ลุ้นระทึก ‘กาสิโน’ แสนล้าน รัฐบาลเดินหน้าเต็มตัว ทุนใหญ่แห่ปักหมุดชิงเค้ก

การผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อย่าง Entertainment Complex เพื่อพลิกโฉมการลงทุนของประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุด ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจรขึ้นมา และ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยอย่างเร็วสุดคือ ต้นเดือนธันวาคม 2567 นี้ เพื่อให้ทันบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดสมัยประชุมในระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 นี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายขับเคลื่อนนโยบายนี้ เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผลคือเสียงส่วนใหญ่ถึง 82% เห็นด้วยกับการให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ภายในไม่เกินสิ้นปี 2567 นี้ จากนั้นเมื่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบแล้ว จะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทันที

“สำหรับกระบวนการในรัฐสภา คาดว่าจะใช้เวลารวมๆ แล้วประมาณ 1 ปี เพราะต้องตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ต้องผ่านการลงมติวาระ 2-3 และผ่านชั้นวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งต้องดูว่า จะมีการปรับแก้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ผลการศึกษาประเมินว่า Entertainment Complex จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นราว 5-20% สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ หนุนอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ช่วงก่อสร้างและช่วงการลงทุน ช่วยเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 40,000 บาทต่อคน ไปสู่ระดับประมาณ 60,000 บาทต่อคนได้ รวมถึงเพิ่มการจ้างงานคนในประเทศด้วย ขณะเดียวกันจะมีรายได้จากกาสิโน จะมีค่าเข้าไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง

ขณะที่อายุสัมปทานของโครงการจะมีใบอนุญาต 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี โดยมีค่าใบอนุญาตใบละ 5,000 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปีอีกปีละ 1,000 ล้านบาท

“คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนได้ 100,000 ล้านบาทต่อแห่ง สร้างรายได้ภาษี และรายได้อื่น รวมๆ แล้ว 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี”

 

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การลงทุน Entertainment Complex มีกาสิโนไม่ถึง 10% ซึ่งอยากให้ภาคเอกชนช่วยกัน เป็นตัวสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะโครงการนี้ผลประโยชน์จะเกิดกับประเทศล้วนๆ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการไม่ใช่แค่กาสิโน แต่ยังมีสวนสนุก สวนสัตว์ สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันก็มีผู้จัดคอนเสิร์ตระดับโลกที่สนใจจะจัดงานในเมืองไทย แต่ไม่มีสถานที่ ดังนั้น Entertainment Complex จะตอบโจทย์ตรงนี้

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร กล่าวว่า รัฐบาลวางเป้าหมายการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระยะแรกใบอนุญาต Entertainment Complex จึงเลือกในระดับ XL หรือแสนล้านบาทขึ้นไป แต่ละแห่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เมื่อวิ่งเข้ามาในภาคเศรษฐกิจ จะผลักดันการเติบโตของ GDP แน่นอน

โดยในรายละเอียดแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. เช่น ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทยครั้งละ 5,000 บาท, ค่าใบอนุญาตครั้งแรก 5,000 ล้านบาทต่อปี, รายปี 1,000 ล้านบาท เป็นเพดานสูงสุดที่ต้องกำหนดไว้ หลังจาก พ.ร.บ.นี้ผ่าน จะมีการตั้งคณะกรรมการและว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาในรายละเอียด เพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสมอีกที

“คณะกรรมการจะดูว่าโลเกชั่นนี้ ค่าเข้าและใบอนุญาตควรราคาเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมต่อการดึงดูดการลงทุน”

สำหรับรายได้ที่รัฐบาลจะได้จาก Entertainment Complex จะมาจาก 3 ส่วน คือ

1. ใบอนุญาตประกอบการ แบ่งตามมูลค่าการลงทุน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อนุญาต ได้แก่ Size S, M, L และ XL มีทั้งจ่ายครั้งแรกและรายปี (ระยะแรก XL)

2. ภาษี เก็บจากผู้ประกอบการ คิดจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gaming Revenue : GGR) คือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นพนัน

