ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันก่อน “เอ๋” นิ้วกลม ชวนไปออกรายการ 1 sentence
เขาให้แขกรับเชิญคิดประโยคอะไรก็ได้ 1 ประโยค เพื่อมาขึ้นบิลบอร์ด
ไม่ใช่ “บิลบอร์ด” จริงนะครับ
แต่เป็นภาพของบิลบอร์ดในจอที่มีคำของเราอยู่บนนั้น
แล้ว “เอ๋” จะชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตอนนี้เวลามีรายการต่างๆ ติดต่อขอสัมภาษณ์ มักจะเจอแนวนี้เป็นประจำ
นามบัตร 3 ใบ
ของ 3 อย่าง
คำ 1 คำ ฯลฯ
ผมชอบไอเดียแบบนี้ของน้องๆ ในการทำคอลัมน์หรือรายการ
แต่ไม่ชอบเวลาเจอกับตัวเอง
เพราะผมเป็น “คนสิ้นคิด” 555
คือ ขี้เกียจคิด
ตอนที่ “เอ๋” ติดต่อมาและอยากให้เป็นแขกรับเชิญคนแรกๆ
ผมปฏิเสธทันที
เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะเลือกประโยคสำคัญในชีวิตอย่างไรดี
จนเมื่อใกล้เดดไลน์
แรงบันดาลใจก็บังเกิด
นั่งคิด-คิด-คิด
แล้วสรุปว่าเอาคำนี้ก็แล้วกัน
“ทำไปทำไม”
“ทําไปทำไม” เป็นคำถามแห่งชีวิตของผมในช่วงหลายปีมานี้
เคยเขียนในคอลัมน์มาแล้วครั้งหนึ่ง
เพราะสมัยก่อนผมจะใช้ “ความสนุก” ขับเคลื่อนชีวิต
เห็น “โอกาส” มากกว่า “ปัญหา”
อะไรที่น่าตื่นเต้นหรือไม่เคยทำ
จะรีบทันทีเลย
ใช้ความหนุ่มที่ “อดีตสั้น-อนาคตไกล” อย่างเต็มที่
เพราะถ้าตอนหนุ่มสาวเห็น “ปัญหา” มากกว่า “โอกาส”
เขาจะไม่กล้าทำอะไร
คนหนุ่มสาวต้องกล้าเสี่ยง
เพราะล้มแล้วลุกง่าย
แต่พออายุมากขึ้น ทุกครั้งที่ “โอกาส” เข้ามา
เราต้องให้ความสำคัญกับ “ปัญหา” มากเป็นพิเศษ
เพราะวัยนี้แรงก็ไม่ค่อยมี เวลาในชีวิตก็น้อยลง
ล้มแล้วลุกยาก
คำว่า “ทำไปทำไม” จึงมีความสำคัญมาก
ในรายการ “เอ๋” ถามว่าก่อนจะถึงวัยนี้เราควรสะสมอะไรในวัยหนุ่มสาว
ก่อนจะตอบ ผมบอก “เอ๋” ว่าตอนนี้เวลาผมเลือกคนทำงานด้วย
ผมจะเลือกที่ “นิสัย”
จะไม่เลือกคนที่เก่งมากๆ แต่นิสัยไม่ดี
ผมชอบทำงานกับคนเก่งพอประมาณ แต่ “นิสัยดี” มากกว่า
ส่วนหนึ่งเพราะเป้าหมายในชีวิตของผมมันเป็นแบบ “ฝันใกล้ๆ ไปช้าๆ”
ไม่ต้องการคนเก่งมากนัก
แต่ผมต้องการความสบายใจในการทำงาน
คำว่า “นิสัยดี” จึงหมายความกว้างๆ ว่าเป็นคนเก่งพอประมาณ ขยันพอประมาณ มีความรับผิดชอบ นิสัยดี มีน้ำใจ คุยง่ายๆ เรื่องไม่เยอะ ขอโทษเป็น ฯลฯ
ถ้าเรามีคนทำงานด้วยที่นิสัยดี
เขาจะดึงดูดคนนิสัยดีมาทำงานด้วย
แบบนี้ทำงานมีความสุข
ดังนั้น ถ้าจะให้สะสมอะไรในชีวิตช่วงหนุ่มสาว ผมแนะนำว่าควรสะสมความเป็น “คนนิสัยดี”
และหากมีคนขอความช่วยเหลือ
อย่าคิดว่าเป็น “ปัญหา”
แต่ให้คิดว่าเป็น “โอกาส”
…โอกาสในการฝึกความเป็นคนนิสัยดี
ช่วยเหลือแบบไม่ต้องคิดอะไร หรือหวังผลตอบแทน
