ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ตําแหน่ง “พระสนมเอก 4 ท้าว” ดูจะเกี่ยวข้องอยู่กับปรัมปราคติเรื่องของ “เทวราช” อันหมายถึง “พระอินทร์” ผู้เป็นราชาเหนือเทพยดาทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ ตามมติของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีพระชายาอยู่ 4 องค์ อันได้แก่ นางสุธรรมา, นางสุชาดา, นางสุนันทา และนางสุจิตรา
ดังนั้น ถ้าจะมีความเชื่อในทำนองที่ว่า “เทวราช” (หรือจะ “พุทธราช” ก็ได้) ในคราบของมนุษย์ ก็ควรที่จะมีชายา หรือสนม 4 องค์ ตามฐานานุศักดิ์ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหนหรอกนะครับ
โดยเฉพาะเมื่อสิทธิธรรมความเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็นำเอาอุดมคติของพุทธศาสนาเถรวาทมาใช้เป็นพนักพิงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
และจึงไม่แปลกอะไรอีกเช่นกัน ที่จะมีการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่อง “มฆมาณพชาดก” อันเป็นเรื่องของมฆมาณพ กับภรรยาทั้ง 4 ที่ทำบุญร่วมกันจนกระทั่งได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ กับชายาทั้ง 4 องค์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประดับอยู่บนฝาผนังเรือนที่พำนักเดิมก่อนเสวยราชสมบัติของรัชกาลที่ 1
โดยพระองค์ได้พระราชทานเรือนเก่าดังกล่าว ให้วัดระฆังโฆสิตารามฯ ย่านบางกอกน้อย เอาไว้ใช้เป็นหอไตรฯ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คติและพิธีกรรมเกี่ยวกับชายา หรือนางสนม 4 องค์ ที่เกี่ยวข้องกับปรัมปราคติของพุทธศาสนานี้ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น เพราะยังพบหลักฐานที่ชวนให้นึกถึงเรื่องราวทำนองเดียวกันอยู่ในราชสำนักกัมพูชาด้วย เพียงแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป
ร่องรอยดังกล่าวปรากฏอยู่ใน “กบวนพิธีขึ้นพระที่นั่งมหามณทีรในพระบรมมหาราชวัง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) ในพระราชพิธีราชาภิเษก ของกัมพูชา โดยในหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 21 เรื่องพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้ามณีวงศ พระเจ้ากรุงกัมพูชา” ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงแปลถอดภาษาเขมรออกมาเป็นไทยว่า ต้องมี “สตรีมงคลทั้ง 4 ทวีป” ที่นำโดย “สตรีแก้ว” แห่หลังพระกรุณา (หมายถึง กษัตริย์) ดังมีรายละเอียดว่า
“1. สตรีแก้ว 1 นัก นุ่งผ้าส้ารบับขาว หรือยกขาวจีบ ห่มตาดขาวติดขลิบ อัญเชิญพระแสงอัสสลีย์
สตรีมงคลทั้ง 4 ทวีป คือ
2. สตรีบุพพวิเท่ห์ทวีป 1 นุ่งผ้าส้ารบับหรือยกสี ห่มสีเหลือง ถือผกามาศ ฯ
3. สตรีชมพูทวีป 1 นุ่งผ้าส้ารบับหรือยกสีห่มสีเพ็ชร ถือผกามาศ ฯ
4. สตรีอมรโคยานีทวีป 1 นุ่งผ้าส้ารบับหรือยกสี ห่มสีเหลืองขจี ถือผกาปรัก” ฯ
5. สตรีอุดรกาโรทวีป 1 นุ่งผ้าส้ารบับสีหรือยกห่มสีมรกต ถือผกาปรัก ฯ
สตรีทั้ง 5 นักนี้ ต้องเลือกในราชตระกูล ประกอบโดยลักขณบริสุทธรุ่งเรืองลออ ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ข้อความต่อจากนั้นยังได้ระบุถึงวิธีการแต่งตัว และข้าวของที่ต้องถือของสตรีอีก 8 คน ที่แห่ตามหลังพระกรุณามาพร้อมกันนั้นด้วย แต่ไม่มีข้อความระบุว่า ต้องเป็นผู้หญิงที่เลือกมาจากในราชตระกูล รวมถึงไม่ได้บอกด้วยว่า เป็นนางแก้ว หรือสตรีจากทวีปไหน ตำบลใด? ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “สตรีแก้ว” และ “สตรีมงคลทั้ง 4 ทวีป” ได้เป็นอย่างดี
