ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
ประชาชนใหญ่กว่าพรรค?
พรรคการเมืองควรฟ้องประชาชนหรือไม่
เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้ฉันอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าพรรคประชาชนจะฟ้อง “ชาวเน็ต” ท่านหนึ่งที่ใช้ชื่อ “อาร์ตโฟโต้”
เนื่องจากอาร์ตโฟโต้พูดกล่าวหาว่าพรรคประชาชนเกี่ยวข้องกับขบวนการบีอาร์เอ็น รวมถึงสื่อสารในทางที่อาจทำให้คนเข้าใจว่าพรรคประชาชนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการระเบิดที่ภาคใต้
ถามว่าสิ่งที่อาร์ตโฟโต้ พูดผิดหรือถูก
ถามฉัน (ไม่ได้ถามศาล) ในฐานะคนทำงานด้านสื่อสาร ฉันก็จะตอบว่า เราไม่ควรกล่าวหาใครโดยเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐาน
สิ่งที่อาร์ตโฟโต้พูดเป็นการพูดโดยไม่มีหลักฐาน ปราศจากข้อพิสูจน์ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย
และสิ่งนี้ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของตัวอาร์ตโฟโต้เอง
แต่ถามว่าถ้าพรรคประชาชนฟ้องอาร์ตโฟโต้ ใครมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่ากัน?
พรรคประชาชนที่มาจากพรรคก้าวไกล และมาจากพรรคอนาคตใหม่ วางตัวเป็นพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า มีความเข้าใจเรื่อง “เสรีภาพในการพูด” และให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด ในการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อ
และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่จนกลายเป็นพรรคประชาชนในปัจจุบันต่อสู้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
และดูเหมือนจะเป็นพรรคการเมืองเดียวในประเทศไทยที่มีนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนต่อประเด็น 112
ด้วยความโดดเด่นในเรื่องนี้ ทำให้อนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนหัวก้าวหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับการยกย่องจากนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนนานาชาติ
ได้รับเกียรติอย่างสูงจากเวทีโลกในฐานะพรรคการเมืองที่ “กล้าหาญ”
พูดง่ายๆ ว่า หากเรามองมาจากสายตาของต่างประเทศที่มองการเมืองไทย พวกเขาเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน คือพรรคการเมืองน้ำดีท่ามกลางพรรคการเมืองน้ำเน่า
เป็นพรรคการเมืองที่กล้าหาญท่ามกลางพรรคการเมืองที่ขี้ขลาด เล่นการเมืองแบบแสวงหาผลประโยชน์ ภาพลักษณ์ของพรรคประชาชนนั้นย่อมเป็นประหนึ่งเพชรเม็ดเดียวท่ามกลางโคลนตมปลักขี้ควายในเมืองไทย
เพราะอะไร?
ก็เพราะพรรคประชาชนเป็นพรรคการเมืองเดียวที่อ้างตลอดเวลากับโลกทั้งใบว่าพวกเขาสมาทานแนวคิดเรื่อง “เสรีภาพในการพูด” และไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเขาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหลักของชาติ
ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับโลกอารยสากล
แต่ทันใดที่พรรคประชาชนบอกว่าจะฟ้องอาร์ตโฟโต้ เพียงเพราะการกล่าวหาเลื่อนลอยของอาร์ตโฟโต้ ฉันคิดว่าพรรคประชาชนกำลังทำให้โลกทั้งใบสงสัยว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนเชื่อในเสรีภาพในการพูด และเชื่อในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้จริงหรือไม่?
หรือจริงๆ แล้ว พรรคประชาชนก็ไม่ต่างจากกลุ่มอำนาจนิยมในประเทศที่เชื่อในการขับเคลื่อนสังคมผ่าน “ศาล” และ “การลงโทษ” พรรคประชาชนที่โจมตีกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมาโดยตลอด
และอวดอ้างแนวคิดเรื่อง “ไม่ควรมีใครติดคุกเพียงเพราะไม่รัก” กลับฝักใฝ่ในการใช้กฎหมาย ศาล และการลงโทษ (โดยกลไกรัฐ) มาจัดการกับกลุ่มคนที่เกลียดชังตนเอง
ถามว่า “แล้วพรรคการเมืองต้องยอมให้มีคนมาใส่ร้ายป้ายสีหรือ?”
