ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
งอกจาก ‘ยุติธรรมริบหรี่’
ชั่วโมงนี้ พฤติกรรมการทำมาหากินของ “ทนายความ” ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้คน
ด้วยข่าวคราวที่เกิดขึ้นคือการอาศัยการพลิกแพลงกระบวนการในวิชาชีพให้เป็นช่องทางสร้างรายได้เป็นความร่ำรวยได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
จริงอยู่ว่ายังอยู่ในกรอบของการจัดการคดีความ แต่เริ่มที่จะไม่ได้อาศัยความร็ความสามารถในความรู้เรื่องกฎหมาย และหลักนิติศาสตร์ ที่ใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกความกลับเป็น “การอ้างถึงความสัมพันธ์พิเศษกับผู้อำนาจที่น่าเชื่อว่ากำหนดผลของคดีได้”
ฟังดูเหมือนว่าเรื่องธรรมดา วิธีการคือทำให้หลงเชื่อและยอมจ่าย อันแป็นการหลอกลวง
แต่หากมองลึกลงจะพบว่าพัฒนาการของสังคมไทยเราที่เป็นอยู่มีเหตุรองรับ “การหลงเชื่อ” อยู่มากทีเดียว
“กระบวนการยุติธรรม” ทั้งระบบ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงโจมตีอยู่ในไม่น้อยถึงสำนึกรับผิดชอบที่ขึ้นอยู่กับเส้นกับสาย อำนาจ และผลประโยชน์ จนพูดถึง “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เป็นไปอย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง การที่หน่วยงานหรือสถาบันต่างๆ จัดหลักสูตรอบรม โดยเป็นที่รู้กันว่าเป็นการสร้าง “คอนเน็กขั่น” หรือ “เครือข่ายพรรคพวก” ไว้คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องต่างๆ
ตอกย้ำถึงประเทศที่อยู่กันได้ด้วยสายสัมพันธ์แบบพวกพ้องมีอิทธิพลต่อชะตากรรม ซึ่งในอีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคนที่ไม่อยู่ในเครือข่าย
การดิ้นรนทำความรู้จักมักคุ้นกับ “ผู้มีอำนาจ” หรือที่เรียกกันว่า “คนใหญ่คนโต” จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนในยุคนี้
ในกระบวนการยุติธรรมถึงวันนี้จะพบว่า วิธีการเช่นนั้นลามมาสู่ “ทนายความ” ที่เริ่มนำมาใช้ทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สร้างฐานความร่ำรวยได้มากเสียกว่าทนายความที่ยึดมั่นในการเรียนรู้หลักการที่ถูกต้องของกฎหมายให้เชี่ยวชาญ
ดังนั้น เมื่อ “นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “ทนายความจิตอาสาจริงๆ” จึงมีความน่าสนใจ
เมื่อไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีความ ประชาชนเลือกขอความช่วยเหลือจากองค์กรไหน คำตอบคือ ร้อยละ 42.06 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย, ร้อยละ 21.83 ชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง, ร้อยละ 19.16 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด, ร้อยละ 13.44 ไม่ไว้ใจใครเลย, ร้อยละ 11.68 ทนายอาสาจากสภาทนายความ, ร้อยละ 11.37 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111, ร้อยละ 9.01 ทนายทั่วไป, ร้อยละ 8.17 ทนายอาสาจากเนติบัณฑิตยสภา, ร้อยละ 6.87 ทนายที่มีชื่อเสียง, ร้อยละ 1.60 นักการเมือง และร้อยละ 4.96 ระบุอื่นๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์
จะเห็นได้ว่าทั้งที่เป็นเรื่องของความยุติธรรมในคดี แต่ในวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากคนในกระบวนการยุติธรรม กลับไปมีความหวังอยู่ที่ข้ารา=การฝ่ายปกครอง และนักพัฒนาเอกชนในสัดส่วนที่สูงจากความหวังในองค์กรอื่นมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุเกิดจากความรู้สึก “ไม่ศรัทธาต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งมีการพูดถึงกันมานาน และเรียกร้องให้ “ปฏิรูป” อันหมายถึงรีเซ็ตลบของเก่าเพื่อสร้างขึ้นใหม่ให้คุณภาพเป็นที่หวังได้ในความเชื่อถือศรัทธา
แต่ก็นั่นแหละ ได้แต่พูด ทุกคนทุกฝ่ายเอาแต่พูดโดยไม่มีคนลงมือทำ
ทุกวันนี้การทำมาหากินด้วยพลิกแพลงจากเทคนิคทำคดี มี “นักร้องเรียน-นักเปิดโปง” ที่อาศัยเป็นช่องทางหากินด้วยอาชีพ “นักแบล็กเมล์” ทั้งด้วย “คอลเซ็นเตอร์” และ “ทนายที่อวดอ้างความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ” ไปทั้งข่มขู่ ทั้งหลอกลวงจนเป็นอาชีพที่สร้างฐานะ ความร่ำรวจกันได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ภายใต้ “กระบวนการยุติธรรม” ที่เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปยังดังให้ขรม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022