ยุคทองของ ‘อินฟลูฯ’ ความตกต่ำของ ‘ตำรวจไทย’

แต่ก่อนเคยมีสำนวนติดปากว่า…ถ้าพึ่งใครไม่ได้ให้มานี่!

“กองปราบปราม” หน่วยงานระดับกองบังคับการ มี “ผู้การ” ยศพลตำรวจตรีเป็นหัวหน้า ส่วนมากแล้วเป็นคนมีฝีมือน่าเกรงขาม เก่งกล้าแม้กระทั่งสามารถจับตำรวจยศใหญ่กว่า หรือจับนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล

มาถึงสมัยนี้ มีหน่วยตำรวจระดับ “กองบังคับการ” เช่นกองปราบปรามผุดขึ้นมากมาย มีตำรวจยศชั้น “นายพล” เดินแกว่งไปแกว่งมาเต็มเมือง ถ้าหน่วยตำรวจเหล่านั้น “พึ่งได้” ผู้คนคงจะไม่ดิ้นรนหันไปพึ่ง “ผู้ทรงอิทธิพล” หรือที่ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่าพวก “อินฟลูเอ็นเซอร์”

คำถามที่ชวนให้เจ็บใจนี้มาจาก พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ ที่ให้สัมภาษณ์กับ “MatiTalk” มติชนสุดสัปดาห์

หาดูชมกันเต็มๆ ได้ในยูทูบ

พล.ต.อ.วินัยจับประเด็นได้แหลมคมว่า หลังรัฐประหาร’57 ผู้นำทางการเมืองสั่งยุบ “แท่งพนักงานสอบสวน”

หมายความว่า แต่เดิมนั้น องค์กรตำรวจได้สร้างทางให้ “พนักงานสอบสวน” เจริญเติบโตโดยไม่ต้องขวนขวายวิ่งเต้น เรียกว่า “แท่งพนักงานสอบสวน” ทำงานมากได้มาก ทำดีได้ดี ไม่มีใครมาเบียดมาแย่งตำแหน่งหน้าที่อันควรได้ตามผลงาน

เมื่อผู้นำทางการเมืองที่มาจากการรัฐประหารสั่งยุบแท่งพนักงานสอบสวนทิ้งเสียก็อลหม่าน ตำรวจในสายงานสอบสวน จิตตก ขวัญกระเจิง เมื่อต้องคิดถึงชีวิตรอด หลายคนก็กระโจนเข้าสู่วังวนวิ่งเต้น หนีไปอยู่สายที่มี “ช่องทาง” หาเงินมาใช้สำหรับ “ชื้อตำแหน่ง” ต่อไป

ที่ไม่เคยอยู่ในสายป้องกันปราบปรามก็ได้ทำหน้าที่ป้องกันปราบปราม ส่วนใครเงินไม่ถึงก็ถูกย้ายให้ไปทำสำนวนสอบสวน

คราวนี้อย่าว่าแต่ “ความล่าช้า คือความยุติธรรม” เลย งานป้องกันปราบปรามวินาศสันตะโร ยาบ้าซื้อง่ายขายคล่องระบาดหนักมีทุกตรอกซอกซอยจนราคาตกจากเม็ด 300-500 เหลือเม็ดละ 10-30 บาท

งานสอบสวนจบเห่ แค่ถูไถให้รอดไปวันๆ ชีวิตหดหู่ เข้าเวรกันจนไม่มีอารมณ์จะอำนวยความยุติธรรมให้ใคร

 

ตัวเลขพนักงานสอบสวนที่ พล.ต.อ.วินัยเปิดเผยคือ จากอัตรา 13,000 คน มีประจำการทำงานจริง แค่ 8-9 พันคน

คนมีน้อย แต่ปริมาณงานมีมาก จะอยู่ไปทำไม

พนักงานสอบสวนเครียด หนี คดีที่แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้เงียบหาย ล่าช้า ราวกับไม่ทำ

“หัวหน้าสถานีตำรวจ” และ “ท่านผู้กำกับการ” หัวหน้าหน่วยจำนวนไม่น้อยซึ่งมีหน้าที่ติดตาม ควบคุมกำกับดูแลกิจการนั้น “นับเงินเป็น” ลงนามอนุมัติ อนุญาต และออกคำสั่งต่างๆ ได้

แต่สืบสวนสอบสวนไม่เป็น!