คําตอบคือ พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องทนต่อการถูกใส่ร้ายป้ายสี
แต่พรรคการเมืองต้องอย่าลืมว่า ในฐานะพรรคการเมือง ตนเองมี ส.ส.อยู่ในสภา ในฐานะพรรคการเมือง สามารถเข้าถึงเครื่องมือของ “รัฐ” ต่อให้เป็นฝ่ายค้านก็ตาม
เช่น ย่อมสามารถใช้ความเป็นผู้นำฝ่ายค้านเปิดเวทีแถลงเรื่องนี้ในสภา
เปิดการแถลงข่าว แน่นอนว่า หากจะให้ประชาชนอย่างอาร์ตโฟโต้แถลงข่าว กับพรรคประชาชนแถลงข่าว สื่อ จะอยากไปทำข่าวของใครมากกว่ากัน และใครมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน
พูดง่ายๆ ว่า ในสถานะพรรคการเมืองย่อมมี “ทุน” ทางสังคม อำนาจ แสนยานุภาพมากกว่าประชานหนึ่งคน
เพราะฉะนั้น พลิกมองจากมุมไหนก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องฟ้อง
แต่สิ่งที่พรรคประชาชนทำได้คือ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวประณามอาร์ตโฟโต้ก็ยังได้ หรือจะจัดเวทีเสวนาวิชาการว่าด้วยบีอาร์เอ็นคืออะไร คือใคร ทำงานอย่างไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร เชิญนักวิชาการมา เอา ส.ส.ในพรรคตัวเองมาพูด เชิญ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมาพูด เชิญ รมต.ทวี สอดส่อง มาร่วมให้ความรู้เรื่องนี้
ทำแบบนี้ขี้คร้านจะได้รับเสียงสรรเสริญเยินยอทั่วสารทิศว่า โอ้ ช่างเป็นพรรคการเมืองที่ใจกว้าง แถมยังสร้างคุณูปการให้กับสังคมด้วยการทำให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์นอกกระแส
และยังได้โอกาสที่จะทำให้สังคมไทยเข้าใจบีอาร์เอ็นอย่างถูกต้อง
ไม่ใช่เหมารวมไปหมดว่าคือโจรคือผู้ก่อการร้าย พร้อมกับเรียนรู้เรื่องกลุ่ม กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมกันนั้นก็แสดงจุดยืนของพรรคว่า เพราะอะไรพรรคถึงเห็นความจำเป็นที่ต้องรู้จักกลุ่มนี้ ซึ่งมันไม่ได้แปลว่า “เป็นพวกเดียวกัน”
การมีความสัมพันธ์ในทางใดทางหนึ่งไม่ได้เท่ากับการสนับสนุนแนวคิด แต่อาจหมายถึงความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพชายแดนใต้ในแนวทางที่พรรคเชื่อ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น หลักใหญ่ใจความที่พรรคการเมืองไม่ควรฟ้องตาสีตาสาประชาชนไม่ใช่เพราะต้องยอมถูกใส่ร้าย แต่เพราะ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” โดยสถานะพรรคการเมือง คุณมีความได้เปรียบ มีสถานะที่เหนือกว่า มีทรัพยากรมากกว่า
มีเครือข่าย มีเครื่องมือในการสื่อสารมากกว่าในการจะออกมาชี้แจงหรือแถลงว่า สิ่งที่ตาสีตาสาพูดนั้น ไร้สาระ บิดเบือน โกโหก หลอกลวง เหลวไหล
นอกจากนี้ ในฐานะ “พรรคการเมือง” ที่เป็นสถาบันทางการเมืองอันอยู่ใน “ที่แจ้ง” อย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยสถานะเช่นนี้ พรรคการเมืองย่อมเป็นทั้งที่รักและเป็นทั้ง “ที่ชัง” หรือสามารถเป็นเป้าหมายแห่งความเกลียดชัง รังเกียจ อย่างรุนแรงสูงสุดเท่าๆ กับที่เป็นที่รักที่ศรัทธาสูงสุดไปพร้อมๆ กัน
การโดนใส่ร้ายป้ายสีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ จึงเป็นเรื่องปกติมากๆ พอๆ กับสุภาษิตไทยที่บอกว่า “แม้นองค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา”