“สตรีแก้ว” ในเอกสารนั้น ย่อมหมายถึง “นางแก้ว” อันเป็นหนึ่งในแก้วทั้ง 7 ประการ ที่ประกอบไปด้วย ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, ขุนพลแก้ว, เสนาแก้ว (บางทีเรียก ขุนคลังแก้ว), จักรแก้ว, รัตนะ (คือ แก้วอันเป็นต้นกำเนิดของอัญมณีทั้งปวงในจักรวาล) และนางแก้ว ซึ่งก็คือสมบัติเฉพาะของ “จักรพรรดิราช” ผู้เป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย ตามปรัมปราคติในพุทธศาสนา
และถึงผมจะไม่บอก แต่ก็คงจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่า กลุ่มสตรีที่ถูกเน้นย้ำว่า “ต้องเลือกในราชตระกูล” ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกัมพูชาที่เหลือทั้ง 4 คนนั้น มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็น “ผู้หญิง” จากทวีปทั้ง 4 ตามปรัมปราคติเรื่องไตรภูมิในพุทธศาสนา อันได้แก่ อุตตรกุรุทวีป (อุดรกาโรทวีป), อมรโคยานทวีป (อมรโคยานีทวีป), บุพพวิเทหทวีป (บุพพวิเท่ห์ทวีป) และชมพูทวีป ซึ่งต่างก็ตั้งล้อมอยู่รายรอบเขาจักรวาล อันมี “เขาพระสุเมรุ” ศูนย์กลางของจักรวาล เป็นประธาน
ส่วนที่บนยอดของจอมเขาพระสุเมรุนั้นก็เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ “พระอินทร์” ผู้เป็น “เทวราช” ปกครองอยู่
การปรากฏขึ้นของ “สตรีแก้ว” และ “สตรีมงคลทั้ง 4 ทวีป” ในขบวนแห่หลังพระกรุณา ที่กำลังจะขึ้นพระที่นั่งมหามณเฑียร ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกัมพูชา จึงเป็นสัญลักษณ์ว่า กษัตริย์ผู้นั้นเป็นทั้ง “พระจักรพรรดิราช” (จึงมีนางแก้ว เป็นสมบัติ) และ “เทวราช” อันมีทวีปทั้ง 4 ในจักรวาลเป็นบริวาร (จึงมีสตรีมงคล 4 ทวีป เป็นบริวาร) ไปพร้อมกันนั้นเอง
ในกัมพูชาโบราณ ยุคที่ยังสร้างปราสาทหินกันอยู่นั้น ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเทวราช ผู้มีชายา 4 องค์เช่นกันนะครับ
ข้อความในคัมภีร์โบราณที่มีชื่อเรียกยากๆ ว่า “วินาศิขะตันตระ” อันเป็นชื่อคัมภีร์ที่ในจารึกสด๊กก็อกธม (พบที่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว) อ้างว่าใช้ในลัทธิเทวราชของราชสำนักกัมพูชาโบราณ มีข้อความระบุในทำนองที่ว่า พระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ) ที่ปรากฏกายในปางที่มี 4 พระพักตร์ ซึ่งถูกเรียกว่า “ตุมพุรุ” และเป็น “เทพเจ้าแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย” (god of gods, ในทำนองเดียวกับ ราชาเหนือราชาทั้งหลาย) จะปรากฏกายคู่กับชายาทั้ง 4 อันได้แก่ ชยา, วิชยา, ชยันตี และอัปราชิตา ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อในพุทธศาสนาว่า พระอินทร์ ผู้เป็นเทวราช มีชายา 4 องค์
ที่สำคัญก็คือ อะไรที่เรียกว่าลัทธิเทวราชในวัฒนธรรมเขมรโบราณนี้ก็คือ ลัทธิธรรมเนียมการสถาปนากษัตริย์หลังสิ้นพระชนม์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้า แล้วยกให้เทพเจ้าองค์นั้น ขึ้นไปเป็น “เทวราช” คือราชาเหนือหมู่เทพทั้งหลาย
ในทำนองเดียวกับที่ให้พระอิศวรเป็นตุมพุรุ ผู้เป็นเทพเจ้าของหมู่เทพทั้งมวลตามอย่างในคัมภีร์วินาศิขะตันตระว่าไว้นั่นแหละ
ความเชื่อเรื่อง “เทวราช” จะต้องมีชายา (หรือจะสนม หรือสตรีก็ได้) ด้วยจำนวน 4 องค์ (ในทำนองว่าเป็นกลเลขศักดิ์สิทธิ์ ที่ต่างก็มีอยู่ในความเชื่อของหลายชาติ หลากภาษา) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
จนน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับตำแหน่งสตรีมงคลทั้ง 4 ทวีป ในพิธีราชาภิเษกของกัมพูชา อย่างที่ผมเล่ามาข้างต้น หากแต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดของการอธิบายความ เพราะความแตกต่างกันของยุคสมัย