สภาพแบบนี้ผู้ที่ประสบความเดือดร้อนถูกรังแก จะพึ่งใคร

“อินฟลูเอ็นเซอร์” หรือผู้ทรงอิทธิพล จึงผุดปรากฏดั่งดอกเห็ด

พร้อมๆ กับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” นั้นก็ขยายเอาๆ ยกชั้นจัดตั้งหน่วยงานระดับ “กองบัญชาการ” และ “กองบังคับการ” ขึ้นมากมายดั่งดอกเห็ดเช่นเดียวกัน

 

ตํารวจมีหน่วยงานเกิดใหม่มากมาย มีนายพลเดินกันเพ่นพ่าน แต่พึ่งได้น้อย

แวดวงการเมืองมี “นักร้อง” เป็นที่พึ่ง คอยขับเคลื่อนเตะลูกส่งมอบงานให้องค์กรอิสระ “สอย” นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา เอาการเอางานราวกิจการพันล้าน

ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม มี “อินฟลูเอ็นเซอร์” ที่สะสมชื่อเสียงจาก “แสง” ด้วยการรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้วเดินเข้าชนหน่วยราชการ

คล้ายกับว่าเสียสละทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์กำลังกาย ยิ่งเสียกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใจคอกว้างขวางดุจดั่งมหาสมุทร

อินฟลูฯ ทำเช่นนั้นได้เพราะ “ต้นธารกระบวนการยุติธรรม” ขุ่นข้นไปด้วยโคลนตม

ผลงานเตะหมูเข้าปากสุนัขของผู้นำทางการเมืองยุครัฐประหารที่ผ่านมา คือการโอบอุ้ม “นักร้องทางการเมือง” กับ “ยุบแท่งพนักงานสอบสวน”

เป็นโอกาสให้ “เหลือบ” ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมหากิน

เมื่อทางเดินแต่เดิมพังทลายลง “พนักงานสอบสวน” ก็ต้องเสาะแสวงหาทางอื่นเพื่อดำเนินชีวิตกันต่อไป

แต่ในยุคนั้น

หลังจากยุบทิ้งแท่งพนักงานสอบสวน ยกเลิก ก.ตร. โละทิ้งกฎกติกาแต่งตั้งโยกย้ายทั้งหลาย ใครจะหนีจะย้ายออกนอกไลน์สอบสวนก็ต้องใช้ “เงิน”

ตามข้อมูลที่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ ให้สัมภาษณ์กับ MatiTalk ยืนยันว่า ตำรวจซื้อขายตำแหน่งกันมา 7-8 ปี

“ผู้ทรงอิทธิพล” จึงเจริญขึ้นๆ

“เหลือบตัวใหญ่” อ้วนพี เติบโต ก้าวหน้า เป็นใหญ่ ฮึกเหิมและย่ามใจ

ขวัญตำรวจที่ทำงานเพื่อประชาชนต่ำลงๆ!!

 

ถ้าจะว่าไปแล้ว “ความสามารถ” ของตำรวจไทย ไม่ว่าในด้านป้องกันปราบปราม หรือด้านสืบสวนสอบสวน ตำรวจไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก จะห่างกันก็แต่เรื่องเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานเท่านั้นที่องค์กรตำรวจไทยไม่พัฒนา

หากถามว่า สภาพที่เน่าๆ เช่นในวันนี้สามารถจะ “เปลี่ยนแปลง” ให้ดีขึ้นได้หรือไม่

องค์กรตำรวจก็เหมือน “ชีวิต” หนึ่งที่มีขึ้นได้ มีลงได้ ในบางช่วงตอนสามารถจะ “ตกต่ำ” ชวนให้หดหู่ เต็มไปด้วยเคราะห์กรรม เผชิญแต่เรื่องร้ายๆ แต่ในบางห้วงเวลา เช่นในครั้งอดีตก็เคย “รุ่งเรือง” มีเกียรติภูมิผู้คนยกย่องชื่นชม

“ความเปลี่ยนแปลง” เป็นความปกติ มีดี เลว ขึ้น ลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพทางการเมืองและ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำทางการเมือง

ถ้าผู้นำสายตาสั้น-องค์กรตำรวจจะเป็นอยู่อย่างที่เป็น กระทั่งทรุดต่ำหนักจนวันหนึ่งถูกสังคมกดดัน ตั้งข้อรังเกียจ ไม่เห็นความสำคัญ

ถ้าผู้นำมองการณ์ไกล เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ก็ต้องลงมือ “ชำแหละ” องค์กรตำรวจเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่สังคมจะระแวงสงสัย ไม่ให้ค่า ไม่มีความมั่นใจที่จะพึ่งพาตำรวจ แล้วพากันไปพึ่ง “อินฟลูเอ็นเซอร์” กันหมด!?!!!