ยิ่งพรรคการเมืองเติบโตขึ้น ยิ่งพรรคการเมืองนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สิ่งที่มาคู่กันก็คือโดนโจมตีมากขึ้น เป็นที่จับจ้องมากขึ้น
ถ้าพรรคประชาชนเป็นพรรคที่มี ส.ส.สองคน ก็คงไม่มีใครเสียเวลามาพูดถึง
การที่พรรคถูกใส่ร้ายป้ายสี ก็แสดงว่าพรรคมีความโดดเด่น มี “ความสำคัญ” ไม่ใช่พรรคไก่กา
หน้าที่ของพรรคการเมืองที่โดดเด่นคือต้องยิ่งแสดงออกซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ ความมีวุฒิภาวะ ความใจกว้าง และที่สำคัญยิ่งโดดเด่น ยิ่งได้รับความนิยม
ยิ่งมี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ใจก็ยิ่งต้องนิ่ง ยิ่งต้องสั่งสมความเมตตา empathy เป็นการสร้างบารมีให้ตัวเอง
ไม่ใช่เป็นพรรคที่แสนโดดเด่น โด่งดัง ก้าวหน้า ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
เจอเฟกนิวส์เข้าไปหนึ่งดอกก็เต้นแรงเต้นการ้องแรกแหกกระเชอตีโพยตีพาย “ชั้นจะฟ้องให้มันหลาบจำ”
การทำแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองนั้นดูเป็นเด็กไม่รู้จักโต หวั่นไหวง่าย ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในสถานะที่ตัวเป็นอยู่ และดูเป็นคนงอแงแบบเด็กเอาแต่ใจตัวเอง โดนตอดนิดตอดหน่อยก็เป๋ แถมยังมีแนวโน้มชอบ “มีเรื่อง” และในฐานะพรรคการเมือง คนที่คุณไม่ควรมีเรื่องด้วยมากที่สุดคือประชาชน
ตลกไหมล่ะ? พรรคการเมืองมีหน้าที่หาคะแนนนิยมจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนมอบความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของเขาเข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนในสภา
ดังนั้น สิ่งสุดท้ายที่พรรคการเมืองที่ไปมีเรื่องด้วยก็คือประชาชน เพราะเราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตใครจะกลายเป็นโหวตเตอร์ของเรา
โดยปกติ เมื่อพรรคการเมืองถูกประชาชนด่า หรือใส่ร้ายเสียๆ หายๆ สิ่งที่พรรคการเมืองจะทำคือ
ก. เงียบ
ข. ขอโทษ
ค. ชี้แจงความจริงอย่างสุภาพและรักษาความเป็นมิตรไว้อย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นการสปิริตของการ “อ่อนน้อม” ต่อประชาชนอย่างถึงที่สุด
พรรคการเมืองจะฟ้องร้องก็ต่อเมื่อ ผู้ใส่ร้าย กล่าวหา เป็นบุคคลทางการเมืองด้วยกัน หรือเป็นผู้มียศ ตำแหน่ง มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ วิชาชีพ
แต่ไม่ใช่ชาวบ้านประชาชนตาสีตาสาอย่างอาร์ตโฟโต้แน่อน
สําคัญกว่านั้น เราทุกคนที่เคยขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพในการพูด เราทุกคนรู้ว่าด้วยเสรีภาพในการพูดนี่แหละคือหัวใจของการต่อสู้กับเฟกนิวส์
การใส่ร้ายผู้อื่นไม่ใช่ “เสรีภาพในการพูด” แต่เสรีภาพในการพูดคือหัวใจของการสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งทางสติปัญญา ไม่ตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์ ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปั่น ข่าวโกหกหลอกลวง
