครามยูเครน”

– ตัดสินใจถอนทหารอเมริกันออกจาก “สงครามตลอดกาล” (The Forever War) ในอัฟกานิสถาน เป็นต้น

America is back. ประทับใจ หรือไม่ประทับใจอย่างไร คงแล้วแต่มุมมอง

แต่นี่เป็นสิ่งโจ ไบเดน พยายามทำเพื่อมีบทบาทต่อโลก ในยุคของเขา

ส่วนเรื่อง “ภายใน” อเมริกา เรื่องหนึ่งที่โจ ไบเดน ทำ

และคอลัมน์ ตุลวิภาคพจนกิจ ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หยิบมาโฟกัส

คือ เรื่องที่ว่าด้วย “บาปในวิญญาณของพวกเรา คำขอโทษจากรัฐบาลถึงคนพื้นเมืองอินเดียน”

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

โจ ไบเดน เดินทางไปยังเขตดินแดนของคนพื้นเมืองชาวอินเดียน หรือ “อินเดียนแดง” ในแอริโซนา

เพื่อกล่าวแสดงคำขอโทษอย่างเป็นทางการ ในนามของรัฐบาลอเมริกัน ต่อคนอินเดียนพื้นเมือง

หลังรัฐบาลอเมริกันตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 มาถึงปี 1960 ได้ดำเนินนโยบาย “กลืน” คนพื้นเมืองอินเดียนให้เป็นอเมริกัน

บังคับให้เด็กอินเดียนทุกคนเข้าโรงเรียนประจำของรัฐ เรียนภาษาและวัฒนธรรมความคิดอ่านแบบอเมริกัน

หวังให้ลืมภาษาถิ่น ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง

เด็กอินเดียนราว 19,000 คนถูกส่งไปยังโรงเรียนประจำที่ห่างไกล

สร้างผลกระทบร้ายแรง

มีเด็กอินเดียนเสียชีวิตราว 1,000 คน สังเวยนโยบายนี้

 

แน่นอน แม้ว่าการที่โจ ไบเดน เดินทางไปขอโทษชาวอินเดียน จะเป็นไปอย่างเงียบๆ

แต่กระนั้น จะไม่เชื่อมโยงกับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็คงไม่ได้

เนื่องจากประชากรผู้ลงคะแนนเสียงในแอริโซนาที่เป็นคนอินเดียนพื้นเมืองมีประมาณร้อยละ 6 ของประชากรในมลรัฐ

ถือเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะการที่คะแนนที่ผู้สมัครทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างคู่คี่สูสีกัน

ใครที่ได้คะแนนของคนพื้นเมืองอินเดียนนี้ไปก็อาจสร้างผลลัพธ์ที่เป็นการตัดสินในชัยชนะในรัฐนี้ได้เช่นกัน

โจ ไบเดน จึงมีแรงจูงใจทางการเมือง ให้เสียใจและขอโทษ คนอินเดียน

อย่างไรก็ตาม หลักการที่โจ ไบเดน ขับเน้น

นั่นก็คือ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับอเมริกันที่ต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ แม้ว่ามันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเกลียดชังก็ตาม

 

หลายคนอ่านกรณีนี้แล้ว อาจมีใจประหวัดมาถึงกรณีตากใบ

แม้ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

จะบอกว่า การเปรียบเทียบประวัติศาสตร์คนพื้นเมืองอินเดียนในสหรัฐ กับประวัติศาสตร์ไทยอาจเป็นการเปรียบที่ไม่ค่อยตรงกันเท่าไร

เหมือนกับการเปรียบระหว่างมะม่วงกับแอปเปิล

แต่กระนั้นก็มีประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงกันได้

เชื่อมโยงอย่างไร พลิกอ่านที่หน้า 23 พร้อมกับโบกมือลา ปู่โจ ไบเดน •