และ 3. ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ เพื่อเป็นการป้องกันคนไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ จะมีการเก็บภาษีการเข้าใช้บริการ โดยเก็บในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย

สำหรับเรื่องภาษีนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เก็บภาษีกาสิโน 10% ของ GGR ประเทศสิงคโปร์ เก็บเฉลี่ย 17% ของ GGR และมาเก๊า เก็บที่อัตราเฉลี่ย 35% ของ GGR เป็นต้น

“สิงคโปร์เก็บ 2 รูปแบบ คือ ลูกค้า VIP เรตหนึ่ง ลูกค้าทั่วไปเรตหนึ่ง เพื่อดึงดูด VIP เข้ามา โดยตัวชี้วัด VIP คือเงินฝากในระดับนั้นๆ”

 

มีรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีหลายกลุ่มทุนที่แสดงความสนใจจะลงทุน Entertainment Complex อาทิ กลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ หรือสวนสยาม, กลุ่มเดอะมอลล์, บริษัท พราว กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงท่องเที่ยว, กลุ่มบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ที่มีพื้นที่ 1,200-1,500 ไร่ (บางกอกแอร์เวย์ส, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และซิโน-ไทย)

รวมถึงกลุ่มราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย หรือสนามม้านางเลิ้ง ร่วมกับบริษัท Royal Sport Complex จำกัด หรือ RSC โดยระบุว่าอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่จะร่วมลงทุน 4 ราย เล็งพื้นที่กรุงเทพฯ ทำเลในเมือง 3 แห่ง ได้แก่ หนองจอก พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ลาดกระบัง 2,000 ไร่ และท่าเรือคลองเตย กว่า 2,300 ไร่ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อโครงการ The Royal Siam Haven

ในส่วนของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC แต่ล่าสุด วัลลภา ไตรโสรัส ทายาทกลุ่มเสี่ยเจริญ ศิริวัฒนภักดี ออกมาปฏิเสธว่ายังไม่ตรงกับโมเดลลงทุนของกลุ่ม

นอกจากนี้ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการกาสิโนระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Las Vegas Sands Corporation, กลุ่ม Wynn Resorts, กลุ่ม Caesars Entertainment, กลุ่ม MGM China Holdings Limited และกลุ่ม Hard Rock Cafe ที่แสดงความสนใจลงทุนด้วยเช่นกัน

ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานบริหารกลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ ผู้ดำเนินธุรกิจสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนน้ำและสวนสนุกชั้นนำของไทย (สวนสยาม) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลในการผลักดัน Entertainment Complex และกาสิโนถูกกฎหมาย ทำให้เห็นโอกาสในการดึงเอาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาสวนน้ำ-สวนสนุก

สำหรับแผนเบื้องต้นของกลุ่มสยามพาร์คซิตี้ คือ ขยายพื้นที่ข้างเคียงของสวนสยามอีก 217 ไร่ จากพันธมิตรคนสนิท รวมทั้งหมดจะทำให้มีพื้นที่เกือบ 500 ไร่ เนรมิตออกมาเป็นหลากหลายยูนิต อาทิ โรงแรมและกาสิโน, ทะเลสาบขนาดใหญ่, ฟู้ดเดสติเนชั่น, สนามกีฬาในร่ม, ศูนย์วัฒนธรรมแต่ละภาค, Grand Area, Wellness Resort

“ผมคิดว่า ทำเลของสวนสยามนั้นใช่ ทั้งขนาดและระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางไม่ยากจากสนามบินทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แถมยังมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เอื้อต่อการเดินทางด้วย”

 

ล่าสุด มีกระแสข่าวเกี่ยวกับพื้นที่เป้าหมายว่า น่าจะเริ่มต้นที่ 5 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ 2 แห่ง ภูเก็ต เชียงใหม่ และชลบุรี (พัทยา) ที่ละ 1 แห่ง แต่ตรงนี้ยังต้องรอกฎหมายผ่านก่อนจึงจะมีความชัดเจน

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่ามีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับโปรเจ็กต์ลงทุนขนาดยักษ์ของรัฐบาล ที่หากผลักดันสำเร็จ ก็น่าจะส่งผลในเชิงเศรษฐกิจได้มากเลยทีเดียว