การจับคนเข้าคุกไปเรื่อยๆ เพราะปล่อยข่าวปลอม รังแต่จะสร้างสังคมที่จบลงด้วยการเป็นเผด็จการทางความคิดและเผด็จการแห่ง “ความดี” และจบลงด้วยการที่คนในสังคมนั้นจะใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้งคนที่ตัวเองเกลียด กลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง
และแทนการสร้างสังคมที่ประชาชนมีความเข้มแข็งทางสติปัญญาด้วยตนเอง ก็จะกลายเป็นสังคมที่สามบาทห้าบาทก็ต้องวิ่งไปหาผู้พิพากษาว่า
“ท่านคะ ช่วยติดสินหน่อยเถิดว่า สิ่งที่อีนังคนนี้พูด มันจริงหรือไม่จริง”
จากสังคมที่คนเคารพสติปัญญาของตัวเองก็จะกลายเป็นสังคมที่คิดเองไม่ได้ ต้องไปให้ศาลท่านพิสูจน์ให้เท่านั้น
และนี่แหละคือที่มาแห่งสังคม “นักร้อง” ที่เรารังเกียจกันมิใช่หรือ? และเป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลเผชิญวิบากกรรมนี้มาด้วยตัวเอง
ยํ้ากันอีกครั้งว่ามีแต่สังคมที่ยืนยันในหลักเสรีภาพในการพูดเท่านั้นที่จะสร้างสังคมที่เคารพสติปัญญาของตัวเอง
สังคมที่มีภูมิต้านทานต่อข่าวปลอม สังคมที่ต่อให้มีคนมาใส่ร้ายเรา ความเท็จนั้นก็จะไม่ทำงาน เพราะคนในสังคมมีวิจารณญาน มีความเข้มแข็งทางสติปัญญาเกินกว่าจะตกเป็นเหยื่อนิทานโง่ๆ ที่ใครบางคนพยายามจะปั่น
ฉันถามง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้มีใครเชื่อเรื่องผังล้มเจ้าบ้าง?
ในวันนี้ที่คนไม่เชื่อเรื่องผังล้มเจ้า ไม่ใช่เพราะศาลพิพากษาว่ามันไม่มีจริง
แต่เพราะสังคมมีสติปัญญาต่อเรื่องนี้มากขึ้น
ทำไมสังคมมีสติปัญญาต้านทานเรื่องนี้ได้ดีขึ้น
ก็เพราะสังคมเราร่วมกันดันเพดานของการพูดเรื่องนี้ เถียงเรื่องนี้ อภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา
ฉันถามง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้ใครเชื่อเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ ไม่มีใครเชื่อ
ไม่ใช่เพราะคนปั่นเรื่องนี้ติดคุกข้อหาใส่ร้ายป้ายสี
แต่สังคมไม่เชื่อเพราะเราได้พูดเรื่องนี้กันมากขึ้น เราได้ถกเถียงกันมากขึ้น
ยังมีอีกหลายเรื่องที่สังคมเรายังตกเป็นเหยื่อข่าวลือข่าวลวงข่าวปั่น แต่ฉันไม่เห็นความจำเป็นต้องจับใครเข้าคุก
เพราะยิ่งมีข่าวลวง เราก็ยิ่งต้องเร่งทำงานหนักเพื่อเอาความจริงมาสู้
และผลลัพธ์สุดท้ายคือเราได้ช่วยยกระดับสติปัญญาของสังคมไปพร้อมๆ กัน
ในขณะที่การเอาคนไปติดคุกไม่ช่วยอะไร นอกจากสร้างความเกลียดชังต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
รุนแรงกว่านั้นคือการบ่มเพาะวัฒนธรรมเอะอะไปขอ “ศาล” ตัดสินชี้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง
สุดท้ายกลายเป็นว่า ประชาชนนั่นแหละไปมอบอำนาจให้ “ศาล” มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้ายคนเดียว ซึ่งโคตรอันตราย
ย้อนไปในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเห็นว่าเจอทั้งเรื่องเขาพระวิหาร เจอทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูง เจอทั้งเรื่องจำนำข้าวที่ปล่อยข่าวปลอมข่าวปั่นกันจนปลุกม็อบขึ้นได้ใหญ่โต จนนำไปสู่การรัฐประหาร ถามฉันว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าพรรคเพื่อไทย ณ เวลานั้น ควรฟ้องไหม?
