ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ผลพวง ดีลควบกิจการสื่อสารไทยครั้งใหญ่ ได้รับความสนใจอีกครั้ง
เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศให้ รางวัลดีลแห่งปี (พิธีมอบ 30 ตุลาคม 2567) กับดีลใหญ่อันครึกโครม นับแต่ต้นกระบวนการผ่านมาแล้วมากกว่า 2 ปี ท่ามกลางช่วงเวลาที่มีแรงเสียดทานพอสมควร
นั่นคือ ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ ต้นปีที่แล้ว เมื่อทั้ง TRUE และ DTAC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ (12 มกราคม 2566) บริษัทใหม่หลังควบรวมกิจการ คงใช้ชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น ชื่อย่อหลักทรัพย์ TRUE และมาปิดท้ายอีกขั้นตอน เมื่อได้หนังสือรับรองชื่อบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (1 มีนาคม 2566)
ว่าไปแล้ว รางวัลดีลแห่งปีที่ว่า เป็นไปตามกติกาเฉพาะของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏสาระหลายหน้า มีเงื่อนไขหลายข้อ มีคณะกรรมการเฉพาะ มาจากแวดวงตลาดทุน ที่น่าสนใจ เป็นไปในจังหวะเวลาซึ่งสัมพันธ์กัน
“บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น รายงานผลกำไรที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567… EBITDA เติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยหากนับตั้งแต่ควบรวมบริษัท EBITDA เพิ่มขึ้น 5.5 พันล้านบาท ซึ่งได้รับแรงผลักดันหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม” รายงานการเงินของ TRUE มาถึงในระยะไล่เลี่ยกัน (อ้างจากคําอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ เกี่ยวกับผลการดำเนินการในไตรมาส 3 ปี 2567″ 25 ตุลาคม 2567)
ขณะ Telenor Group แห่งนอร์เวย์ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ TRUE ได้รายงานผลประกอบการในช่วงเดียวกันเช่นกัน โดยกล่าวถึงกิจการในประเทศไทยในเชิงบวกเพียงสั้นๆ “In Thailand, True is being rewarded for many good strategic choices during the last year.” (อ้างจาก Telenor safeguards customers and delivers solid results. PRESS RELEASE 30 OCT 2024)
อีกดัชนีหนึ่งเกี่ยวกับกราฟราคาหุ้น TRUE แสดงให้เห็นว่า มีการปรับตัวขึ้นอย่างน่าสังเกตในช่วงเพียง 3 เดือนที่เพิ่งผ่านมา (จากระดับ 10 บาท/หุ้น เป็น 12 บาท/หุ้น)
ว่าด้วยดีลโดยรวม ถือว่ายืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ เชื่อกันว่าอยู่ภายใต้แรงกดดันอันเป็นปกติ มักพุ่งเป้าไปยังเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะบริษัทแม่ของ TURE เดิม และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ TRUE ใหม่
ตามไทม์ไลน์ ดีลมีจุดเริ่มต้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อกิจการทั้งสอง “มีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทกัน” (22 พฤศจิกายน 2564) แผนการเป็นจริงเป็นจังอย่างกระชั้น เมื่อ TRUE และ DTAC “นําส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อ กสทช. เมื่อ 25 มกราคม 2565” และ “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TRUE และ DTAC มีมติอนุมัติการควบบริษัท” (18 กุมภาพันธ์ 2565)
ทั้งนี้ แผนการและไทม์ไลน์ในขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญระบุไว้ “บริษัทใหม่จะยื่นคําขอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน” ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565
ทว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เวลานานกว่าที่คาด ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้านที่เพิ่มขึ้นๆ จนล่วงเลยช่วงเวลาในไทม์ไลน์ไป อย่างไรก็ตาม ว่ากันในวงใน ผู้เกี่ยวข้องกับดีล คงเชื่อมั่นจะผ่านด่านสำคัญไปได้
สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวหนึ่งในช่วงนั้น “Telenor Asia Expands Presence in Singapore to Capture Regional Opportunities” (13 ตุลาคม 2565) สำนักงานใหญ่ Telenor Asia ณ สิงคโปร์ จะมีบทบาทมากขึ้น เพื่อดูแลและรับผิดชอบเครือข่ายธุรกิจในเอเชียได้กล่าวเจาะเกี่ยวกับดีลควบรวมกิจการในมาเลเซียและไทย “เป็นดีลควบรวมที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้… หากประสบความสำเร็จ Telenor จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในตลาดเอเชียถึง 3 แห่งซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน”