ทำจนเป็น “นิสัย”
แล้วสุดท้ายผลลัพธ์ที่ดีจะเดินมาหาโดยเราไม่รู้ตัวในวันหนึ่ง
ผมคงพูดคำว่า “โชคดี” ในรายการหลายครั้ง
จน “เอ๋” มาเขียนสรุปในเพจของเขา
“ความต้องการน้อยนับเป็น ‘โชคดี’ ของชีวิต
พี่ตุ้มพูดถึง ‘ความโชคดี’ หลายอย่าง เช่น ไม่ได้ชื่นชอบของราคาแพง
ถึงวัยนี้ไม่ได้เปรียบเทียบความสำเร็จกับคนอื่นมากนัก
อยู่ง่ายกินง่าย
อาหารที่ชอบคือสตรีตฟู้ด
อยู่บ้านก็มีความสุข ไม่ต้องไปเที่ยวไหน
โชคดีอีกอย่างคือขี้ลืม เวลาโกรธใครก็ลืมเร็ว
ผมฟังแล้วรู้สึกว่า ‘โชคดี’ อย่างมากของพี่ตุ้มคือมองเห็นความโชคดีของตัวเอง”
ก็จริงอย่างที่ “เอ๋” บอก เพราะสิ่งที่ผมบอกว่า “โชคดี” นั้น
มีคนจำนวนมากที่เป็นแบบผม
มันเป็นเรื่องบ้าน-บ้านมาก
เพียงแต่เขาไม่รู้สึกว่าเขา “โชคดี”
ความจริงแล้วคนทุกคนล้วน “โชคดี” ในมุมที่แตกต่างกัน
เพียงแต่เราต้องมองหาให้เจอ
เราเป็นอย่างที่เราเป็น
ถ้ารู้จักชื่นชมตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น
ไม่ลบหลู่ในสิ่งที่เราเป็น
เราโชคดีในแบบของเรา
และเมื่อรู้ว่าเรา “โชคดี” เรื่องไหน
ให้ใช้ “ความโชคดี” นั้นให้เป็นประโยชน์
วันหนึ่ง ในงานศพญาติ “เหียโต้ง” พี่ชายของผมที่เพิ่งเกษียณจากตำแหน่งไปไม่นาน
ทั้งที่อายุจริงนั้นเกิน 60 ไปแล้ว
แต่ด้วยวาระในตำแหน่งทำให้ต้องทำงานต่ออีก 3 ปี
พอหยุดทำงาน เขาก็พัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหมา และเขียนหนังสือ
แต่เวลาเจอใคร มักจะเจอคำถามว่า “ตอนนี้ทำอะไรอยู่” เป็นประจำ
เหมือนกับเป็นความผิดว่าทำไมไม่ทำงาน
เจอคำถามนี้บ่อยๆ จนเบื่อที่จะตอบ
ตอนหลังถ้าใครถาม เขาจะบอกสั้นๆ ว่า “ตอนนี้ผมเกษียณแล้วนะ ถ้าจะไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ผิดอะไร”
ผมชอบคำตอบนี้มาก
เพราะเวลาที่มีใครชวนทำอะไร หรือชวนไปไหนแล้วไม่ทำหรือไม่ไป
บางทีก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าเราขี้เกียจเกินไปหรือเปล่า
คือ เรื่อง “ขี้เกียจ” นั้น ผมยอมรับอยู่แล้วว่า “ขี้เกียจ”
แต่อะไรก็ไม่รับ อะไรก็ไม่ทำ มันขี้เกียจเกินไปหรือเปล่า
คำตอบของ “เหียโต้ง” จึงทำให้ผมมีเกราะป้องกันตัวเอง
คนที่เกษียณแล้ว การอยู่ที่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร…ไม่ผิด
ดังนั้น ตอนนี้เวลามีคนชวนทำอะไร ไม่ว่าจะสนุกแค่ไหน
ผมจะตั้งคำถามแห่งชีวิตที่ขึ้นบิลบอร์ดของ “เอ๋”
“ทำไปทำไม”
ถ้าไม่ได้คำตอบที่ดีพอ
ผมก็จะปฏิเสธด้วยคำพูดของ “เหียโต้ง”
“ผมเกษียณแล้วครับ”
เท่มากเลย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022