หรือรัฐบาลควรฟ้องคนปล่อยข่าวเท็จ ข่าวปั่นไหม
ฉันก็ยืนยันว่า ต่อให้ชัดเจนว่าเป็นเฟกนิวส์ก็ไม่ควรฟ้อง รัฐบาล หรือพรรคการเมืองมีหน้าที่ชี้แจง และหากชี้แจงแล้วประชาชนไม่เชื่อจนนำไปสู่การล้มรัฐบาล ก็ยังดีเสียกว่าถูกจดจำในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่ “ฟ้อง” ประชาชน
พูดง่ายๆ ว่า ให้โลกจำว่าคนชั้นกลางไทยเป็นเหยื่อข่าวปลอมจนนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังดีกว่าถูกจดจำว่าเป็นพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ฟ้องร้องจับประชาชนเข้าคุก
ด้วยหลักการเช่นนี้จึงมี “ผู้ที่รักและหวังดี” กับพรรคประชาชนหลายคนออกมาทักท้วง และอธิบายหลักการ จุดยืนว่าเครื่องมือในการต่อสู้กับเฟกนิวส์คือเสรีภาพในการแสดงความคิด เสรีภาพในการพูด ไม่ใช่การฟ้องร้อง ดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็น เป๋า ไอลอว์ (ยิ่งชีพ อัชฌานนท์) เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
แต่น่าสนใจว่า พรรคประชาชนยังยืนยันว่าจะฟ้องอยู่ดี
น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ผู้สนับสนุนพรรคจำนวนหนึ่งที่แอ็กทีฟในโลกออนไลน์
(ซึ่งฉันมั่นใจว่าผู้สนับสนุนพรรคส้มส่วนใหญ่ในโลกออฟไลน์ ไม่ได้คิดแบบนั้น)
แสดงอาการโกรธเกรี้ยวต่อเป๋า ต่อเพนกวิน ไปจนถึงขั้นที่ว่า เป๋ารับเงินสนับสนุนกิจกรรมไอลอว์จากทักษิณ เพนกวินนั้นโดนด่าว่า “หางโผล่” หนักกว่านั้นคือ ทั้งเป๋าทั้งเพนกวินถูก “แขวน” ด้วยข้อหา “เห็นด้วยกับคำ ผกา”
บ้างก็บอกว่า ตนเป็นสมาชิกตลอดชีพของพรรคส้ม เป็นผู้บริจาคเงินให้พรรค เพราะฉะนั้น พรรคควรเลือกฟังคนที่ “ทุ่มเท” ให้กับพรรคมากกว่า
ซึ่งเป็นตรรกะที่แปลกประหลาด และชวนให้คิดว่า ทำไมพรรคการเมืองที่มีจุดยืน หลักการแบบ “ก้าวหน้า” กลับมีโหวตเตอร์ที่มีวิธีคิดแบบอนุรักษนิยมอำนาจนิยม เช่น นิยมการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง
ยึดถือในหลักความจงรักภักดีต่อกลุ่ม ต่อพรรคเหนือหลักการและเหตุผล
นิยม “เรื่องเล่า” ที่เน้นเมโลดราม่าโรแมนติกเชิดชูฮีโร่ วีรบุรุษในอุดมคติมากกว่า เรื่อง realistic เช่น พล็อตเรื่องตระบัดสัตย์ การ romanticized คุณค่าของการยืนหยัดทระนงองอาจ (วาทกรรมที่พรรคส้มใช้บ่อยในสปีช) ที่สำคัญมีลักษณะของการยึดติดกับลัทธิบูชาตัวบุคคลสูงมาก
ฉันเคยตั้งคำถามต่อพรรคส้มมาแล้วครั้งหนึ่งในตอนที่เกิดเรื่อง “มีกรณ์ไม่มีกู” ว่า พรรคจะปล่อยให้มวลชนเอาอารมณ์นำแบบนี้ไปตลอดหรือ?