ในที่สุด กสทช.ลงมติสำคัญเพื่อเปิดไฟเขียว (20 ตุลาคม 2565) โดยใช้คำว่า “รับทราบ” ควบรวมกิจการ มีเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะอ้างว่า “เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม” ท่ามกลางแรงกดดันอันต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากองค์กรผู้บริโภค แสดงบทบาทคัดค้าน กสทช.อย่างเต็มที่ ได้ยื่นต่อศาล โดยเฉพาะขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อยับยั้งแผนการใหญ่มิให้เดินหน้า แต่เป็นอีกครั้ง แรงต้านทางสังคมยังไม่มีพลังเพียงพอ หลายๆ คน หลายๆ ฝ่าย เชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลธุรกิจใหญ่ในสังคมไทย มีมากขึ้นๆ ในทุกมิติ
ในที่สุดดีลใหญ่เป็นไปอย่างที่คาดหมาย ที่สำคัญดูเป็นไปตามตามเจตจำนงซีพี
อยู่ในจังหวะเวลาต่อเนื่องที่น่าสนใจ ช่วงเปลี่ยนผ่านสูงอีกยุคอันคึกคัก เมื่อผลัดเปลี่ยนรุ่นการบริหารครั้งใหญ่ในโครงสร้างบนสุดของซีพี ในปี 2562 ธนินท์ เจียรวนนท์ เมื่อเข้าสู่วัย 80 ได้ประกาศวางมือลงจากตำแหน่งประธาน และได้แต่งตั้ง สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรคนโตเป็นประธานคนใหม่ และ ศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรคนสุดท้อง เป็นประธานกรรมการบริหาร
TRUE ธุรกิจสื่อสารของซีพี หนึ่งในสามธุรกิจหลัก เดินตามแบบแผนเฉกเช่นเดียวธุรกิจหลักอื่นๆ ได้ในที่สุด เพื่อก้าวเป็นผู้นำ ครอบงำตลาดในระดับที่น่าพอใจ ดังกรณี CPF (ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร) กับ CPALL (ธุรกิจค้าปลีก) ทั้งนี้ TRUE ใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 3 ทศวรรษ ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันด้วย TRUE เกิดขึ้นและเติบโตมาด้วยแรงบันดาลใจของรุ่นที่ 3 ตระกูลเจียรวนนท์ มีฉากตอนสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจทีวีบอกรับ (โดย สุภกิต เจียรวนนท์) และธุรกิจสื่อสารไร้สาย (โดย ศุภชัย เจียรวนนท์)
ท่ามกลางแรงกดดันและความผันแปรหลายช่วงตอน มีช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญเป็นพิเศษราว 2 ทศวรรษที่แล้ว จากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน สู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย ธุรกิจใหม่มาแรงและทรงอิทธิพลในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลก จากเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตก (Orange Plc. UK) ในช่วงแรกๆ (2544-2549) มาสู่โลกตะวันออก ร่วมมือกับ China Mobile (ตั้งแต่ปี 2557) กิจการภายใต้อาณัติรัฐบาลจีน จนมาเป็นฉากตอนใหม่ เมื่อ TRUE มีพันธมิตรใหญ่สองซีกโลก 2 รายอยู่ด้วยกัน (Telenor กับ China Mobile)
อีกด้านหนึ่งในการปรับตัวทางธุรกิจตามแบบแผนการที่ผ่านมา ถือเป็นกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจสื่อสารในสังคมไทยในภาพรวมด้วย ธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลและเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญทางสังคมยุคปัจจุบัน
จากกรณีการซื้อกิจการสื่อสารและผนวกรวมผู้ใช้บริการหลายพันราย จากเครือข่ายธุรกิจแห่งฮ่องกง (เครือ Hutchinson) ซึ่งถือเป็นการลดคู่แข่งทางธุรกิจไปอีกรายหนึ่งด้วย
จนมาถึงกรณีควบรวม TRUE-DTAC ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจสื่อสารไร้สาย เหลือเพียง 2 รายที่สำคัญ
“…ไม่มีใครแน่ใจว่าภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ ที่มีการแข่งขันน้อยราย ไม่ว่าจะมองมุมไหน หาคนเชื่อได้ยากว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” ผมเองเคยว่าไว้ เกี่ยวกับภาวะ “อ่อนไหว” ผู้บริโภค
“บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 49.3 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ลดลง 2.1 ล้านราย หรือร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 1.2 ล้านรายเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือร้อยละ 2.3 ผู้ใช้บริการระบบเติมเงิน ลดลง 1.6 ล้านราย หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และลดลง 1.1 ล้านราย หรือร้อยละ 3.1 จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 34.1 ล้านราย ผู้ใช้บริการระบบรายเดือน ลดลง 0.5 ล้านราย หรือร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และลดลง 65,000 ราย หรือร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน” อีกตอนในรายงานข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยภาพรวม ดูจะสวนทางกับรายงานการเงินข้างต้นอยู่บ้าง (ที่มา อ้างแล้ว)
ไม่แน่ใจว่า จะเกี่ยวข้องกับแรงกระเพื่อมอาจมีอยู่ หรือไม่ อย่างไร •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022