ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
กลางดึกของค่ำคืนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ในป่า ยังคงความหนาวเย็น อุณหภูมิดึกๆ และช่วงใกล้รุ่ง ลดต่ำ
อีกไม่นาน ความแห้งแล้งอย่างจริงจังจะมาถึง ใบไม้ในป่าเต็งรังจะมีสีเขียวสะพรั่ง แต่ก่อนหน้านั้น ทุกชีวิตต้องเรียนรู้ที่จะผ่านวันเวลาแห่งความยากในการดำรงชีวิตไปให้ได้ ความร้อนแรงของเปลวไฟจะมาถึง หลังเปลวไฟผ่านไป เปลวไฟช่วยจัดการให้หลายชีวิตเจริญเติบโต แต่ก็มีชีวิตจำนวนหนึ่งผ่านไปไม่พ้น
วิถีของเหล่าชีวิตในป่า ดำเนินไปตามฤดูกาล บทเรียนต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรบุรุษ ย่อมทำให้หนทางการปรับตัวเพื่ออยู่กับฤดูกาลเป็นไปได้
การมีโอกาสได้อยู่กับแม่ของลูกๆ สัตว์ เพื่อเรียนรู้บทเรียนสำคัญและจำเป็น
ค่ำคืนหนึ่ง ขณะความหนาวเย็นยังไม่จากไป ผมเห็นลูกเสือโคร่งตัวหนึ่งได้รับบทเรียน และบทเรียนของมันก็สอนให้ผมได้รับบทเรียนเช่นกัน
ลูกเสือโคร่งตัวนั้นอายุราวๆ 7 เดือน มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม มันนอนหมอบอยู่ข้างๆ ร่างแม่ ซึ่งนอนเหยียดยาว หลับเพราะฤทธิ์ยาสลบ
ลูกเสือมีแววตาหวาดหวั่น พยายามใช้ตีนหน้าเขี่ยให้แม่ลุกขึ้น เมื่อเห็นว่าแม่ไม่ขยับ มันก้มลงใช้หัวดันๆ ทำทำเช่นนี้อยู่นาน จนกระทั่งแม่เริ่มขยับ โงหัวขึ้น ก่อนลงไปนอนอีก
ช่วงนั้น ราวกับเวลาหยุดนิ่ง ผมมองภาพข้างหน้า บันทึกไว้ในความทรงจำ
และพบว่า แม้วันเวลาจะผ่านมานานพอสมควร ภาพนี้ก็ไม่เคยจางหายจากความจำ
โดยปกติ หลังถูกวางยาสลบ เสือโคร่งโตเต็มวัยจะต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงจึงจะแข็งแรงพอที่จะลุกขึ้น และเดินไปจากบริเวณนี้
ผมช่วยผู้ช่วยนักวิจัยเก็บอุปกรณ์ เดินเข้าไปใกล้เสือแม่ลูก เจ้าตัวเล็กขยับตัวหนีอย่างหวาดระแวง ส่วนตัวแม่เพียงแค่ลืมตามอง
นี่อาจเป็นโอกาสเดียวที่ผมจะมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับเสือ ขนาดลูบขนอ่อนนุ่มมันได้เช่นนี้
อีกสักพัก เมื่อเสือฟื้นจากฤทธิ์ยา โลกแห่งความเป็นจริงระหว่างเรา จะกลับมา
นักวิจัยและทีม เลือกทำงานในช่วงกลางคืน พวกเขาพบว่า ในความมืด เสือคล้ายจะไม่ดิ้นรน ก้าวร้าว ขู่คำรามมาก
แต่คล้ายกับว่า ครั้งนี้จะต่างออกไป เสียงคำรามของเสือ บาดลึกถึงหัวใจ เราเข้าใจดี เพราะครั้งนี้มีลูกเสือติดกับดักอยู่ด้วย ทุกคนจึงรีบเร่งทำงานแข่งกับเวลา
หลังยิงยาสลบ ท่ามกลางความมืด ดวงจันทร์เกือบครึ่งดวง คล้อยไปทางทิศตะวันตก เสียงคำรามเงียบหาย
แม่และลูกเสือถูกตรวจสอบร่างกาย
ตัวแม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เขี้ยวและฟันแข็งแรง ส่วนลูกอยู่ในวัยกำลังโต ตีนหน้ามีขนาดเกือบเท่าตีนแม่
บอกให้รู้ว่า อีกไม่นาน มันจะเติบโตเป็นเสือตัวผู้ที่สมบูรณ์แข็งแรง
เราอุ้มลูกเสือมานอนข้างๆ แม่ ผมกับผู้ช่วยนักวิจัยจะอยู่แถวนี้เพื่อเฝ้าระวัง จนกระทั่งเสือฟื้นจากฤทธิ์ยา
ขณะเสือยังไม่ฟื้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่ควรมีอะไรเกิดขึ้นกับมัน
ที่ต้องระวังคือช้าง ที่หากเดินมาเจอ
ท่ามกลางความมืด ดวงจันทร์คล้อยต่ำไปแล้ว สภาพอากาศเย็นยะเยือก น้ำค้างหล่นกระทบใบไม้เปาะแปะ
ไม่ไกลจากที่ผมนั่งอยู่ แม่เสือเริ่มฟื้น
สำหรับลูกเสือ นี่ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี
กลิ่นอายความรัก ความผูกพัน ครอบคลุมไปทั่วบริเวณ
ลูกเสือได้รับยาจำนวนไม่มาก ฟื้นตัวเร็ว เป็นช่วงเวลาที่มันเริ่มออกล่าเหยื่อกับแม่ เพื่อเรียนรู้ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีเพียงฟันน้ำนมถึงอายุ 11-13 เดือน เขี้ยวน้ำนมจะถูกแทนที่ด้วยฟันเขี้ยวแท้ จนครบจำนวน เมื่ออายุครบ 16 เดือน
ลูกเสือมีสิทธิ์ที่จะอยู่กับแม่จนอายุครบสองปี ก่อนจะต้องแยกออกไปดำเนินชีวิตตามวิถี เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของลูกเสือทุกตัว พวกมันต้องผ่านพ้นไปให้ได้
…เวลาสองปี จึงไม่ใช่แค่เวลาที่จะเรียนบทเรียน
แต่เป็นเวลาที่จะซึมซับความอบอุ่น และเก็บไว้ เพื่อนำออกมาใช้ตอนที่อยู่เพียงลำพัง
เสียงใบไม้แห้งดังกรอบแกรบจากการเหยียบของเสือ
แม่เสือลุกขึ้นเดิน พาลูกห่างออกไปจากบริเวณนี้แล้ว
ผมคิดถึงแววตาหวาดหวั่นของลูกเสือตอนที่เราสบสายตา มันมองมาขณะพยายามปลุกให้แม่ลุกขึ้น
นั่นอาจเป็นแววตาเดียวกับที่ผมมีตอนพบกับเหตุคับขัน
และผมรู้ดีว่า แววตาเช่นนี้ ในเสือซึ่งเติบโตเต็มวัยแล้วจะไม่มีผู้ใดเห็น
ไม่ใช่เพราะไม่หวาดหวั่น แต่เสือซึ่งเติบโตเต็มวัย รู้จักที่จะซ่อนความรู้สึกนี้ไว้ข้างใน •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022