และที่อันตรายมากๆ คือการที่พรรคส้มชูม็อตโตว่า “ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” ฟังดูดี ดูถูกต้อง ดูเท่ ดูประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่การที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ไม่ได้แปลว่าพรรคการเมืองจะต้องเคลื่อนตัวตามการ “ชี้นำ” ของประชาชน
ยิ่งไปกว่าพรรคการเมืองต้องมีความสามารถในการร่วมผลักดัน ชี้นำประชาชนไปในทางที่พรรคเห็นว่า “มีเหตุผลมากกว่า”
เพราะบ่อยครั้งที่การชี้นำโดยประชาชนหรือมวลชน อาจเป็นการนำที่เอาอารมณ์และความสะใจเป็นที่ตั้ง
ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้บอกว่าเสียงของประชาชนไร้ความหมาย
แต่พรรคการเมืองที่ดีต้องไม่ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของมวลชนตัวเองบนความเชื่อว่าประชาชนใหญ่กว่าพรรค
ลองจินตนาการว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลไปเชิญพรรคของกรณ์ จาติกวณิชย์ มาร่วมรัฐบาล แล้วเจอกับแคมเปญมีกรณ์ไม่มีกู แทนที่พรรคจะทำความเข้าใจกับมวลชนที่กำลังขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ด้วยการอธิบาย หลักการ เหตุผล (ถ้าไม่มีเหตุผลพรรคคงไม่ไปเชิญกรณ์มาตั้งแต่แรกใช่ไหม? (อย่าบอกว่าเป็นอารมณ์ชั่ววูบ) พรรคกลับเลือกที่จะกลับลำทำตามการกดดันของมวลชน
ซึ่งต้องหมายเหตุอีกว่าเป็นมวลชนในทวิตเตอร์ไม่กี่แสนคน ในขณะที่มีคนเลือกพรรคก้าวไกลถึงสิบสี่ล้านคน
สำหรับฉัน กรณี “มีกรณ์ไม่มีกู” ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าพรรคฟังเสียงของประชาชน
แต่กลับทำให้สงสัยว่าก่อนจะตัดสินใจทำอะไร พรรคนี้เขาคิดมาดีแล้วหรือ?
เขาตกผลึกมาจริงๆ แล้วใช่ไหม?
เพราะถ้าคิดมาดีแล้ว ตกผลึกมาแล้ว ย่อมไม่ไหวเอนตามกระแสในโซเชียลมีเดีย
และหากเรื่องแค่นี้ไหวเอนตามกระแสโซเชียลมีเดีย หากวันใดวันหนึ่งได้เป็นรัฐบาล จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างที่สำคัญมากๆ แล้วเจอกระแสติดแฮชแทกทักท้วงเข้าสักหน่อย จะไม่เป๋ไปเป๋มาชักเข้าชักออกหรือ?
แล้วรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละอย่างที่จะขับเคลื่อนในอนาคต อาจจะถูกใจโหวตเตอร์ของพรรคบางกลุ่ม ไม่ถูกใจโหวตเตอร์ของพรรคบางกลุ่ม แล้วพรรคจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องฟังเสียงใคร
เพราะฉะนั้น คำว่า “ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” จึงเป็นคำเลื่อนลอยตามแบบฉบับของพรรคส้มที่ชอบขายฝันโรแมนติกให้สาวกอีกนั่นแหละ
เพราะแค่คำว่าประชาชนก็มีปัญหาแล้วว่า “ประชาชน” ในที่นี้หมายถึงโหวตเตอร์พรรคส้มใช่หรือไม่?
เพราะหากไม่ใช่โหวตเตอร์พรรคส้ม ประชาชนเหล่านั้นจะไปใหญ่กว่าพรรคจนพรรคต้องฟังได้อย่างไร?
และสมมุติว่า ประชาชนในที่นี้หมายถึงโหวตเตอร์พรรคส้ม พรรครู้ได้อย่างไรว่า
สิบสี่ล้านเสียงที่โหวตให้พรรคส้มคิดเหมือนกันหมดทุกคน?