คือ ลัทธิเทวราชของเขมรโบราณ ถือเอาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นใหญ่
ในขณะที่ราชสำนักเขมรในรุ่นหลังนั้น นับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาท
จึงทำให้ชุดคำอธิบายเรื่องชายาทั้ง 4 นั้น แตกต่างกันออกไป
ตําแหน่ง “พระสนมเอก 4 ท้าว” ของกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะมีที่มาจากอะไรทำนองนี้ด้วยเหมือนกัน และก็คงมีรายละเอียดของคำอธิบายที่แตกต่างออกไปด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันของสังคมกรุงศรีอยุธยา กับเมืองพนมเปญ อันเป็นที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของสมเด็จเจ้ามณีวงศ์ ที่ผมยกเรื่องสตรีแก้ว และสตรีมงคล 4 ทวีป มาให้อ่านกัน
นักประวัติศาสตร์ในรุ่นหลัง (ถ้าจะเจาะจงลงไปให้ชัด ก็คือในยุคที่เกิดสำนักศิลปวัฒนธรรมขึ้นแล้ว) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ชื่อตำแหน่งใน “พระสนมเอก 4 ท้าว” นี้ สัมพันธ์อยู่กับเมืองสำคัญที่เป็นเครือข่ายอำนาจของอยุธยา อย่าง นครศรีธรรมราช (บางท่านว่า ควรจะเป็น เพชรบุรี), ลพบุรี, สุพรรณบุรี และสุโขทัย (ส่วนชื่อตำแหน่งไหนจะสัมพันธ์อยู่กับเมืองอะไร ยังเป็นที่ถกเถียง ไม่เป็นที่ยุติชัดเจน)
(ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้คนมักจะรู้จักพระสนมเอก 4 ท้าว ในชื่อ “พระสนม 4 ทิศ” มากกว่า)
พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่ใครก็สามารถจะมาเป็นพระสนมเอก 4 ท้าว กันได้ทุกคน แต่จะต้องมีเชื้อ มีสายมาจากเจ้าผู้ครองเมืองดังกล่าวเหล่านั้นด้วย
เช่น “แม่หยัวท้าวศรีสุดาจันทร์” ซึ่งในหนังสือที่เขียนจากการสอบคำให้การจากเชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 อย่าง “คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่าเป็น พระมเหสีฝ่ายซ้าย ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง แห่งเมืองละโว้ หรือลพบุรี นี่แหละครับ
ความสำคัญของตำแหน่งพระสนมเอก 4 ท้าว ของกรุงศรีอยุธยานั้น จึงไม่ได้สำคัญต่อพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะในแง่ของพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเครือข่าย ซึ่งแสดงถึงพระบารมีของพระองค์ว่าครอบคลุมทั่วทั้งจักรวาลวิทยาของความเป็นอยุธยา (และอาจจะรวมถึงกรุงเทพฯ ในเชิงอุดมคติที่รับสืบทอดกันมา) มากถึงเพียงไหน (แน่นอนว่า ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะมีพระสนมเอกครบทั้ง 4 ท้าว)
พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ตำแหน่ง “พระสนมเอก 4 ท้าว” แต่ละตำแหน่งนั้นก็คือตัวแทนของสายตระกูลสำคัญใน “รัฐพันลึก” (deep state) ของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจในกรุงศรีอยุธยา
ท้าวศรีสุดาจันทร์ อันเป็นหนึ่งในตำแหน่ง “พระสนมเอก 4 ท้าว” ตามที่ระบุอยู่ในกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ.1998 อย่างพระไอยการนานั้น จึงควรที่จะพัฒนามาจากความเชื่อ และพิธีกรรมตามปรัมปราคติ ที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เทวราช, จักรพรรดิราช หรืออะไรก็ตามแต่ จะต้องมีชายา, พระสนม หรือสตรีมงคล 4 องค์ในครอบครอง
โดยในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น ตำแหน่งพระสนมเอก 4 ท้าว คงจะได้ทวีความซับซ้อนจนไปผูกโยงเข้ากับเครือข่ายจักรวาลความเป็นรัฐพันลึกของกรุงศรีอยุธยานั่นแหละครับ •
แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ : ‘แม่หยัวเมือง’ ผู้ก้าวมาจากพระสนมเอก 4 ท้าว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022