ตรงกันข้าม พรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยที่กล้าตัดสินใจในทางที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการทำให้โหวตเตอร์ไม่พอใจได้ เช่น การข้ามขั้วตั้งรัฐบาลในคราวที่ผ่านมา ฉันค่อนข้างมั่นใจว่า โหวตเตอร์ของพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยก็ช็อก และอาจถึงขั้นรับไม่ได้ หลายคนถึงกับสาปส่งพรรค
แต่เมื่อพรรคเห็นว่าการตัดสินใจนี้ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วอย่างรอบคอบ ไม่มีอะไรผิดหลักการประชาธิปไตย “ถูกต้องแต่อาจจะไม่ถูกใจ” โหวตเตอร์บางกลุ่ม พรรคก็ต้องรับผลแห่งการตัดสินใจนั้น
แต่จะไม่กลับลำ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และยืนยันที่จะอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น
แน่นอนว่าในช่วงแรกมีโหวตเเตอร์ที่อาจจะไม่ถึงกับสาปส่ง แต่ก็เฝ้าดูว่า เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นลูกไล่พลังประชารัฐไหม จะได้โควต้ากระทรวงสำคัญๆ มาคุมเองไหม จะเห็นหัวประชาชนตามที่หาเสียงเอาไว้หรือไม่?
สี่เดือนแรกของการเป็นรัฐบาลของเพื่อไทยจึงเป็นสี่เดือนแห่งการเจอกับมรสุม “ตระบัดสัตย์” จากทั่วทุกสารทิศ
และฉันยังจำได้ว่า เพื่อนฝูงที่รู้จักกันหลายคนได้โชว์ใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทางโซเชียลมีเดียกันรัวๆ เพื่อโชว์ “กระดูกสันหลัง” ของตัวเอง
พรรคยังเผชิญกับการที่มีคนเอารูปใบหน้าหมอชลน่าน ศรีแก้ว ไปเหยียบเชิงสัญลักษณ์ สถานการณ์เช่นนี้ชวนให้หวั่นไหวมาก
แต่พรรคก็ไม่เขวตามมวลชน ออกมายืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาการรวมเสียงข้างมากเช่นนี้ไม่ผิดหลักการ และหลังการเลือกตั้งปี 2566 ถือว่าทุกพรรคการเมืองได้ “ยอม” ลงสู่สนามเลือกตั้งอย่างเสมอหน้ากัน ภายใต้กติกาเดียวกัน
และหากจะมีนายกฯ ที่เป็นแคนดิเดตของพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในบรรดาพรรคร่วม ทำไมเราจะตั้งรัฐบาลแบบนี้ไม่ได้
พรรคตระบัดสัตย์? ตอบได้ง่ายมากๆ ว่า หากมีเรื่องที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงสิบข้อ การผิดสัญญาหนึ่งหรือสองข้อ เป็นเรื่องปกติของการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ได้ครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ย่อมมีบางเรื่องบางอย่างที่ทำตามสัญญาไม่ได้ นี่เรื่องปกติมากๆ
ในที่สุดหลังจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ก้มหน้าก้มตาอุทิศตนทำงานอย่างหนัก
ท้ายที่สุดโหวตเตอร์เพื่อไทยที่ไม่เข้าใจการตัดสินใจแบบนี้ในช่วงแรกก็เริ่มเข้าใจว่า “เออ ดีแฮะที่เราไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลหลุดมือไป”
หรือ “เออ ดีแฮะ พอเป็นรัฐบาลแล้วก็ได้ทำงานตอบโจทย์ประชาชนได้ ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน”
หรือ “เออ แฮะ บรรยากาศของการทำงานระหว่างพรรคการเมืองที่ต่างก็มาจากการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดมันก็ต้องเดินตามกติกา มารยาทของการเมืองระบอบประชาธิปไตย”
ในที่สุดเราก็ตระหนักว่า ตู่ก็ไม่มี ป้อมก็ไม่อยู่ แม้จะมีการแผลงฤทธิ์มาอีกดอกหนึ่งในการปลดเศรษฐา แต่ฝ่ายการเมืองก็ยันเอาไว้ได้ด้วยการส่งแคนดิเดตอีกคนของพรรคเป็นนายกฯ ทันทีคือ แพทองธาร ชินวัตร และรัฐบาลก็บริหารประเทศต่อไปได้
น้ำท่วมก็รับมือได้ดี ประชาชนพอใจ
เงินหมื่นก็สู้จนเอามาช่วยประตุ้นเศรษฐกิจผ่านคนกลุ่มเปราะบางได้
การลงทุนใหญ่ๆ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ของกูเกิลที่นายกฯ เศรษฐาไปดีลมา นายกฯ แพทองธารก็สานต่อจนสำเร็จ
และเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะทุลักทุเล สำเร็จบ้าง ยักแย่ยักยันบ้าง และฉันจะไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกใครว่ารัฐบาลนี้ดี เก่ง
แต่ในข้อจำกัดทุกอย่าง ก็ผลักดันเรื่องที่สำคัญมากๆ อย่างสมรสเท่าเทียม และการให้สัญชาติแก่ผู้ไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยมายาวนานเกินสิบห้าปี จน UNHCR ออกมายกย่องว่านี่เป็นการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติในจำนวนที่มากที่สุดในโลก
และในที่สุดโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยที่ขมวดคิ้วในตอนแรกที่การข้ามขั้วตั้งรัฐบาลก็เข้าใจและเรียนรู้ว่า เมื่อพรรคที่เราเชียร์ไม่สามารถชนะแลนด์สไลด์ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การดันทุรังหยัดยืนไม่ค้อมหัวให้ใครนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย
การเป็นแกนนำในรัฐบาลผสมพร้อมๆ กับการประคองการเมืองที่อิงอยู่กับการเลือกตั้งจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
นี่คือการ “ฝืนกระแสมวลชน” จนนำไปสู่การเรียนรู้ และการเติบโตทางความคิดไปพร้อมๆ กัน
นี่คือการยืนยันว่าในหลายกรณีพรรคการเมืองต้องสามารถเป็น “หลัก” ให้มวลชนยึด ไม่ใช่เป๋ไปเป๋มาตามอารมณ์ตามกระแสสังคม หรือแม้กระทั่งเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว
ในหลายโครงการหลายนโยบายที่รัฐบาลมั่นใจว่าศึกษามาดีแล้วแต่อาจเป็นนโยบายที่มาก่อนกาล ตอนเริ่มทำ สังคมอาจต่อต้าน ไม่เข้าใจ ด่าทอ แต่ถ้ามันดีจริงก็ต้องทำ ไม่ใช่กลัวประชาชนด่าจนไม่เป็นอันทำอะไร
ยกตัวอย่างเช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค ตอนแรกที่ทำคนก็ด่า กองทุนหมู่บ้านคนก็ด่า บัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดคนก็ด่า (ฉันในวันนั้นยังด่าเลย เพราะไม่เข้าใจ)
พอมาถึงวันนี้ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยรักไทย ตอนนั้นที่ตัดสินใจทำ
เขียนมายาวขนาดนี้เพื่อจะบอกว่า “ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” เป็นเรื่องอันตราย เพราะในความเป็นจริง โหวตเตอร์กับพรรคควรมี mutual respect ให้เกียรติกันและกัน เราเป็นโหวตเตอร์ เลือกเขาเข้าไปทำงานแล้วก็ไม่ต้องไปล้วงลูกทุกเรื่อง ถ้าไม่ชอบ อีกสี่ปีก็เลือกใหม่
เรื่องนี้พรรคประชาชนที่ดูเหมือนจะเป็นการเมืองใหม่ การเมืองคนรุ่นใหม่กลับดูกลวงๆ เล่นกับกระแสไปวันต่อไปโดยไม่คิดถึงความยั่งยืนของพรรคในฐานะสถาบันทางการเมืองเลย
และน่าแปลกใจที่กรณีการฟ้องร้องประชาชน
พรรคกลับเลือกที่ไม่ฟังการทักท้วงของผู้สนับสนุนพรรคที่ทักท้วงบนหลักการและความปรารถนาดี แต่กลับเลือกทำตามกระแสของโหวตเตอร์ที่ใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผล
ฉันบอกได้แค่ว่า สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อพรรคในระยะยาว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022